ความสูงส่งของคนผิวขาวในอเมริกา : โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ความสูงส่งของคนผิวขาวในอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมที่มองดูอย่างผิวเผินแล้วเป็นสังคมที่น่าอยู่ น่าอภิรมย์ เพราะผู้คนมีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี มีมาตรฐานสูงกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผู้คนในทวีปเอเชีย แอฟริกา หรือทวีปอเมริกาใต้

แต่ถ้ามองลึกลงไป ในสังคมอเมริกานั้นเป็นสังคมที่มีความตึงเครียดสูง มีความแตกต่างในด้านต่างๆ สูง และไม่มีทางที่จะกลมกลืนให้ผู้คนถูกหล่อหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ หรือแม้แต่จะทำให้ความแตกต่างความแตกแยกลดน้อยลงได้เลย ผู้คนแตกแยกกันด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ ศาสนา สีผิว ถิ่นที่อยู่ การศึกษา เป็นต้น

เป็นธรรมดาที่การขีดแบ่งพรมแดนของประเทศต่างๆ มักจะแบ่งกันด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือเส้นแบ่งพรมแดนที่เป็นสภาพภูมิศาสตร์ เช่น แม่น้ำ เทือกเขา หรือบางทีก็เกิดจากการชนะสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนของเจ้าผู้ครองอำนาจ ด้วยความเกรียงไกรของกองทัพ

Advertisement

สมัยหนึ่งเคยมีกฎหมายในยุโรปที่ราษฎรต้องนับถือศาสนาเดียวกับเจ้าผู้ครองนคร ถ้าผู้ใดไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนามาถือศาสนาหรือนิกายศาสนาที่เจ้าผู้ครองนครนับถือ ก็ควรอพยพไปอยู่ในดินแดนที่มีเจ้าผู้ครองนครนับถือศาสนาหรือนิกายศาสนาเดียวกับตน ความแตกแยกดังกล่าวเกิดจากความแตกต่างของผู้ปกครองแคว้นหรือผู้ปกครองรัฐ

การแบ่งเขตแดนของรัฐจึงมิได้แบ่งตามเชื้อชาติ ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ รัฐหรือประเทศหนึ่งๆ จึงมักจะปกครองด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายเผ่าพันธุ์ หลายศาสนา หลายสีผิว แต่ก็สามารถอยู่รวมกันได้ จะด้วยอำนาจบังคับของผู้ปกครองหรือของรัฐ หรือด้วยความยินยอมพร้อมใจกันมาทำสัญญาประชาคม มาอยู่ในสังคมในรัฐหรือในประเทศเดียวกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพในความแตกต่างของกลุ่มผู้คน ทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ถึงกับบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญรับรองความเท่าเทียมกันของประชาชนที่มีความแตกต่างดังกล่าว

ในบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้เอง การดูถูกเหยียดหยามระหว่างเชื้อชาติก็มีให้เห็น เช่น คนภาคกลางก็มักจะดูถูกคนภาคอีสานและภาคเหนือว่าเป็น “ลาว” ตามภาษาพูด หรือดูถูกคนจีนและลูกจีนที่เกิดในประเทศไทยว่าเป็น “เจ๊ก” คนในภาคเหนือก็ดูถูกชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือ เช่น เรียกกะเหรี่ยงว่า “ยาง” คนอีสานดูถูกคนเวียดนามที่อพยพลี้ภัยสงครามกับฝรั่งเศส มาอยู่ใน 5 จังหวัดในภาคอีสานว่าเป็น “แกว” ดูถูกคนใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามว่าเป็นแขก ส่วนพวกไทยพุทธก็ถูกเรียกว่าพวก “ตั้มปรือ” แล้วคนไทยเชื้อสายจีนก็ดูถูกคนอีสานและเรียกคนอีสานว่า “เหลาเกี้ย” แปลว่า “ลูกลาว” คนอีสานได้ยินก็โกรธ

Advertisement

ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็มีการดูถูกกันเองระหว่างชาวมาเลเซียที่เป็นชาวมาเลเซียกับชาวจีน แม้จะอยู่ด้วยกันมากว่า 2 ศตวรรษแล้วก็ตาม เพื่อนๆ ชาวปากีสถานก็มักจะล้อเลียนชาวฮินดูในอินเดีย เพราะราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอินเดียก่อนแยกกันเป็นอินเดียกับปากีสถาน ก็คือราชวงศ์โมกุลซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม สังคมเกือบทุกแห่งจึงเป็นสังคมที่ประชากรมีความแตกต่างกันทั้งนั้น ทั้งในด้านสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษาพูด ประวัติศาสตร์ความเป็นมา แต่ที่อยู่กันได้เพราะเราเก็บซ่อนความแตกต่างเอาไว้ภายใน ขณะเดียวกันการแต่งงานข้ามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ รวมทั้งต่างศาสนาในสังคมไทยมีสูงกว่าสังคมอื่น คนไทยซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ไทยแท้เท่าไหร่นัก มีความสามารถในการกลืนชนชาติและเผ่าพันธุ์อื่น เราจึงไม่เห็นชนกลุ่มน้อยในเมืองไทย เช่น พวกมอญ เขมร ลาว มาเลย์ กะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยในที่ราบมากนัก เพราะถูกคนไทยกลืนไปหมด

ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย ทำไม่ได้ ที่ทำได้เห็นมีอยู่ประเทศเดียวคือประเทศลาว เพราะไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม จีน เขมร ไทย อยู่เมืองลาว 2-3 ชั่วคนก็กลายเป็นลาวไปหมด เหมือนกับที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

สําหรับสังคมอเมริกันนั้น เป็นสังคมที่รวมของคนหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ เพราะทวีปอเมริกาทั้งหมดถูกค้นพบโดยชาวยุโรปเมื่อประมาณ 400 ปีมานี่เอง ก่อนที่ชาวยุโรปจะมาตั้งถิ่นฐานก็มีชาวพื้นเมืองอยู่กระจัดกระจายโดยทั่วไป แต่ก็มีอาณาจักรของชาวมายาในทวีปอเมริกาใต้

คนพวกแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือคือคนผิวขาวจากยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ ซึ่งเป็นชนผิวขาวรวมไปถึงชาวยุโรปใต้ อันได้แก่ สเปน โปรตุเกส อังกฤษ ดัตช์ และอิตาลี ต่อมาจึงมีการไปจับตัวชาวแอฟริกาผิวดำมาเป็นแรงงานทาสในไร่อ้อย ฝ้าย และการเกษตรอย่างอื่น จากนั้นก็มีชาวเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและจีน ที่มารับจ้างเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ แล้วก็ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

การที่อเมริกาเป็นแหล่งรวมของคนอพยพจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก เป็นที่หลอมรวมผู้คนเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติต่างๆ เข้าด้วยกันจนได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่หลอมรวมผู้คนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเข้าด้วยกัน และมีผู้พยายามเรียกสังคมที่หลอมรวมชนชาติ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิวต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือ “melting pot”

แต่การที่มีผู้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนที่เคยเรียกกันว่าเป็น “โลกใหม่” หรือ “New world” นี้ ก็มิได้เป็นเบ้าหลอมรวม หรือเป็น “melting pot” อย่างที่ชนชั้นปัญญาชนในอเมริกากล่าวอ้าง

สังคมอเมริกันนั้น ถูกปกครอง ถูกชี้นำ โดยคนผิวขาวซึ่งเป็นชนชั้นปกครองของประเทศ ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษและยุโรปตะวันตก จากกลุ่มประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวยุโรปตะวันตกที่มีเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและปัญญาชน อยู่เบื้องหลังกลุ่มนักการเมืองที่เป็นคนผิวขาวจากอังกฤษ ยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้ คนอเมริกันผิวขาวพวกนี้ถือตนว่าเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงกว่าคนผิวสีน้ำตาล คนผิวเหลืองและคนผิวดำ และถือว่าตนเป็นพวกที่เหนือกว่าคนผิวสีอื่นหรือ “White Supremacy” เป็นชนชาติที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้สูงกว่าชนชาติสีผิวอื่น

ในบรรดาชนชาติสีผิวอื่น “ผิวเหลืองอาจจะสูงกว่าผิวน้ำตาล ผิวดำถูกดูหมิ่นว่าอยู่ในสถานะต่ำสุด อย่างเดียวกับการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดียซึ่งผูกโยงกับสีผิวด้วยเช่นกัน กล่าวคือ พวกวรรณะสูงอันได้แก่ วรรณะพราหมณ์ กษัตริย์และแพศย์ จะได้แก่พวกอริยกะหรืออารยันในยุโรป ส่วนพวก ทราวิท หรือ ‘Dravidian’ หรือพวกทมิฬ น่าจะเป็นพวกวรรณะศูทร”

แม้ว่าสหรัฐจะเคยเป็นผู้นำในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน เป็นผู้นำในเรื่องการเลิกทาส ท่องบ่นสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีอัมบราฮัม ลินคอล์น ว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” หรือ “Men are created equal.” เมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว แต่การแบ่งแยกผิวในสหรัฐก็ยังคงดำรงอยู่และดูถ้าจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน

ความรู้สึกที่ว่าผิวขาวนั้นสูงส่งกว่าผิวสีอื่น หรือ “White Supremacy” ยังคงฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกของคนผิวขาวอยู่ตลอดเวลา การแยกสถานศึกษา การจะได้รับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ การเข้ารับราชการ การเป็นนักการเมืองทุกระดับ ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับคนผิวขาว โดยความยินยอม โดยสดุดีของคนสีผิวอื่น แต่คนสีผิวอื่นจะถูกกีดกันด้วยวิธีการต่างๆ ที่แนบเนียนโดยกฎหมายไม่อาจจะทำอะไรได้

ชนชั้นนำผิวขาวในอเมริกาตระหนักดีว่าถ้าหากการแบ่งชั้นวรรณะโดยการเหยียดผิว การจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจและการไต่ระดับชนชั้นในสังคมอเมริกาถูกปิดอยู่อย่างนี้ ในที่สุดการดิ้นรนเพื่อความเท่าเทียมกันทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของคนที่มิได้เป็นคนผิวขาว แม้ว่าจะเป็นคนส่วนน้อยก็ตามจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด คนผิวขาวซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คงอยู่ไม่เป็นสุข ความสงบร่มเย็นก็จะถูกท้าทาย ปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ทุกสิ่งก็จะเป็นปัญหาที่ไม่มีวันแก้ไขได้

บรรดามลรัฐที่ทำการเกษตร อันได้แก่มลรัฐที่อยู่ตอนกลางของประเทศ มีพื้นที่การเกษตรที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่มีประชากรอยู่เพียง 5% ของประเทศ ด้วยนโยบายจำกัดการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำตาล ใบยาสูบ และอื่นๆ จำกัดเนื้อที่การเพาะปลูกโดยการจ่ายเป็นเงินชดเชยให้ ขณะเดียวกันก็ห้ามการนำเข้า ทำให้ผู้บริโภคภายในสหรัฐต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการเกษตรของสหรัฐทั้งหมดเป็นคนผิวขาว เพราะเจ้าของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมดเป็นคนผิวขาว คนผิวดำเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

การลุกฮือขึ้นเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนผิวดำเกิดขึ้นเป็นระยะๆ การจะทำให้เกิดความสงบก็คือการเก็บปัญหาไว้ใต้พรม ซึ่งมีปะทุให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ เหมือนกับการเก็บกดความรู้สึกเหนือกว่าของคนผิวขาวไว้ใต้จิตสำนึก

ประธานาธิบดี สมาชิกรัฐสภา ศาล หรือนักการเมืองอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ต้องแสดงว่าตนเป็นนักสิทธิมนุษยชนต่อต้านการเหยียดผิวไปตามกระแสประชาธิปไตย เป็นสิทธิมนุษยชนที่ชนชั้นปกครองผิวขาวของอเมริกันพยายามสร้างขึ้นเพื่อปกป้องตนเอง ไม่กระพือความเกลียดชังระหว่างประชาชนจนทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกัน

เมื่อใดก็ตามที่มีผู้นำนักการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ ที่กดความรู้สึกที่แท้จริงของตนไม่ได้ ก็จะแสดงความรู้สึกว่า “เหนือกว่า” ของตนของคนผิวขาวออกมา จะทำให้ “มะเร็งร้าย” ในสังคมอเมริกันกำเริบออกมาทำร้ายคนผิวขาวชาวอเมริกันเอง ซึ่งผู้นำประเทศไม่สมควรจะกระทำอย่างยิ่ง

ทรัมป์ควรถูกถอดถอนได้แล้ว

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image