ปั้นเยาวชน ‘นักออกแบบ’ สร้างสรรค์ ‘ยางพารา’ เป็นผลงานแห่งอนาคต

น้องๆ นักศึกษาร่วมงานเปิดตัวโครงการ

“ยางพารา” พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายมหาศาล แต่ในช่วงที่ผ่านมาชาวสวนยางพาราต้องเผชิญกับปัญหาราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

วิกฤตดังกล่าวนำไปสู่ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา และหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าทางรอดจากวิกฤตครั้งนี้คือการ “แปรรูป-สร้างผลิตภัณฑ์”

แต่การจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อะไรขึ้นมาซักอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ รับเบอร์แลนด์ (Rubber Land) หรืออุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราจึงจัดกิจกรรม “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์ (RUBBERLAND Design Contest)” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะสร้างสรรค์ผลงานจากโฟมยางพารา และต่อยอดนำแนวคิดในครั้งนี้ไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาดในอนาคต

Advertisement
บรรยากาศกิจกรรมโครงการประกวด รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์

โดยการออกแบบครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ “โฟมยางพารา” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากยางธรรมชาติ มีคุณสมบัติดีเยี่ยมในด้านการทนต่อแรงดึง มีความเหนียวนุ่มและยืดหยุ่นสูง ไม่ยุบตัวเมื่อใช้งานไปนานๆ และต้านทานต่อน้ำหนักที่กดทับได้เป็นอย่างดี

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดรับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพารา ในฐานะผู้จัดกิจกรรม “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เราอยากสร้างนวัตกรรมต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์จากโฟมยางพารา เพราะปัจจุบันเรานำโฟมยางพารามาใช้ทำ “หมอน” กับ “ที่นอน” เป็นส่วนใหญ่ แต่เราเชื่อว่าถ้าศึกษาให้ดีและคิดให้รอบด้านแล้วโฟมยางพาราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น ประกอบกับโรงงานของเรามีเทคโนโลยีที่สามารถทำโฟมยางพาราได้ดี จึงใช้สิ่งที่เรามีมาขยายต่อยอด

“เท่าที่รู้เรื่องโฟมยางพารา ยังไม่ได้รับการคิดค้นอะไรมากไปกว่าสิ่งที่มีอยู่ เรามีแนวคิดนี้มาระยะหนึ่งแล้วนับตั้งแต่งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั่นคือเราเริ่มมีไอเดียกันแล้ว จากนั้นเราก็เริ่มโปรเจ็กต์นี้ขึ้น โดยเราคุยกันภายในว่าอยากได้นวัตกรรม อยากได้สิ่งใหม่ที่เกิดจากการออกแบบโฟมยางพารา เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ตรงนี้แล้วขยายออกไป ได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชน”

สาเหตุที่ฐวัฒน์เจาะกลุ่มเยาวชน เพราะเขามองว่าเด็กยังอายุไม่เยอะ ยังไม่มีภาระหน้าที่ที่รัดตัวมากนัก แล้วเชื่อว่าเด็กสายออกแบบยังมีไฟอยู่ น่าจะอยากทดลองสร้างไอเดียใหม่ๆ และคิดว่าเด็กกลุ่มนี้พร้อมที่จะถูกท้าทายและแก้โจทย์ไปด้วยกัน

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

“เรามุ่งไปที่กลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อายุระหว่าง 17-25 ปี สามารถส่งผลงานแบบเดี่ยวหรือแบบทีมไม่เกิน 3 คน ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์สำหรับห้องนอน หรือห้องนั่งเล่น ที่เน้นความสำคัญของการใช้งาน ดีไซน์ และมีวัสดุโฟมยางพาราเป็นส่วนประกอบสำคัญมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์”

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน” ในหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สำหรับวิถีชีวิตแห่งอนาคต”

“โจทย์ของเราคือ Future living หรือวิถีชีวิตแห่งอนาคต สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมมองว่า ในอนาคตอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ประชากรที่เป็นผู้สูงอายุจะเยอะกว่าประชากรวัยทำงานและวัยเด็ก เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมมองว่าน่าจะมีนวัตกรรมที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แล้วคนกลุ่มนี้ในอนาคตจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีการดูแลสุขภาพที่ดี เพราะฉะนั้นเขาจะมีเงิน มีชีวิตอยู่ได้นานและมีเพาเวอร์ ไม่ใช่คนสูงอายุแบบเมื่อก่อนที่แก่แล้วไม่มีเพาเวอร์ ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่โลกนี้จะต้องหันกลับมามอง”

“ดังนั้นการออกแบบอะไรก็ตามที่สามารถซัพพอร์ตวิถีชีวิตของ เอจจิ้งโซไซตี้ ผมคิดว่าจะเป็นอะไรที่ใช่ เช่น ผู้สูงอายุต้องระวังในเรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการลื่หกล้ม ซึ่งโฟมยางพาราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ เพราะคุณสมบัติเด่นของเขาคือสามารถรับแรงกระแทกได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง แล้วคนกลุ่มนี้อยากที่จะทำงานน้อยๆ พักผ่อนเยอะๆ อยากใช้ชีวิตที่สบายๆ ผมว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่จะซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ ซึ่งอนาคตจะเป็นผู้บริโภคหลักของโลก น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ แต่การประกวดเราเปิดกว้างสำหรับทุกไอเดียนะ ไม่ได้จำกัดเฉพาะผลงานสำหรับผู้สูงวัยเท่านั้น เพราะมันยังมีวัยอื่นๆ อีก ทั้งคนในกลุ่ม เจเนอเรชั่น เอ็กซ์, เจเนอเรชั่น วาย, เจเนอเรชั่น ซี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นอนาคตของโลกต่อไป” ฐวัฒน์อธิบาย

สำหรับการประกวดครั้งนี้ ฐวัฒน์คาดหวังว่าจะได้นวัตกรรมขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย และน่าจะมีคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตรงนี้แล้วก็นำไปพัฒนาต่อยอดให้มันเกิดผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ดีสำหรับประเทศไทย หรืออย่างน้อยโครงการนี้จะเป็นการจุดประกายให้สังคมและนักออกแบบไทยได้หันมามองพืชเศรษฐกิจตัวนี้ให้มากขึ้น และจุดกระแสให้นักออกแบบหรืออุตสาหกรรมหันมามองยางพาราซึ่งอาจจะนำไปสู่โครงการประกวดการออกแบบยางพาราในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยางแท่งหรือน้ำยางก็ตาม แล้วนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกวดครั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ด้วย

ฐวัฒน์บอกอีกว่าถ้างานประกวดในปีนี้สำเร็จด้วยดี อาจจะมีปีสองเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะกระโดดไปเป็นโปรเฟสชั่นแนล ดีไซเนอร์ในอนาคตก็ได้ แต่ตรงนี้ก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมกับเวลาก่อน อย่างไรก็ตามสำหรับการประกวดที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ผมก็อยากให้นักศึกษาในสถาบันที่มีภาควิชาการออกแบบร่วมส่งผลงานเข้ามาเยอะๆ ถามว่าคาดหวังว่าจะต้องฉีกไปเลยไหม ถ้าทำได้อย่างนั้นก็อยากคาดหวังนะ (หัวเราะ)”

ฐวัฒน์บอกอีกว่า ในส่วนของการให้คะแนน จะมีเกณฑ์การตัดสินผลงาน 4 ส่วนด้วยกัน คือ

1.ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ 30%

2.คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและสามารถผลิตได้จริง 30%

3.ใช้วัสดุจากโฟมยางพารามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของชิ้นงาน 20%

4.สามารถต่อยอดทางการตลาดและสร้างแบรนด์ได้ 20%

“ในส่วนของไอเดียการประกวดเราเปิดกว้าง แต่จะมีส่วนหนึ่งที่ระบุว่าสามารถผลิตได้จริง และสามารถต่อยอดทางการตลาดได้ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะบอกกับเยาวชนนักศึกษาเวลาที่ไปโรดโชว์ในแต่ละมหาวิทยาลัยว่า งานดีไซน์ของคุณไม่ได้ดีไซน์เพื่อตัวเองแต่ต้องดีไซน์เพื่อคนอื่น คือไม่ใช่ออกแบบมาแล้วอาจจะแปลกดี ตัวเองชอบมากแต่ไม่มีคนซื้อไปใช้ กลับกันถ้าดีไซน์แล้วตัวเองชอบด้วย คนอื่นชอบด้วยแล้วได้ใช้ประโยชน์ด้วย ผมว่ามันเป็นประโยชน์มากกว่าในเชิงรูปธรรม เพราะฉะนั้นเราก็พยายามกระตุ้นให้กับเด็กว่าการดีไซน์ที่ดีจะต้องสนใจความต้องการของผู้บริโภคและจะต้องเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย” ฐวัฒน์บอก

และว่า ขณะนี้มีเยาวชนนักศึกษาสนใจสอบถามเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กแฟนเพจ มีทั้งเด็กนักศึกษาและอาจารย์ข้อความมาถามรายละเอียดมากมาย อย่างล่าสุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็อยากขอให้เราไปช่วยโรดโชว์ อบรมเด็กในโรงเรียน

“ตรงนี้ก็รู้สึกเกินคาดที่ได้รับผลตอบรับเชิงบวกกับสิ่งนี้”

ตัวอย่างไฟล์บอร์ดส่งผลงาน

สำหรับโครงการ “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” ครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการออกแบบมาร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมกับรับเบอร์แลนด์หลายท่านด้วยกัน อาทิ ศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ม.ล.ภาสกร อาภากร หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนานักออกแบบเพื่อการค้า สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการยาง ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ MTEC, ดร.ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร นักวิจัยและพัฒนาวัสดุของ Material ConneXion? Bangkok (MCB) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ฐวัฒน์บอกว่า หลังได้รับผลงานทั้งหมดแล้ว การคัดเลือกในรอบที่ 1 รับเบอร์แลนด์และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาเพื่อคัดเลือก 20 ผลงาน จากผลงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมดและจะประกาศผลทาง Website รับสมัคร

“หลังจากประกาศผล 20 ทีมสุดท้าย ก็จะมีการเวิร์กช็อปที่รับเบอร์แลนด์ พัทยา จ.ชลบุรี และเยี่ยมชมโรงงานผลิตหมอนจากโฟมยางพารา จากนั้นจะให้แต่ละทีมปรับปรุงผลงานอีกครั้ง เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้ากรรมการและคัดเหลือ 10 ทีม เข้าสู่รอบไฟนอล เพื่อนำเสนอผลงานในรูปแบบโมเดล เพื่อหาผู้ชนะโดยจะประกาศผลวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่แฟชั่นฮอลล์ สยามพารากอน” ผู้จัดกิจกรรมรับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์ อธิบาย

โดยผู้ชนะจะได้รับเงินสด 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตรสำหรับผู้ร่วมประกวดทุกคน และยังได้เซ็นสัญญารับส่วนแบ่งในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางและประกาศนียบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินสด 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางและประกาศนียบัตร

“สำหรับผลงานที่ชนะรางวัลจะถูกนำไปผลิตและจัดจำหน่ายจริง ซึ่งเราอยากให้เป็นกำลังใจกับเยาวชนนักออกแบบด้วยการให้เด็กถือลิขสิทธิ์ร่วมและแบ่งรายได้หลังการหักค่าใช้จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ ให้กับทีมผู้ชนะเป็นเวลา 1 ปี ให้เขาได้รู้ว่าสิ่งที่ทำออกมามันขายได้จริง แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะมีผลงานที่ถูกใจคณะกรรมการเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษได้ถ้าเราเห็นว่าผลงานนี้เราอยากผลิตจริง” ฐวัฒน์ทิ้งท้าย

กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เยาวชนนักศึกษาจะพลาดไม่ได้

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ “รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์” สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน ทางเว็บไซต์ www.thairubberland.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image