อวสานโลกสวย’ทีวีดิจิตอล’ ค่ายใหญ่-เล็ก ดิ้นสู้สุดชีวิต ช่อง 3 เพิ่ม’คอนเทนต์’รับมือมรสุม’สรยุทธ’

ถึงนาทีนี้ ดูเหมือนธุรกิจทีวีดิจิตอล อาจจะไม่ใช่ขุมทรัพย์สำหรับการเข้ามากอบโกยรายได้อย่างที่เคยคาดการณ์กันเมื่อ 2 ปีก่อน

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลประกอบการปี 2558 ของช่องต่างๆ ที่ประกาศออกมาเต็มไปด้วยตัวแดงอย่างน่าตกใจ

เริ่มตั้งแต่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม 25 ที่ขาดทุนกว่า 1,135 ล้านบาท บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องโมโน 29 ที่แม้จะมีเรตติ้งติด 1 ใน 5 ของช่องทีวีดิจิตอล แต่ก็ยังขาดทุนถึง 486 ล้านบาท

ที่ไล่ตามติดๆ คือ บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง อมรินทร์ทีวี ขาดทุน 417 ล้านบาท

Advertisement

จะมีสวนกระแสอยู่บ้าง ก็เป็นค่ายเวิร์คพอยท์ ที่กำไรกว่า 163 ล้านบาท เป็นต้น

จากรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่าย และการลงทุนที่จะต้องถมลงไปอีก ล่าสุดหลายๆ ค่ายเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการลดต้นทุน เช่น วอยซ์ทีวี ที่ต้องตัดสินใจปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการลดพนักงานลงกว่าครึ่งร้อย รวมทั้งค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ แกรมมี่ ก็ประกาศลดพนักงานลงจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาเรตติ้งของทุกค่าย หลังจากออกอากาศมาเกือบ 2 ปี ตามรายงานบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ช่อง 7 เรตติ้ง 3.103, ช่อง 3 เรตติ้ง 2.754, เวิร์คพอยท์ 1.128, โมโน 29 เรตติ้ง 0.638, ช่อง 8 เรตติ้ง 0.597, ช่องวัน 0.439, ช่อง 3 เอสดี 0.304, ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี เรตติ้ง 0.236, ไทยรัฐทีวี 0.216 และทรูโฟร์ยู 0.160

Advertisement

เท่ากับว่า 10 อันดับแรก ค่อนข้างคงที่และเป็นการเกาะกลุ่มกันของรายใหญ่ๆ ที่มีทุนหนา ที่มีความเคลื่อนไหวในการเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่ายฟรีทีวีเดิม ช่อง 3-7-9 และช่องที่เคยทำทีวีดาวเทียม เช่น เวิร์คพอยท์ ช่อง 8 ช่องวัน ขณะที่รายใหม่ก็สามารถเบียดแซงได้เพียงไม่กี่ราย

“อ่อนอุษา ลำเลียงพล” นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย บอกว่า ท้ายที่สุดแล้วทีวีดิจิตอล คือพื้นที่การแข่งขันของช่องที่มีสายป่านยาว มีงบฯ ลงทุนจำนวนมาก เพราะต้องเติมคอนเทนต์ใหม่ๆ ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ทุกช่องต้องสร้างความแตกต่างทั้งคอนเทนต์ หาจุดยืนของช่องให้เจอ เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมและเรตติ้งให้ได้

สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การประชาสัมพันธ์ช่อง เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ชม

ท่ามกลางอุตสาหกรรมโฆษณาที่ไม่เติบโต จึงส่งผลให้สื่อทีวียังมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะรายใหญ่ที่เร่งโหมลงทุนรอบใหม่เป็นระลอกๆ เพื่อสร้างเรตติ้ง ที่จะนำมาซึ่งเม็ดเงินโฆษณา

ด้านหนึ่ง “สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์” ผู้อำนวยการสายงานบริหารงานขาย บริษัท จีเอ็มเอ็มวัน ทีวี จำกัด ผู้บริหารช่อง one ให้มุมมองว่า แม้ทีวีดิจิตอลจะออกอากาศมาเกือบ 2 ปี แต่เรตติ้ง 10 อันดับแรกยังไม่นิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเบียดกันของช่องใหญ่ โดยเฉพาะ 5 อันดับแรก ทั้งช่อง 7, ช่อง 3, เวิร์คพอยท์ทีวี, โมโน 29 และช่อง 8 ที่เพิ่มรายการแม่เหล็กใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เรตติ้งเบียดกันไปมา

นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าไม่ใส่คอนเทนต์ใหม่ๆ เรตติ้งจะหล่น ล่าสุด ช่อง 3 เอสดี ที่ไล่ขึ้นมา หรือโมโน 29 ที่แซงช่อง 8 ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 แล้ว

ทุกรายต้องเดินหน้าเพื่อให้ตัวเองขยับขึ้นไปสูงที่สุด ท้ายที่สุดเชื่อว่าทีวีดิจิตอลอาจเหลือรายที่อยู่รอดเพียง 10 ช่อง

สำหรับช่องเล็กหากจะสามารถยืนระยะและอยู่รอดได้ จะต้องเร่งปรับตัว เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการรบใหม่ด้วยการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ชมเลือกจดจำเฉพาะช่องใหญ่ ขณะที่มีเดียเอเยนซี่จะซื้อโฆษณาเฉพาะช่องที่มีเรตติ้งอันดับต้นๆ

ช่องทีวีที่มาแรงอย่างเวิร์คพอยท์ทีวี ก็ยังคงเร่งเติมรายการระลอกใหม่ในช่วงกลางปีนี้ ทั้ง ละครไทย-ซีรี่ส์เกาหลี รวมถึงจะถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลโอลิมปิกหญิง รอบคัดเลือกด้วย ส่วนโมโน 29 เตรียมงบฯ 700-800 ล้านบาท ซื้อภาพยนตร์จากค่ายหนังระดับโลก รวมทั้งเพิ่มละครไทยอีก 8-10 เรื่อง

ตามด้วย “ทรูโฟร์ยู” ของทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป ก็ทุ่มงบฯ ต่อเนื่องกว่า 2,000 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์กีฬาทั้งในและต่างประเทศ ลงทุนผลิตละครซีรี่ส์กว่า 10 เรื่อง ฟาก ยักษ์หลับ อสมท ก็ออกอาการดิ้นสู้ ด้วยการประกาศปรับผังรายการครั้งใหญ่ตั้งแต่ต้นปี พร้อมเสริมทีมผู้บริหาร รองรับการแข่งขันรุนแรงขึ้น หวังกลับมาติด 1 ใน 5 ให้ทันสิ้นปีนี้

รวมถึง ช่อง 8 ก็เดินหน้าเต็มที่ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นว่า ทีวีดิจิตอลยังเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนแม้ว่าการแข่งขันจะสูง ปีนี้ทุ่มงบฯ กว่า 2,000 ล้านบาท พัฒนาคอนเทนต์ละคร กีฬา รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ช่อง 8 เป็นที่รู้จัก หวังเบียดเรตติ้งขึ้นแท่นเบอร์ 3 ให้ได้

วอยซ์ทีวี “เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ยอมรับว่า ตลาดทีวีดิจิตอลที่มีการแข่งขันสูง และวอยซ์ทีวีจะวางโพสิชั่นนิ่งเป็นช่องข่าว และมีฐานผู้ชมชัดเจนคือวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ล่าสุด เปิดทิศทางธุรกิจใหม่ด้วยแนวคิด “Smart Voice 2016” ผนึกกำลังกับพันธมิตรเสริมทัพ เช่น มติชน แบรนด์เอจ ทราเวิล แชนแนล เป็นต้น

เช่นเดียวกับ อมรินทร์ทีวี ที่ใจชื้นขึ้น เมื่อเรตติ้งล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 13 ส่วนหนึ่งมาจากการมีฐานผู้ชมที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นทางว่า จับกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ระดับกลางถึงบน และเตรียมเสริมทัพรายการรอบใหม่เร็วๆ นี้ คาดว่าจะคุ้มทุนตามเป้าหมายเดิม คือ 5-7 ปี หลังจากก่อนหน้านี้ก็ออกอาการเซๆ เพราะเรตติ้งรั้งท้ายมาเกือบ 1 ปี

ส่วนช่อง พีพีทีวี ของมหาเศรษฐีหุ้น “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ก็ยังเดินหน้าสู้ไม่ถอย ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1,500 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท เดินหน้าภายใต้กลยุทธ์ Partnership & Engagement คือ หาพันธมิตรรายการ และพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้

เรียกว่า ทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็ก ยังเดินหน้าแลกหมัดกันแบบสุดตัว เพื่อโกยเรตติ้งให้ได้มากที่สุด

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” รองกรรมการผู้จัดการ และผู้ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เพิ่งให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนย้ำว่า ปีนี้สนามรบทีวีดิจิตอลพร้อมแล้ว ทั้งผู้ชมและงบฯ โฆษณา ค่ายช่อง 3 จึงจะเดินหน้าลงทุนเพื่อเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งช่อง 28 เอสดี ที่จะเติมรายการกีฬา ละคร เจาะกลุ่มแมส

ส่วนช่อง 13 แฟมิลี่ จะผนึกพันธมิตรผู้ผลิตรายการจากต่างประเทศทั้ง ดรีมเวิร์กส์, วาคุ วาคุ จากญี่ปุ่น ในการอุดช่องว่าง

ส่วนช่อง 33 เอชดี ที่เป็นแฟล็กชิฟ จะเน้นนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพทั้งละคร-ข่าว วาไรตี้ เจาะกลุ่มคนเมืองและหัวเมืองใหญ่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด ช่อง 3 ต้องเผชิญมรสุมลูกใหญ่ จากกรณี สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการเล่าข่าว และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน กลายเป็นประเด็นทางสังคมถึงความไม่เหมาะสมเรื่องจรรยาบรรณสื่อมวลชน

ส่งผลให้สินค้าบางแบรนด์เริ่มหารือถึงความเหมาะสมในการซื้อช่วงเวลาโฆษณา ขณะที่บางแบรนด์ตัดสินใจถอดโฆษณาออกจากรายการเล่าข่าวเช้าแล้ว

งานนี้ ต้องพิจารณาระยะยาวว่าจะกระทบต่อรายได้โฆษณาของช่อง 3 มากแค่ไหน และจะเป็นโอกาสให้คู่แข่งเข้ามาเบียดและแย่งเรตติ้ง และรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไปได้มากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะเมื่อช่อง 3 ตัดสินใจเลือกที่จะไม่ “พักหน้าจอ” พิธีกรชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งแม่เหล็กและจุดขายสำคัญของช่อง

เป็นวิบากกรรมอีกครั้งหนึ่งซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่า จะลงเอยอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image