เปิดสมรภูมิ’โมบายแบงกิ้ง’ แข่งเดือด! รุกออนไลน์เอาใจคนยุคดิจิทัล

ด้วยกระแสของโลกยุคดิจิทัลทำให้ทุกอย่างขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ไม่เว้นแม้แต่การเงินการธนาคาร รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธนาคารต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ รวมทั้งรูปแบบการให้บริการลูกค้า ดังนั้นแต่ละธนาคารจึงสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งงบประมาณที่ลงทุนไปหลักหลายพันล้านบาท

ปัจจุบันในไทยใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 90 ล้านเลขหมาย และสัดส่วนสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องพัฒนาช่องทางที่ลูกค้าจะใช้งานและเข้าถึงการทำธุรกรรมการเงินได้ง่าย ผ่านแอพพลิเคชั่นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแบงกิ้ง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ไม่คุ้นกลายเป็นคุ้นเคย ซึ่งหลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าไปสาขาธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อไร แต่ละธนาคารต้องปรับเปลี่ยนรูปโฉมโมบายแบงกิ้งให้ทันสมัย ใช้งานง่าย มีฟังก์ชั่นและฟีเจอร์ที่หลากหลาย ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า บัญชีลูกค้าที่ใช้งานโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2559 อยู่ที่ 20.8 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 13.9 ล้านบัญชี ปริมาณธุรกรรม ปี 2559 เพิ่มเป็น 584 ล้านรายการ จากปี 2558 ที่ 263 ล้านรายการ ส่วนมูลค่าธุรกรรมจาก 2.8 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี 2559

ธนาคารมองเงินสดคือคู่แข่ง

Advertisement

แม้ว่าการเพิ่มฐานลูกใหม่ให้มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละธนาคารก็มีกลุ่มลูกค้าของตนเอง ทำให้ไม่ได้มองธนาคารอื่นเป็นคู่แข่ง แต่เป็นการพัฒนาบริการตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วคู่แข่งที่สำคัญของทุกธนาคาร คือ เงินสด เพราะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดทั้งระบบที่มีต้นทุนสูงหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้ภาครัฐได้จัดทำยุทธศาสตร์การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนลอีเพย์เมนต์ขึ้นมา และมีโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น พร้อมเพย์ และเพิ่มการใช้บัตรเดบิต เป็นต้น

ทุกวันนี้การใช้งานโมบายแบงกิ้งลูกค้าต้องเป็นคนที่ทำธุรกรรมเอง สะดวก รวดเร็ว ไม่มีขั้นตอนเอกสาร และไม่ต้องรอคิว นายธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการผู้บริหารสูงสุดด้านการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ย้ำว่า แบงกิ้งต้องเป็นเรื่องที่สนุก ไม่น่าเบื่อ และพร้อมเป็นทุกอย่างเพื่อลูกค้ายุคดิจิทัล จึงเป็นที่มาของ เอสซีบี อีซี่ (SCB EASY) ที่เปลี่ยนหน้าตาของโมบายแบงกิ้งให้ดูสวยงาม น่าใช้มากขึ้น มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตั้งแต่การทำธุรกรรมการเงิน การชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น และยังมีฟังก์ชั่นค้นหาร้านอาหาร ซึ่งเร็วๆ นี้จะพัฒนาให้ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้

เช่นเดียวกับ นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มี เคเอ็มเอ (Krungsri Mobile Application-KMA) ภายใต้คอนเซ็ปต์ ง่ายกว่า เร็วกว่า ครบกว่า โดยออกแบบให้อิสระลูกค้าในการปรับเปลี่ยนออกเมนูฟังก์ชั่นการใช้งานในหน้าหลักตามที่ต้องการ จาก 11 เมนูการใช้งานหลักนี้ อาทิ โอนเงิน พร้อมเพย์ จ่ายบิล เติมเงิน ถอนเงินผ่านเอทีเอ็ม รายละเอียดบัญชี หรือสิทธิพิเศษ เป็นต้น พร้อมทั้งสามารถออกแบบหรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และพื้นหลัง สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังสามารถปรับขนาดตัวอักษรให้เหมาะสมตามความต้องการ ทั้งนี้ภายในสิ้นปีนี้จะมีฟังก์ชั่นใหม่รองรับในเรื่องของการขอและอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล และการให้คำปรึกษาทางการเงินด้วย

Advertisement

ทุกแบงก์แข่งขันเอาใจลูกค้า

ธนาคารยูโอบี โดย นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) ระบุว่า “ยูโอบี ไมท์ตี้ (UOB Mighty) จุดเด่น คือ กิน-จ่าย-โอน ครบจบในแอพพ์เดียว การใช้งาน สะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งจ่ายบิลและโอนเงิน นอกจากนี้ในส่วนของฟังก์ชั่น ‘กิน’ ลูกค้าสามารถค้นหา จอง พร้อมรีวิวร้านอาหารจำนวนกว่า 1,000 ร้านค้าในไทย และสามารถแตะเพื่อจ่ายด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นครั้งแรกในไทย สำหรับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ทุกยี่ห้อ”

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลของธนาคารอื่นก็พบว่า ธนาคารกสิกรไทย มี เคพลัส (K PLUS) ด้วยแนวคิด เปลี่ยนให้ทุกเรื่องง่ายขึ้น เพิ่มความสะดวกที่ทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การขอออกบัตรเดบิตผ่านเคพลัส แล้วรอรับบัตรได้เลยที่บ้าน หรือซื้อประกันเดินทางระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้สามารถทำธุรกรรม เช่น การเปิดบัญชีกองทุน ซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน อายัดบัตรเครดิต โอนเงินต่างประเทศ การขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 2 ปี เป็นต้น โดยไม่ต้องไปที่สาขา

ขณะที่ ทีเอ็มบี ทัช (TMB Touch) ของ ธนาคารทหารไทย พัฒนาภายใต้แนวคิด ทุกเรื่องเงิน ครบ จบ แค่ ทัช เดียว นอกจากการทำธุรกรรมการโอนเงิน จ่ายบิล แล้วยังบริหารจัดการบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดเรดดี้แคชได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่เปิดการใช้งานบัตร เปลี่ยนแปลงรหัสและขอรับรหัสบัตรใหม่ อายัดบัตรด้วยตนเอง และสามารถขอให้ออกบัตรใบใหม่ได้ทันที ทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ลูกค้าสามารถซื้อขายกองทุนรวม จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนถึง 7 บริษัทได้ อีกทั้ง ธนาคารออมสิน มี มายโม (MyMo by GSB) สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินฝาก ซื้อสลากออนไลน์และตรวจสอบสลากออมสิน หรือ

สินเชื่อ รวมทั้งเช็กยอดรายการเคลื่อนไหว โอนเงินชำระค่าบริการ เป็นต้น

เทรนด์กดเงินสดไม่ใช้บัตร

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านการทำธุรกรรมการเงินไปสู่ดิจิทัลทั้งหมดต้องใช้เวลา ดังนั้น เงินสดยังมีความจำเป็น แต่บัตร ทั้งบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต อาจจะไม่มีความจำเป็นแล้วในอนาคต เพราะขณะนี้สามารถกดเงินสดโดยไม่ต้องใช้บัตร ซึ่งต้องสั่งการจากโมบายแบงกิ้งของธนาคารที่ต้องการ อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยามีบริการบัตรไม่ต้อง สั่งกดเงินจากเคเอ็มเอ เลือกบัตรไม่ต้อง เลือกจำนวนเงินและกดยืนยัน จากนั้นไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด ได้รหัสยืนยันและกรอกรหัสยืนยันในโมบายแบงกิ้งว่าเป็นลูกค้าเจ้าของบัญชีจริงที่สั่งกดเงิน หลังจากกดยืนยันก็รับเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้

ธนาคารออมสินสั่งกดเงินผ่านมายโม โดยเข้าไปที่ฟังก์ชั่นกดเงินโดยไม่ใช้บัตร เลือกจำนวนเงินที่ต้องการและเลือกบัญชีเงินฝาก จากนั้นกดยืนยัน หน้าจอจะขึ้นช่องให้สแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งต้องไปตู้เอทีเอ็มที่ต้องการกดเงิน และกดเลือกรายการกดเงินโดยไม่ใช้บัตรที่ปรากฏอยู่บนจอตู้เอทีเอ็ม จะมีคิวอาร์โค้ดขึ้นมา ใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดดังกล่าวและกดยืนยัน รอรับเงินจากตู้เอทีเอ็ม และธนาคารไทยพาณิชย์สั่งกดเงินผ่านเอสซีบี โดยฟังก์ชั่น

กดเงินโดยไม่ใช้บัตรเช่นกัน เมื่อเลือกจำนวนเงินที่ต้องการ กดตรวจสอบข้อมูลและยืนยัน จะได้รับรหัสยืนยัน 6 หลัก ซึ่งจะต้องใช้งานภายใน 15 นาที จากนั้นไปที่ตู้เอทีเอ็มที่ต้องการ เลือกกดเงินโดยไม่ใช้บัตรที่ปรากฏอยู่บนจอตู้เอทีเอ็ม กดเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เป็นเบอร์ที่มีการใช้โมบายแบงกิ้ง กดรหัสยืนยัน 6 ตัวที่ได้รับ และรอรับเงินจากตู้เอทีเอ็ม

นอกจากนี้เร็วๆ นี้ ธนาคารต่างๆ จะเปิดตัวบริการการชำระเงินโดยใช้คิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นคิวอาร์โค้ดมาตรฐานสามารถใช้ได้ทั้งในไทยและทั่วโลก ขณะนี้ธนาคารที่ให้บริการแล้ว ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย โดยให้ร้านค้าขนาดเล็กรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้เริ่มให้ลูกค้าชำระเงินกับรถจักรยานยนต์รับจ้าง หากเปิดตัวจะทำให้การชำระเงินสะดวกมากขึ้น และลดข้อจำกัดในการติดตั้งเครื่องรับบัตรเครดิตได้ด้วย

ใช้พรีเซ็นเตอร์แมสคอตกระตุ้น

ไม่เพียงแค่การพัฒนาด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเท่านั้น ธนาคารต่างๆ ยังต้องทำการตลาดและสร้างแบรนด์มากขึ้น เพราะเดิมผู้เล่นลักษณะเดียวกันในตลาดมีไม่มากนัก แต่ด้วยทั้งผู้เล่นหน้าใหม่ในประเทศและยังมีผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาอีก จึงเห็นการตลาดของธนาคารในหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การใช้คนที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยธนาคารกรุงเทพมี เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ ธนาคารทหารไทยมี อาเล็ก-ธีรเดช เมธาวรายุทธ ส่วนธนาคารยูโอบีมีทั้ง ชาคริต แย้มนาม, มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน และอาร์ม- กรกันต์ สุทธิโกเศศ เป็นพรีเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ยังใช้แมสคอตในการสื่อสารการตลาดด้วย นอกจากนี้การใช้โฆษณาหรือซีรีส์ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์ และโทรทัศน์ก็ยังเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญอยู่ ยังไม่นับรวมการรีวิวการใช้งานจริงจากกลุ่มลูกค้า

หลังจากนี้เชื่อว่าจะได้เห็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ออกมาอีก ซึ่งประโยชน์จากการแข่งขันทำให้ลูกค้าอย่างเราได้รับความสะดวกสบาย แต่การเลือกใช้งานควรจะเลือกที่ง่าย หรือจะทดลองใช้บริการโมบายแบงกิ้งแต่ละธนาคาร เพื่อเลือกที่ใช่ที่สุดก็ไม่เสียหาย!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image