อัยการโพสต์เฟซ ขั้นตอนองค์คณะลงมติ”จำนำข้าว-จีทูจี” หวั่นอุทธรณ์ตามรธน.60สะดุด หลังกฎหมายลูกยังไม่ประกาศ

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เขียนข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวและโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในวันที่ 25 สิงหาคม ระบุว่า “มีข้อกฎหมายเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟังในเรื่องการตัดสินคดีระบายข้าวและคดีจำนำข้าวในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 20 บัญญัติให้การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก โดยองค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้ และคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด

“และตามมาตรา 20 บัญญัติให้ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อคู่ความทุกฝ่าย เรื่องที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาและคำให้การ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี”

นอกจากนี้ ดร.ธนกฤต ยังอธิบาย ในเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษา “ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน30วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์คดีมีอยู่ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ตามที่ผมเคยให้ความเห็นผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไปแล้ว

“อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด ซึ่งขณะนี้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทำให้การยื่นอุทธรณ์ในระหว่างที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้ขาดความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 60 ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ บัญญัติไว้ ด้วยหรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 60 บัญญัติว่า กรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และศาลจะสั่งรับอุทธรณ์อย่างไร ในเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ ยังไม่มีผลบังคับใช้

Advertisement

“นอกจากนี้ การคัดเลือกองค์คณะของศาลฎีกาจำนวน 9 คน โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่จะมาพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 62 บัญญัติให้ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการโดย องค์คณะของศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 9 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือ ผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน ก็น่าจะยังไม่สามารดำเนินการได้ในระหว่างที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ดังที่กล่าวไปนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคดีระบายข้าว คดีจำนำข้าวเท่านั้น แต่ยังเกิดในการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรด้วยเช่นกัน

“หากมีการประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ทันเวลาภายใน30วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จะทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์มีความชัดเจน และการยื่นอุทธรณ์และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องจะมีกฎหมายรองรับชัดเจนด้วย ที่เขียนมานี้ถือว่าเล่าสู่กันฟังเป็นข้อกฎหมายเล็กๆน้อยๆ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ

“ต่อมา เมื่อช่วงเย็น นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 25 สิงหาคม ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่าพร้อมที่จะไปฟังคำพิพากษา โดยคาดว่าจะเดินทางไปถึงศาลในช่วงเวลาที่เช้ากว่าเดิม เพราะครั้งก่อนศาลนัดเวลา 09.30 น. ส่วนครั้งนี้ศาลนัดเวลา 09.00 น. แต่ตนไม่ทราบแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปถึงศาลในเวลากี่โมง ส่วนจะพบปะมวลชนที่มาให้กำลังใจด้วยหรือไม่นั้น ตนก็ไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากมีการจัดพื้นใหม่แบ่งกั้นโซน ตนเดินทางไปก็ยังไม่รู้ว่าจะเจอสถานการณ์อย่างไร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเตรียมอ่านคำพิพากษาคดีนี้ ล่าสุดชัดเจนแล้วว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะไม่ถ่ายทอดสัญญาณเสียงขณะอ่านคำตัดสิน ออกมานอกห้องพิจารณาแต่อย่างใด ขณะที่การเข้าฟังภายในห้องพิจารณาจะจัดพื้นที่สำหรับคู่ความอัยการโจทก์ จำเลย , ทนายความผู้ติดตาม , เครือญาติ รวมทั้งสื่อมวลชนซึ่งในส่วนของสื่อมวลชนให้ลงรายชื่อโดยอนุญาตให้เข้าฟังห้องพิจารณาสำนักข่าวละ 1 คน เนื่องจากพื้นที่ห้องพิจารณาค่อนข้างจำกัดสามารถรองรับบุคคลได้กว่า 100 คน โดยชัดเจนว่าผู้ที่เข้าฟังคำตัดสินห้ามนำโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้าไปในห้องพิจารณาโดยเด็ดขาด

ด้าน แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางศาลฎีกาได้มีการเตรียมความพร้อม100เปอร์เซ็นต์ในด้านการจัดระเบียบและรักษาความปลอดภัยในสำหรับการอ่านคำพิพากษาคดีทั้งสองคดีแล้ว ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดคนหนึ่งในสองคดีดังกล่าวยื่นคำร้องเพื่อขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในคดีมาแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image