116 ผู้เชี่ยวชาญวอนยูเอ็น ห้ามพัฒนา ‘จักรกลสังหาร’

ที-800 หุ่นสังหารจาก "เทอร์มิเนเตอร์" (ภาพ-Paramount Pictures)

คณะผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกพัฒนาการด้านหุ่นยนต์ศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 116 คน ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกซึ่งทำถึงที่ประชุม “การประชุมร่วมนานาชาติว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์” (ไอเจซีเอไอ) ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดให้มีขึ้นที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา เรียกร้องอีกครั้งให้ยูเอ็นตัดสินใจห้ามการพัฒนาและการนำเอาอาวุธสังหารอัตโนมัติเข้าประจำการใช้งานในกองทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันกันสั่งสมอาวุธชนิดนี้ขึ้น

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ก่อตั้งบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวิทยาการด้านนี้ชั้นนำจำนวนมาก รวมทั้ง อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเทสลา, มุสตาฟา สุเลย์แมน ผู้ก่อตั้ง “ดีพมายด์ เทคโนโลยี” บริษัทที่บุกเบิกและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และวิชาการด้านแมชีนเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ของจักรกลชื่อดังซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิล รวมไปถึงนักวิชาการอย่าง โทบี วอลช์ ศาสตราจารย์ด้านปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า การแข่งกันพัฒนาและสั่งสมอาวุธสังหารอัตโนมัติจะเร่งให้เกิด “วิวัฒนาการระลอกที่ 3” ขึ้นในการทำสงคราม แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนา “ดินปืน” และ “ระเบิดนิวเคลียร์” ขึ้นมา และในทันทีที่ถูกพัฒนาขึ้น อาวุธสังหารอัตโนมัติจะเปิดทางให้การต่อสู้ในสงครามขยายวงกว้างออกไปใหญ่โตกว่าทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น และเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลารวดเร็วเกินกว่ามนุษยชาติจะสามารถทำความเข้าใจ นอกจากนั้น อาวุธเหล่านี้ยังสามารถกลายเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความสะพรึงกลัว กดขี่ และเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพของผู้ก่อการร้ายสำหรับนำมาใช้จัดการกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ ทั้งยังสามารถเจาะเข้าไปในระบบเพื่อทำให้เครื่องจักรสังหารเหล่านี้แสดงพฤติกรรมในทางร้ายได้หลากหลายอีกด้วย

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเตือนว่า มนุษยชาติมีเวลาไม่นานนักในการตัดสินใจดำเนินการ เพราะในทันทีที่เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว การยับยั้งจะทำได้ยากมาก

Advertisement

ข้อเรียกร้องของบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็คือ ให้บรรจุ “ระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติ” เข้าไว้ในรายการ “อาวุธต้องห้าม” ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธในรูปแบบบางชนิด (ซีซีดับเบิลยู) ปี 1983 แบบเดียวกับที่อาวุธเคมีและอาวุธเลเซอร์ที่มีเจตนาทำให้ตาบอดถูกห้ามพัฒนาและใช้ในอนุสัญญาของยูเอ็นดังกล่าว

ศาสตราจารย์วอลช์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีแทบทุกชนิดสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษได้ทั้งสิ้น ปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นเช่นเดียวกัน สามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างให้มนุษย์ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธที่ทำงานได้อัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้สงครามกลายเป็น “อุตสาหกรรมของการเข่นฆ่า” ก็ได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้คุณสมบัติด้านใดของมัน

ไรอัน การีพปี ผู้ก่อตั้งบริษัทเคลียร์พาธ โรโบติกส์ ให้ความเห็นว่า อันตรายจากเอไอนั้น ในเวลานี้ยังเป็นความกังวลที่อยู่ในขอบเขตของ “นิยายวิทยาศาสตร์” แต่ระบบอาวุธอัตโนมัติกำลังใกล้ความเป็นจริงเข้ามามากแล้ว และมีอานุภาพในระดับที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนบริสุทธิ์ได้มากพอๆ กับก่อให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นกับโลก

Advertisement

โดยข้อเท็จจริงแล้ว โลกยังไม่มี “หุ่นยนต์สังหาร” ทำนองเดียวกับ “ที-800” หุ่นสังหารใน “เทอร์มิเนเตอร์” หรือ “อีดี-209” ใน “โรโบค็อบ” (2014 รีเมก) แต่ระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติกลับมีประจำการใช้แล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “เซนทรี กัน เอสจีอาร์-เอ1” ซึ่งถูกติดตั้งประจำการอยู่ในบริเวณเขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ

“เซนทรี กัน” ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้มอบหมายให้ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาขึ้น เป็นระบบอาวุธอัตโนมัติชนิดแรกของโลก มีความสามารถในการตรวจการณ์, รับคำสั่งเสียง, ติดตามเป้าหมายและยิงปืนกล หรือจรวดที่ติดตั้งอยู่กับระบบได้โดยอัตโนมัติ

นอกเหนือจากนั้นยังมีหลายประเทศพัฒนาระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติอยู่มากมายในเวลานี้ อย่างเช่นอังกฤษ ที่พัฒนา “ทารานิส” โดรนติดอาวุธที่สามารถยิงได้จากอากาศสู่อากาศ หรืออากาศสู่พื้นดินโดยอัตโนมัติ ประสบความสำเร็จในการทดสอบบินครั้งแรกเมื่อปี 2013 และคาดหมายกันว่ากองทัพอากาศอังกฤษจะนำเข้าประจำการในราวปี 2030 เพื่อแทนที่เครื่องบินรบแบบทอร์นาโด จีอาร์ 4

แบบจำลองของ “ทารานิส โดรน” (ภาพ-Public Domain)

รัสเซียและสหรัฐอเมริกากำลังพัฒนารถถังขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถใช้งานได้ทั้งแบบใช้การควบคุมจากระยะไกล ด้วยการติดตั้งระบบอัตโนมัติไว้ควบคุมการทำงานของรถถังปกติ หรือรถถังที่ทำงานแบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ อาทิ “อูราน-9” ยานยนต์รบภาคพื้นดินไร้คนขับ (ยูซีจีวี) ของรัสเซีย เป็นต้น

อูราน-9 รถถังอัตโนมัติไร้คนขับของรัสเซีย (ภาพ-CC BY-SA 4.0)

สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นโครงการพัฒนา “ซี ฮันเตอร์” เรือรบอัตโนมัติที่มอบหมายให้ “วิกอร์ อินดัสเตรียล” เป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเมื่อปี 2016 โดยตั้งเป้าให้มีศักยภาพเชิงรุกหลายรูปแบบ รวมทั้งการยิงอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้บริษัทโบอิ้งพัฒนา “อีโค่ วอยยาจเจอร์” เรือดำน้ำที่ทำงานอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องใช้คน

ซี ฮันเตอร์ เรือดำน้ำอัตโนมัติของสหรัฐอเมริกา (ภาพ-Public Domain)

เพื่อการปฏิบัติการทางทหารระยะไกลใต้ทะเลอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image