ชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชี้ สปส.ไม่จ่ายยา ตัดทางรอดชีวิตผู้ป่วย

จากกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ได้รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org “คนไข้ประกันสังคมวอนขอชีวิต หลังพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดระยะที่ 3” เพื่อร้องเรียนต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยระบุว่า เป็นมะเร็งดังกล่าวระยะที่ 3 แต่ประกันสังคมไม่อนุมัติให้ใช้ยารักษา เนื่องจากจะอนุมัติเฉพาะคนที่เป็นระยะแรกเท่านั้น

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia : CML) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะแรกหรือระยะเรื้อรัง 2.ระยะสองหรือระยะลุกลาม และ 3.ระยะสามหรือระยะเฉียบพลัน ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาอิมาตินิบจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะระยะแรกที่จะต้องได้รับยาวันละ 400 มิลลิกรัม (มก.) ซึ่งหากได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ แม้จะไม่หายขาด แต่ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเช่นคนทั่วไป เปรียบเสมือนเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง ส่วนระยะที่สองและระยะสุดท้ายจะต้องได้รับยาวันละ 600-800 มก. แล้วแต่สภาพของผู้ป่วย โดยพบว่าระยะที่สองเมื่อได้รับยาอย่างต่อเนื่อง บางคนป่วยมากว่า 5-6 ปีแล้วก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ส่วนระยะสุดท้ายก็สามารถยืดระยะเวลาการมีชีวิตออกไปได้ช่วงหนึ่งเช่นกัน

ศ.พญ.แสงสุรีย์กล่าวว่า สำหรับยาอิมาตินิบถือเป็นยาในบัญชี จ.2 ดังนั้น ประกันสังคมต้องจ่ายยารักษาให้คนไข้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2551 ประกันสังคมไม่เคยจ่ายยาตัวนี้ให้แก่ผู้ป่วย จนเมื่อปี 2555 ถึงได้ยอมจ่ายยาดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วย แต่ก็เป็นเฉพาะผู้ป่วยระยะแรกเท่านั้น เท่ากับ 4 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียโอกาสไปมากเท่าไร และการไม่ให้ยาในผู้ป่วยระยะสองและระยะสามก็ยังคงเป็นการตัดโอกาสในการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยออกไป ซึ่งหากโรงพยาบาลจ่ายยาก็เท่ากับโรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง เป็นการผลักภาระไปให้โรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยรายนี้ เนื่องจากเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์มีความเข้มแข็งพอสมควร ก็มีการให้ความช่วยเหลือบ้าง โดยมีการบริจาคยาเพื่อช่วยเหลือ แต่นี่ก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน

“แม้ประกันสังคมจะให้สิทธิปลูกถ่ายไขกระดูกในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะผู้ป่วยต้องอายุไม่มาก และมีพี่น้องที่เนื้อเยื่อเข้ากันได้ ที่สำคัญคือ ต้องเป็นโรคนี้หลังจากเข้าประกันสังคมแล้ว หากเป็นก่อนเข้าประกันสังคมก็จะไม่อนุมัติในการใช้สิทธิ อย่างไรก็ตาม มองว่าวิธีดังกล่าวควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา ไม่ใช่ทางเลือกแรก เพราะหากรักษาด้วยยาแล้วได้ผลดี ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ขณะนี้สำหรับผู้ป่วยระยะที่สองและระยะสุดท้าย แม้แต่ทางเลือกแรกที่ควรได้รับยาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนก็ยังไม่ได้รับสิทธิเลย ซึ่งที่ผ่านมาตนก็เคยให้ข้อมูลกับทางประกันสังคมไปแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” ศ.พญ.แสงสุรีย์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image