ดีเดย์ใช้ พ.ร.บ.แร่ใหม่ ‘ไม่มีปล่อยผี’

วันที่ 29 สิงหาคมนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ภายหลังให้เวลาเตรียมตัว 180 วัน

เป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ทดแทนฉบับเก่าที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2510

กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานต้นสังกัดกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ปรับรวมกฎหมายแร่ทั้ง 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแร่หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 รวมเป็นฉบับเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรแร่และมีการปรับการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมต่างๆ รัฐจะเรียกเก็บตามกฎหมายแร่ให้สูงขึ้น ขั้นสูงสุดอยู่ที่ 1,000 เท่าจากอัตราตามกฎหมายปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

แต่ดูเหมือนการสื่อสารไปยังประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียไม่เพียงพอ ไม่ชัดเจน เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่อยู่ระหว่างการขอประทานบัตรทำเหมือง ทั้งขอใหม่และต่ออายุ ได้แจ้งปัญหาไปยังสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ช่วยเหลือ ทำให้นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท.ต้องขอหารือด่วนกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีคำสั่งตามมาให้นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญผู้ประกอบการเอกชนที่ประกอบกิจการเหมืองแร่มาหารือ

Advertisement

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ปัจจุบันมีการยื่นขอประทานบัตร ทั้งทำเหมืองแร่ใหม่และต่ออายุ ที่ผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน ติดประกาศการทำเหมืองครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการเซ็นอนุมัติจากนายอุตตมมีจำนวนกว่า 40 คำขอ ดังนั้นกระทรวงจะพยายามเร่งรัดคำขอให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 29 สิงหาคม ภายใต้หลักเกณฑ์ พ.ร.บ.แร่ฉบับเดิม แต่หากการดำเนินงานไม่เสร็จตามกำหนด ยืนยันว่าผู้ประกอบการไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด แต่อาจต้องมีการเพิ่มขั้นตอนบางส่วนให้สอดคล้องตามกฎหมายใหม่ โดยจะเร่งสร้างความเข้าใจให้กับภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่

ขณะที่นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุใบอนุญาต
ยังค้างอยู่ในความรับผิดชอบจำนวน 40 ราย หากไม่สามารถพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 28 สิงหาคม ก็จะดำเนินการคำขอทั้งหมดเข้าอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ทันที จะไม่มีการเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาผ่อนปรนใดๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติแร่ 2510 ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน การเป็นผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่
การพิจารณาคำขออาชญาบัตร ประทานบัตร ต่ออายุประทานบัตร และใบอนุญาตต่างๆ ทาง กพร.จะทำตามขั้นตอนกฎหมาย โดยมีการตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆ อาทิ คุณสมบัติของผู้ขอ ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ มาตรการและกองทุนต่างๆ จะนำไปพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนดูแลสุขภาพประชาชน เพราะการดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญมากŽ นายวิษณุกล่าว

Advertisement

ประเด็นสุขภาพประชาชนและการดูแลสิ่งแวดล้อม น่าจะทำให้ประชาชนเบาใจไปได้บ้าง โดยตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 สาระสำคัญจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เช่น กำหนดการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ไม่เกิน 30% ของราคาตลาดแร่จากเดิมไม่เกิน 20% กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฝ่าฝืนกฎหมายมีประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มอัตราโทษ 30 เท่าของอัตราโทษเดิม ปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 100 เท่าจากกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับเดิม กำหนดพื้นที่ที่สงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้โดยจะต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่ที่กฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด กำหนดให้มีการแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท และมีการลดภาระในการขอและออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแร่เท่าที่จำเป็น เพื่อกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้เหมาะสมกับการทำเหมืองแร่แต่ละชนิด เป็นต้น

แต่ในมุมเอกชนเองกลับมองว่า หากคำขออนุญาตของเอกชนมีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ข้อติดขัดของความล่าช้ามาจากภาครัฐ อาทิ การรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาต และท้ายที่สุดไม่ได้รับอนุมัติ เอกชนจะต้องเผชิญปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ประเด็นนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่าหากอนุมัติไม่ทันจะให้เอกชนกลับไปดำเนินการเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ใช่การเริ่มใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการทำเพิ่มเติม อาทิ การรับฟังความเห็นจากประชาชนเพิ่มเติม

ขณะที่นายอุตตมระบุว่า ประเด็นการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เร่งรัด หรือล่าช้าแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นเร่งรัด หากทำก็ต้องถูกสื่อมวลชนมองว่าเป็นการปล่อยผี ดังนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน

แม้จะพยายามชี้แจงถึงรายละเอียด แต่ก็มีเอกชนบางกลุ่มร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า มีเอกชนบางรายได้ยื่นขอประทานบัตรมานานแล้ว อาทิ เครือปูนทีพีไอ โพลีน ยื่นมาแล้ว 7 ปี โดยดำเนินงานในส่วนที่บริษัทต้องทำอย่างครบถ้วน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และตอนนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของการใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่หากถูกเลื่อนอนุมัติไป ในกฎหมายใหม่กำหนดให้บรรดาคำขอทุกประเภทที่ยื่นไว้ก่อนหน้านี้ ต้องมีการพิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ใหม่ ต้องทำประชาพิจารณ์และติดประกาศเพิ่มเติม ถือว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและดำเนินการยาก เพราะก่อนหน้านี้เอกชนทุกรายที่ยื่นขอได้ทำตามข้อกำหนดครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ติดตรงที่กระทรวงไม่อนุมัติให้เอง บางเหตุผลก็ทำให้เอกชนเสียเวลา อาทิ เอกสารวรรคคำไม่ถูกต้อง

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า การยื่นขอประทานบัตรใหม่และยื่นต่ออายุอยู่หลายราย และยังไม่ได้รับการอนุมัติ ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องกักตุนวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำเหมืองและสินค้าเอาไว้บางส่วน เพื่อลดความเสี่ยง หากในอนาคต

ไม่สามารถดำเนินการทำเหมืองได้ต่อเนื่อง จะไม่มีสินค้าให้กับลูกค้า ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม โดยเห็นว่าหากยังไม่มีการอนุมัติในระยะอันใกล้นี้ อาจจะผลักภาระต้นทุนดังกล่าวไปยังประชาชน ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้น โดยเฉพาะปูนซีเมนต์

เป็นความโกลาหลที่ต้องมาติดตามอีกครั้งว่า วันที่ 29 สิงหาคม เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีเอกชนที่ต้องผิดหวังวืดใบอนุญาตกี่ราย และเขาเหล่านี้จะเดินเกมต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image