‘องค์กรสตรี’ จี้สังคายนากฎ ก.พ.ด้านคุกคามทางเพศ ใช้ได้จริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จัดเสวนาเรื่อง “คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว: รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ผู้แทนหน่วยงานรัฐ ผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศ ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

นางสาวอังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เคสที่เข้าขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯส่วนใหญ่เป็นคดีข่มขืน รองลงมาเป็นรุมโทรม อนาจาร ส่วนการคุกคามทางเพศยังน้อย แต่เราเชื่อว่ามีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกคุกคามลวนลามทางเพศในที่ทำงาน เพียงแต่พวกเธอไม่กล้าออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ หรือไม่ดำเนินการให้ถึงที่สุด บางส่วนที่เราพูดคุยยอมรับว่าไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใครหลังเกิดเหตุ ฉะนั้นจึงอยากให้แต่ละองค์กรเห็นความสำคัญเรื่องนี้ กำหนดเป็นมาตรการ แนวปฏิบัติ หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ส่วนสังคมควรเรียนรู้ถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และร่วมเป็นหูเป็นตาแก้ปัญหา และส่วนในระบบราชการ ควรต้องสังคายนาดูว่ากฎก.พ.สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะเราไม่อยากมาแก้ปัญหารายเคส แต่อยากให้แก้ที่ระบบมากกว่า

นางยงค์ ฉิมพลี กรรมการสหภาพแรงงานฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า เมื่อก่อนคน ขสมก.มีทัศนคติติดลบ เรามองเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งที่เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับการทำงาน อาทิ คนที่หัวหน้างานพิศวาส จะทำงานน้อยและสบายกว่าคนที่หัวหน้างานไม่พิศวาส มีผลต่อสภาพจิตใจผู้ปฏิบัติงาน และส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ ซึ่งเราพยายามพูดและนำผลศึกษาวิจัยให้ผู้บริหารพิจารณา เพื่อเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จนปี 2555 มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการคุกคามทางเพศ ที่มีผู้บริหารและกรรมการสหภาพเข้าไปอย่างละครึ่ง และนำมาสู่แนวปฏิบัติการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ที่ระบุชัดเจนว่าหากถูกคุกคามทางเพศและร้องเรียนเข้ามา จะต้องไต่สวนให้เสร็จภายใน 30 วัน หรือขอขยายได้อีก 30 วัน รวม 60 วันต้องรู้ผล แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอย่างเคสหนึ่งที่ผู้ร้อง ถูกกลั่นแกล้งสารพัดจากผู้กระทำซึ่งมีอำนาจมากกว่า และสุดท้ายผลสอบลงโทษภาคทัณฑ์ และย้ายตำแหน่งผู้กระทำเท่านั้น

“คนส่วนมากมักคิดว่าคนหน้าตาดีเท่านั้นถึงจะถูกคุกคามทางเพศ แต่จากประสบการณ์คนหน้าตาไม่ดีก็ถูกคุกคามได้ โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงาน และจากการมีระเบียบข้อบังคับการคุกคามทางเพศในองค์กร สามารถช่วยให้คนที่มีพฤติกรรมด้านนี้ ลดละเลิกไปได้จริงๆ” นางยงค์กล่าว

Advertisement

 

ยงค์ ฉิมพลี กรรมการสหภาพแรงงานฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
อังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image