คสช.’ขาดคน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ 

แฟ้มภาพ

เป็นอีกครั้งที่ได้ยินเรื่องรัฐบาล “ขาดคน”

ครั้งหนึ่งที่ได้ยินคือ ตอนที่มีข่าวสะพัดว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี

ครั้งนั้นมีเหตุผลในการไม่ยอมปรับคณะรัฐมนตรีหลายข้อ

แต่ข้อหนึ่งที่มีมาคือ “ขาดคน”

Advertisement

ขาดคน ไม่ได้หมายถึงไม่มีใครมาเป็น

ขาดคน น่าจะหมายถึงคนที่เหมาะสมจะเป็นแต่ไม่ยอมเป็น

มาครั้งนี้หลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป เรื่อง “ขาดคน” ก็สะพัดเป็นข่าวอีก

Advertisement

มีข่าวว่าทีมงานได้ติดต่อผู้เหมาะสมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปไปหลายคน

แต่เขาปฏิเสธ !

คนที่ขอให้มาช่วย บอกปัด ขอแค่เป็นที่ปรึกษาให้เท่านั้น

สุดท้ายจึงได้คนหน้าเก่าเข้ามาทำงาน

เมื่อคนทำคือคนหน้าเดิม ไอเดียที่คิดก็หนีไม่พ้นของเดิม

ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมการปฏิรูปจึงย่ำอยู่กับที่

วันนี้ถ้าอยากให้การปฏิรูปคืบหน้า ต้องขยายโอกาสให้ “คนอื่น” เข้ามา ทำงานบ้าง 

การจะดึงให้ “คนอื่น” เข้ามาร่วม ต้องยืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นคือการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย

ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่แสดงถึงความอาฆาต มุ่งทำลายต้องหยุดให้ได้

หยุดแบ่งข้าง หยุดแบ่งฝักฝ่าย

หยุดห้ำหั่น หยุดการฆ่าฟัน

ถ้ายังไม่หยุดทำลาย คนที่จะมาช่วยสร้างสรรค์ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ

สังเกตไหมว่า คนที่เข้ามาช่วย คสช.น้อยลงจากเมื่อครั้งหลังการรัฐประหาร

เมื่อ 3 ปีก่อนมีแต่คนบอกให้ช่วยลุงตู่

พอเวลาล่วงเลยมา 3 ปี คสช.และรัฐบาลเริ่มบ่นว่า “ขาดคน”

ยามนี้ คสช.และรัฐบาล จำเป็นต้องหาคนหน้าใหม่เข้ามา

เพราะนโยบายของประเทศ คสช.ก็กำหนดไว้แล้ว แนวทางของประเทศก็ถูกกำหนดด้วยกฎหมาย

แต่การขับเคลื่อนประเทศต้องใช้คนมากกว่านี้ ต้องเกิดการมีส่วนร่วมมากกว่านี้

วันนั้น คสช.อาจกีดกันนักการเมือง แต่วันนี้ ทั้งนักการเมือง นักบริหาร นักวิชาการ นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ต้องได้โอกาส

ต้องได้โอกาสเข้ามาร่วมในการปฏิบัติ

ดังนั้น คสช.ต้องเป็นกลาง และมีแนวทางดึงดูดให้คนเข้ามาร่วมเยอะๆ

เพราะการผลักดันให้การปฏิรูปเป็นรูปธรรม ต้องใช้คนที่มีความสามารถมากๆ

แต่ตอนนี้ คสช.และรัฐบาลบอกว่า “ขาดคน”

พอ “ขาดคน” ก็หวั่นใจว่างานปฏิรูปจะย่ำอยู่กับที่เดิมอีก 5 ปี ตามวาระของคณะกรรมการปฏิรูป

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้คนในประเทศมีส่วนผลักดันให้การปฏิรูปเกิดมรรคเกิดผล

ทำอย่างไรให้แต่ละภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม

วิธีหนึ่งที่แนะนำคือ เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

แล้วเชิญชวนจูงใจให้ผู้มีความสามารถ คนที่เป็นอนาคตของชาติเข้ามาทำงาน

เข้ามาทำงานเพื่อประเทศ ไม่ใช่เข้ามาทำงานให้ คสช.

ทำเช่นนี้ได้ อาจช่วยให้ปัญหา “ขาดคน” บรรเทาลง

และเมื่อใดที่มี “คนหน้าใหม่” เข้ามา แล้วสามารถทำงานเข้ากับ “คนหน้าเดิม” ได้

โอกาสที่การปฏิรูปจะกลายเป็นรูปธรรมก็พอเห็น

โอกาสที่ความฝันจะเป็นจริงได้ก็ยังพอมีลุ้น

แต่ถ้ายังปล่อยให้คณะกรรมการปฏิรูปอุดมไปด้วยคนหน้าเดิม

โปรดเหลียวไปดู 3 ปีที่ผ่านมา แล้วก็จะได้คำตอบว่าอีก 5 ปี ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

……………….

นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image