100 วันของท่านประธานาธิบดีมุนแชอิน

หลังจากที่นายมุนแชอินได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในการบริหารบ้านเมืองของท่าน นับแต่วันแรก ท่านก็เปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดพิธีรับตำแหน่ง โดยขอให้เรียบง่ายที่สุด คือ จัดเป็นพิธีสาบานตนสั้นๆ ในช่วงเช้าของวันที่ 10 พฤษภาคม เพราะท่านเห็นว่า มีภารกิจหลายอย่างที่รอท่านให้เข้ามาแก้ไข ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านได้ย้อนกลับไปดูวิดีโอในเว็บไซต์ยูทูบ ก็จะเห็นว่า ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าแต่ละท่านมักจะประกอบพิธีสถาปนาที่ระดมคนจำนวนมากมาย ต้องมีการแสดงระบำรำฟ้อน และวงดุริยางค์ทหารขนาดใหญ่มาร่วมบรรเลง แต่ท่านประธานาธิบดีให้ยกเลิกกิจกรรมเหล่านี้เสีย นี่คือความเปลี่ยนแปลงแรกที่ท่านได้กระทำให้เห็นในฐานะองค์ประมุขแห่งสาธารณรัฐ และสัปดาห์นี้ก็ครบรอบ 100 วันการบริหารงานของท่านพอดี!

นับตั้งแต่วันที่ท่านรับตำแหน่ง ท่านประธานาธิบดีได้ประกาศเดินหน้านโยบายสำคัญหลายประการ อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกลุ่มทุนใหญ่ (Chaebol) และการยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือชังโจคย็องเจ (창조경제) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้ต้องออกมาขับไล่ประธานาธิบดีทรราชปาร์ค กึน เฮ ออกจากตำแหน่งดังที่หลายท่านได้ประจักษ์แล้ว การประกาศว่ารัฐบาลจะเพิ่มอัตรากำลังพนักงานรัฐการมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานที่สั่งสมมายาวนาน การยกเลิกการใช้ซอฟต์แวร์ ActiveX เพื่อป้องกันการสอดส่องของฝ่ายรัฐที่มักจะเข้าไปเก็บข้อมูลและละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต การส่งทูตพิเศษไปร่วมประชุมหารือกับประเทศหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา (ผู้เป็นทูตพิเศษคือ เอกอัครราชทูตช็อง แฮ มุน อดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย) จีน (ผู้เป็นทูตพิเศษคือ เอกอัครราชทูตชิน พงกิล อดีตเลขาธิการสำนักงานไตรภาคี จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยย็อนเซ) และที่สำคัญที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนคือ การส่งทูตพิเศษ (นายกเทศมนตรีกรุงโซล ปัก ว็อน ซุน) มาหารือกับ 3 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม (ไม่มีไทย)

นอกจากนี้ ตัวท่านเองยังได้ต่อสายโดยตรงกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นด้วย โดยเนื้อหาหลักคือ ท่านแสดงตัวว่าพร้อมจะเป็นผู้เจรจาและประสานงานในประเด็นปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันระดับภูมิภาค นิตยสารไทม์ (Time) ได้ให้เกียรติจัดพิมพ์ภาพของท่านที่หน้าปกและยกย่องให้เป็น “The Negotiator” และได้เดินทางเยือนสหรัฐเพื่อหารือกับนายทรัมป์อย่างเป็นทางการ มีอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งพูดกันในสื่อโซเชียลของเกาหลีใต้คือ เวลานายทรัมป์จับมือกับผู้นำประเทศนั้น บางครั้งก็จะทำให้ผู้นำประเทศเสียหน้า เช่น จับแล้วปล่อยมือทิ้ง หรือยื่นมือมาแล้วไม่จับ ท่านประธานาธิบดีเรียกประชุมคณะทำงาน และมีผู้เสนอว่า พอท่านจับมือแล้วก็ให้ท่านจับแขนทรัมป์ไว้เลย ซึ่งสื่อฝ่ายก้าวหน้าก็จะยกย่องว่าสามารถแก้ปัญหาได้ดีเยี่ยม อย่างน้อยที่สุดคือ เพื่อภาพลักษณ์ของประเทศ ส่วนสื่อฝ่ายอนุรักษนิยมก็เห็นว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญเท่าเนื้อหาการเจรจา

ที่มาของภาพ: Time

หนังสือพิมพ์ชุงอังรายวัน (JoogAng Ilbo) สำรวจความเห็นประชาชนต่อการทำงานของท่านประธานาธิบดี 83.9% ในโอกาสทำงานครบรอบ 100 วัน ระบุว่า ท่านประธานาธิบดี “ทำได้ดีแล้ว” (잘한다) สมควรกล่าวด้วยว่า ชุงอังรายวันเป็นหนังสือพิมพ์ในค่ายอนุรักษนิยม “โช-ชุง-ทง” ที่มีประวัติโจมตีการทำงานประธานาธิบดีจากฝ่ายก้าวหน้ามาโดยตลอด แต่ท่าทีเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่รัฐสภามีมติถอดถอนอดีตประธานาธิบดีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยหันมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของประชาชนในชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงมากขึ้น และลดการวิจารณ์รัฐบาลนี้ลง ซึ่งแตกต่างจากอีก 2 สำนักที่เหลือคือ โชซ็อนรายวัน (Chosun Ilbo) และทงอารายวัน (Dong-A Ilbo) ที่ยังคงโจมตีการทำงานของท่านประธานาธิบดีและรัฐบาลอย่างไม่หยุดหย่อน

Advertisement

ผลจากการสำรวจระบุว่า ประชาชนพอใจการทำงานของรัฐบาลท่านใน 4 เรื่องหลัก คือ จัดการปัญหาว่างงาน (일자리) การกระตุ้นเศรษฐกิจ (경제활성화) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ/สถาบันการเมือง (권력기관 개혁) และการเสริมสร้างความมั่นคง (안보 개선) ในส่วนเฉพาะส่วนการเสริมสร้างความมั่นคงนั้น หลายท่านคงทราบว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความตึงเครียดจากการเล่นสงครามน้ำลายของนายทรัมป์กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และก็เป็นที่น่าลุ้นกันมากว่า จะเกิดสงครามนิวเคลียร์หรือสงครามเกาหลีครั้งที่ 2 หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ในประเด็นนี้ คุณจิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา ผู้ศึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า การดำเนินการของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะตามทฤษฎี “ป้องปราม” (Deterrence) ที่ผู้เล่นมักจะแสดงออกอย่างมีเหตุผล คิดถึง “ความคุ้มค่า” เสมอ พฤติกรรมของเกาหลีเหนือแม้จะดูเหมือนไม่มีเหตุผล แต่กลับเป็นเหตุเป็นผลมาก เพราะทำให้ผู้เล่นอื่นๆ ต้องคิดทบทวนว่าจะเล่นหรือไม่เล่น ถ้าเล่น จะเล่นอย่างไร แนวทางของเกาหลีเหนือยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่า “บ้า” ได้เสียด้วยซ้ำ การมีนิวเคลียร์ในมือของเกาหลีเหนือจึงเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ระบอบคิม ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติที่สำคัญที่สุดของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ดี มีผู้สงสัยมากมายว่า ในสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ เกาหลีใต้หายไปไหน? มีจุดยืนอย่างไรในกรณีนี้? ดังที่ผู้เขียนเคยอธิบายไปแล้วในบทความสองโคริยาประชาธิปไตยว่า สังคมเกาหลีนั้นไม่ได้มีแต่ความขัดแย้งเหนือ-ใต้ แต่มีความขัดแย้งใต้-ใต้ที่เรียกว่า นัมนัมคัลดึง (남남 갈등) ด้วย ความขัดแย้งใต้-ใต้นี้ส่งผลไปทั่วทุกภาคส่วนของสังคมทั้งนักการเมือง สื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา แรงงาน กองทัพ ฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่า ระบอบเกาหลีเหนือก็คงจะล่มสลายในไม่ช้า ดังนั้นต้องใช้นโยบายคว่ำบาตรเพื่อตัดกำลัง ส่วนฝ่ายก้าวหน้าก็เห็นว่า ระบอบเกาหลีเหนืออาจไม่ล่มสลายได้ง่าย วิธีที่ดีกว่าคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการพัวพัน (engagement) จะเป็นทางออกของวิกฤต อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการเกาหลีใต้อธิบายเพิ่มเติมว่า มุมมองที่แตกต่างของทั้งสองฝ่ายนี้มาจากความเข้าใจภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่า เกาหลีเหนือเป็นอาณานิคมของจีน อยู่ภายใต้อิทธิพลจีน ดังนั้น จึงเป็น “ประเทศอื่น” และเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด ส่วนฝ่ายก้าวหน้าเห็นว่า เกาหลีเหนือก็เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเกาหลีใต้ตามประวัติศาสตร์และตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพัวพันกับเกาหลีเหนือจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องกระจายและจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง ซึ่งน่าสนใจว่า ผลสำรวจของชุงอังรายวันชี้ว่า คนเกาหลีใต้เห็นชอบการดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือแบบไม่สุดโต่ง ไม่ได้เน้นว่าจะต้องคว่ำบาตรหรือเน้นการพัวพันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ขอให้พิจารณาตามเงื่อนไข บริบท และสถานการณ์

จากรอยร้าวในสังคมที่กล่าวไปนี้ ท่านประธานาธิบดีได้ประกาศชัดเจนว่า ท่านจะเน้นการ “บูรณาการ” (통합) พยายามสลายขั้วซ้าย-ขวา อนุรักษนิยม-ก้าวหน้าในการเมือง ท่านประธานาธิบดีทำหลายฝ่ายประหลาดใจตั้งแต่การแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม การระดมอดีตคนทำงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าไว้ใน “มุนแชอินแคมป์” ตั้งแต่ช่วงหาเสียง และการทบทวนนโยบายติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล หรือ THAAD ที่น่าสนใจมากคือ ท่านอาศัยท่าทีแข็งกร้าวของเกาหลีเหนือในการใช้เป็นข้ออ้างเร่งรัดการติดตั้ง THAAD ซึ่งท่านเองก็รู้อยู่ในใจว่า 1) เกาหลีใต้ไม่มีศักยภาพด้านการป้องกันประเทศเพียงพอ ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริม 2) การส่งเสริมการติดตั้ง THAAD อาจทำให้ฝ่ายก้าวหน้าไม่พอใจและออกมาเคลื่อนไหวได้

Advertisement

หนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษนิยมโจมตีว่า พวกฝ่ายก้าวหน้าที่ไปจุดเทียนเป่านกหวีดที่เคยต่อต้านเรื่องนี้หายไปไหนหมด หรือว่าไม่สนใจการเมืองแล้วหันกลับไปเล่นโยคะ ดำน้ำ ดูปะการัง (เพื่อนของผู้เขียนที่เป็นกลุ่มปักซาโมหรือผู้ที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีก็เคยถามผู้เขียนในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่องเช่นกันว่า ไม่ออกมาต่อต้านแล้วหรือ ผู้เขียนจึงตอบไปว่า อ่อ พอดีนกหวีดมันติดคอ คนเขา “อยู่เป็น” นะ เข้าใจไหม และพวกเราก็เป็น “คนดี” ด้วย) ซึ่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งได้ยื่นขออนุญาตศาลกรุงโซลในการจัดชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ บริเวณจัตุรัสควังฮวามุน ปรากฏว่า ศาลไม่อนุญาตเนื่องจากการชุมนุมจะเป็นการคุกคามภารกิจทางการทูตของรัฐอื่นและเป็นการละเมิดอนุสัญญาเวียนนาได้ การยื่นขอชุมนุมครั้งนี้มีผู้คัดค้านพอสมควรว่า กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่พิจารณาสถานการณ์ตามความเป็นจริงว่า เกาหลีใต้จำเป็นต้องพึ่งสหรัฐในการป้องกันประเทศ ขณะเดียวกัน จุดประสงค์แท้จริงของคนกลุ่มนี้อาจเป็นไปเพื่อต่อต้านสหรัฐมากกว่าการต่อต้านขีปนาวุธ สุดท้าย ท่านประธานาธิบดีก็สามารถนำ THAAD เข้ามาติดตั้งเพิ่มขึ้นได้อย่าง “แนบเนียน” ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวก็ไม่มีพลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ในส่วนของความสัมพันธ์กับจีน หลายท่านอาจเคยได้ยินว่า จีนเคยคว่ำบาตรสินค้าวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้มาแล้ว วิธีของท่านประธานาธิบดีคือ ยื่นข้อเสนอไปที่สี จิ้นผิง ว่าจะให้เกาหลีใต้เป็นตัวประสานจัดประชุมสุดยอดสองฝ่ายเพื่อหาทางออกกรณีเกาหลีเหนือ พร้อมกับเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสังเกตการณ์การติดตั้ง THAAD เพื่อไม่ให้จีนรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม สีปฏิเสธ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่กล่าวถึงเรื่อง THAAD อีก มีนักวิชาการเกาหลีใต้บางท่านเห็นว่า จีนแค่ต้องการทดสอบความเห็นของมวลชนในเกาหลีใต้มากกว่า เพราะแท้จริง THAAD อาจไม่ได้เป็นภัยคุกคามจีนเท่ากับเกาหลีเหนือในห้วงเวลานี้ ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่าสงครามไม่เกิดแน่นอน แต่ก็จะปล่อยให้นายทรัมป์เล่นต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแหย่นายคิม จอง อึนให้ประสาทเสียได้อยู่พักหนึ่ง พร้อมกับการตรวจสอบท่าทีของฝ่ายเกาหลีเหนือไปด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันปลดปล่อยสาธารณรัฐออกจากอาณานิคมญี่ปุ่น ท่านประธานาธิบดีย้ำชัดเจนว่า ท่านจะไม่ยินยอมให้มีสงครามทุกรูปแบบเกิดขึ้นบนคาบสมุทร และคนที่จะตัดสินใจให้มีสงครามบนคาบสมุทรจะมีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้น ท่านประธานาธิบดีจัดพบปะสื่อมวลชนในโอกาสที่ท่านบริหารประเทศมาได้ 100 วัน สื่อมวลชนแทบทุกแขนง (Yonhap News, YTN, CNN ฯลฯ) ย้ำประเด็นเกาหลีเหนือว่า เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ และสังคมโลกก็กำลังจับจ้องอยู่ ตัวท่านเองมีจุดยืนอย่างไร ท่านก็ตอบชัดเจนอีกว่า จะไม่มีการโจมตีทุกรูปแบบเกิดขึ้นบนคาบสมุทรนี้ ส่วนจะมีการพัวพันอย่างไร ด้วยความช่วยเหลือรูปแบบไหน ขอให้เป็นไปตามสถานการณ์ ตามความเห็นของประชาชนผู้เป็น “เจ้าของ” ประเทศ ผู้เขียนเห็นว่า ท่านประธานาธิบดีคือ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ตึงเครียดนี้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะได้ทั้งความนิยมเพิ่มขึ้น ได้ทั้งการติดตั้ง THAAD ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ อีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยป้องกันประเทศ พร้อมกับได้ตรวจสอบท่าทีของเกาหลีเหนือ และส่งสัญญาณซึ่งเป็นมิตรอย่างมากไปที่เกาหลีเหนือด้วยว่า มีเพียงสันติวิธีเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของประเด็นคาบสมุทรเกาหลี (แม้สุดท้าย อาจจะร่วมกับสหรัฐล้มล้างระบอบการปกครองของคิม จอง อึน ก็ตาม)

หลังจากการพบปะสื่อมวลชนแล้ว หากท่านค้น search engine สำคัญของเกาหลีใต้ เช่น Daum หรือ Naver ในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่านจะพบว่า คำที่ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง (หรืออาจจะสลับขึ้นลงบ้าง) คือ “โคมาวอโย มุนแชอิน” (ขอบคุณนะ มุนแชอิน) เป็นการแสดงปฏิกิริยาของชาวเน็ตเกาหลีใต้ที่ชื่นชมท่านอย่างมาก ในฐานะนักเรียนคนหนึ่งที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับคนประเทศนี้มาโดยตลอด แม้สื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างโชซ็อนรายวันและทงอารายวันจะพยายามสรรหาประเด็นมาโจมตีท่านและพรรคการเมืองของท่านมาโดยตลอด เช่น การวิพากษ์วิจารณ์กรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหญิงคนแรก นางคัง คย็อง-ฮวา (Kang Kyung-wha) ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานประสานงานมนุษยธรรมสหประชาชาติ (OCHA) มาก่อน ท่านรัฐมนตรีคังมีข้อจำกัดอยู่ที่ท่านไม่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ปกติเนื่องจากอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน และท่านมีความมั่นใจที่จะพูดภาษาอังกฤษมากกว่า

ขณะที่นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมโดยเฉพาะพวกปักซาโมได้ประสานงานกับนักการทูตบางคนในกระทรวงต่างประเทศไปค้นหาข้อมูลมาโจมตีท่านประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ ระบุที่อยู่ผิด ยอมให้ลูกถือสองสัญชาติ เลี่ยงภาษี โอนการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้สามีก่อนดำรงตำแหน่ง และคัดลอกวิทยานิพนธ์เมื่อครั้งศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิสท์ ซึ่งท่านรัฐมนตรียอมรับเพียง 2 ประเด็น คือ การระบุที่อยู่ผิด และการยินยอมให้ลูกถือสองสัญชาติ อย่างไรก็ดี การโจมตีดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบคุณสมบัติตามกระบวนการด้วยระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง (ที่ประเทศไทยก็อาจนำไปใช้ได้) ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงก็ได้รับการพิสูจน์ว่า ข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริง แต่เพราะประเด็นการเมืองและความแบ่งแยกด้านอุดมการณ์ ที่สำคัญ ท่านรัฐมนตรีได้แสดงความสามารถให้สังคมเห็นจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่า ในภาพรวมแล้ว ท่านประธานาธิบดีสอบผ่านด้วยคะแนนระดับดี ในการลงหลักปักฐานการปฏิรูปประเทศ และการแก้ไขปัญหาค้างคาที่แม้จะเพิ่งผ่านช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนในการถอดถอนอดีตประธานาธิบดี ลำพังการตั้งคณะกรรมการหรือการกำหนดประเด็นและวาระการปฏิรูป บางประเทศอาจใช้เวลามากกว่า 3 ปี แต่ประเทศนี้ใช้เวลาแค่ 3 เดือนก็สามารถคลี่คลายปมปัญหาและถอดสลักระเบิดเวลาของประเทศออกไปได้ด้วยผู้นำที่มีความตั้งใจจริง ที่สำคัญคือ ท่านรู้ว่า ท่านไม่รู้อะไร เมื่อท่านไม่รู้อะไรก็จะไม่ดันทุรังยืนยันความเขลาเบาปัญญาของตัวเอง ให้ผู้เชี่ยวชาญได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ พร้อมรับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนเสียมากกว่าจะใช้อำนาจเต็มที่มีอยู่ในฐานะประธานาธิบดีไปชี้บ่งบงการ สมควรกล่าวด้วยว่า ไม่ได้แปลว่า ประชาชนเกาหลีใต้จะ “ไว้ใจ” หรือศรัทธานักการเมืองจนเห็นดีเห็นงามไปเสียทุกเรื่อง ดังจะเห็นได้จากชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงครั้งประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนไม่น้อยพร้อมใจกันออกมาเพื่อแสดงพลังและความปรารถนาที่จะเห็นบ้านเมืองนี้ดีขึ้นตามระบบระเบียบและครรลองของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แน่นอน 3 เดือนเป็นเวลาที่สั้นเกินกว่าจะสรุปว่า ท่านประธานาธิบดีเป็นรัฐบุรุษหรือประธานาธิบดีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐ แต่ที่เพื่อนๆ ชาวเกาหลีใต้รู้แน่ๆ อยู่ในใจคือ ประธานาธิบดีคนนี้ดีกว่าคนก่อนๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ไปรษณีย์กลางของเกาหลีใต้เปิดจองดวงตราไปรษณียากรชุดสาธารณรัฐของท่านประธานาธิบดีมุนตามภาพด้านล่าง ปรากฏว่า จำหน่ายหมดภายในวันเดียวจนกลายเป็นข่าว ทั้งนี้ คะแนนเสียงท่วมท้นนี้ไม่ได้แปลว่า ประธานาธิบดีจะทำอะไรก็ได้หรือจะบริหารประเทศแบบสุ่มๆ ขอไปทีเหมือนที่คนก่อนทำไว้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น ผู้เขียนมั่นใจว่า จะเกิดชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงขึ้นอีกครั้งแน่นอน เพราะนอกจากจะต้องบริหารระบบอันใหญ่โตแล้ว ก็ต้องบริหารความคาดหวังและความพึงใจของประชาชนด้วย ยิ่งคนประเทศนี้ขึ้นชื่อว่าวูบวาบเช่นเดียวกับฝาหม้อรามย็อนที่กำลังเดือด ที่ภาษาเกาหลีเรียกว่า “แน็มบี คึนซ็อง” (냄비 근성) อีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image