อวสานนโยบายราคาสินค้าเกษตร : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาคดีการซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลกับรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี มีคำพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นอดีต รมว.พาณิชย์มีความผิด มีโทษ
จำคุกร่วมกับข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนอีกคดีหนึ่งนั้น ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปจากวันที่ 25 สิงหาคม เป็นวันที่ 27 กันยายน

คำพิพากษาแม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นเรื่องการยกระดับราคาข้าวให้สูงกว่าราคาตลาดประมาณ 50% คือจากราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 8,500 บาท เป็น 15,000 บาท โดยการที่รัฐบาลรับจำนำในราคา 15,000 บาท/ตัน ทุกเมล็ด ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ ชาวนาและโรงสีที่สามารถขายข้าวเปลือกได้ในราคาดังกล่าวมีเพียงบางโรงสีที่มีเส้นสายทางการเมืองเท่านั้น

การอ่านคำพิพากษาดังกล่าวเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการพาดหัวข่าวในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวออนไลน์ทั่วโลก เพราะเป็นคดีที่คาดว่าน่าจะคาบเกี่ยวกับ “การเมือง” เพราะเหตุว่าเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่อาจจะร้องขอไปยังประเทศที่จำเลยพำนักอยู่ให้ส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ กรณีจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ต้องเป็นคดีอาญาปกติ ที่กฎหมายในประเทศที่จำเลยพำนักอยู่ว่ามีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอาญาเช่นกัน ความสนใจของผู้คนจึงมุ่งแต่ประเด็นทางกฎหมาย ไม่มีใครสนใจประเด็นความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของนโยบายประกันราคา พยุงราคา หรือยกระดับราคา เช่น นโยบายจำนำข้าว ว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน อย่างไร ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมากกว่าในแง่นโยบายสาธารณะ

การยกระดับราคาสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ ที่ประเทศไทยผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ เป็นนโยบายที่มีเหตุผลทางการเมือง ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพราะสินค้าเหล่านี้มีราคาที่ต้องเป็นไปตามราคาตลาดโลก ราคาสินค้าประเภทนี้รวมไปถึงราคาเนื้อสัตว์ เช่น ราคาไก่ ราคาสุกร ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่เช่นประเทศไทยและผู้นำเข้ารายใหญ่เช่นยุโรป ไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้

Advertisement

แต่ประเทศผู้นำเข้าสุทธิอาจจะสามารถกำหนดราคาสินค้าดังกล่าวสำหรับตลาดภายในประเทศได้

สําหรับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิอย่างประเทศไทย ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ถูกกำหนดโดยราคาตลาดโลก นโยบายประกันราคาก็ดี พยุงราคาก็ดี ราคาจำนำก็ดี ไม่มีทางประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะประกาศรับซื้อสินค้าดังกล่าวทั้งหมดก็ตาม กรณีโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดเป็นตัวอย่างอันดี

หลายกรณีเช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปริมาณสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดโลกมีปริมาณเพียง 10-15% ของปริมาณการผลิต จีนและอินเดียเป็นประเทศที่ผลิตข้าวมากที่สุดในโลก แต่บริโภคภายในประเทศเสียหมด ไม่เหลือออกมาขายในตลาดโลกมากนัก

Advertisement

ธัญพืชหลายอย่างสามารถบริโภคทดแทนกันได้ เช่น จีน อินเดีย ยุโรป หรือแม้แต่อเมริกาก็สามารถปรับเปลี่ยนของสัดส่วนระหว่างการบริโภคแป้งจากข้าวสาลีมาเป็นแป้งจากข้าว หรือแป้งจากข้าวโพดเป็นแป้งจากข้าวสาลีได้ หากราคาเปรียบเทียบระหว่างข้าวกับข้าวสาลีเปลี่ยนไป เช่น ราคาข้าวแพงขึ้นก็หันไปบริโภคหมั่นโถว หรือหมี่มากขึ้นและรับประทานข้าวน้อยลง เป็นต้น แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่เพียงรายเดียว ผู้ผลิตมันสำปะหลังก็ไม่สามารถกำหนดราคามันสำปะหลังในตลาดโลกได้ เพราะมันสำปะหลังสามารถทดแทนได้ด้วยแป้งจากธัญพืชอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากเราไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้แล้ว เราก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาตลาดภายในประเทศได้ด้วย รัฐบาลนั้นสามารถทำให้ราคาตลาดภายในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลกได้ แต่จะทำให้ราคาภายในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลกไม่ได้ เราเป็นผู้รับราคาตลาดโลก ไม่ใช่ผู้ทำราคาตลาดโลก เป็น “price taker” ไม่ใช่ “price maker”

นอกจากในทางทฤษฎีที่เราไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกได้ เป็นได้แต่เพียงผู้รับราคาตลาดโลกแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ในทางปฏิบัติที่เราไม่อาจจะกำหนดราคาตลาดภายในประเทศได้

ถ้าหากราคาสินค้าเกษตรอย่างข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์มของเราสูงกว่าราคาในประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้สินค้าชนิดเดียวกันจากเพื่อนบ้านลักลอบไหลเข้ามาสวมรอยขาย หรือเอามาจำนำกับโครงการของรัฐบาลไทย เพราะประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และทะเล เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ไม่มีทางจะป้องกันการไหลออกไหลเข้าของสินค้าเกษตรที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปรอบๆ ประเทศได้ ไม่เหมือนกรณีสินค้าอุตสาหกรรมที่ควบคุมปริมาณการผลิต การใช้บริโภคในประเทศ และการส่งออกไปนอกประเทศได้ เช่น กรณีน้ำตาลทราย ที่สามารถใช้นโยบาย 30/70 ได้

การจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรของเราสูงกว่าราคาในตลาดเพื่อนบ้าน เราต้องมีระบบข้าราชการที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ซึ่งประเทศเราไม่มี ถ้าราคาข้าวเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน ข้าวจากเพื่อนบ้านชนิดเดียวกันจากกัมพูชาบ้าง พม่าบ้าง ก็จะไหลเข้ามาแทนที่ หรือโรงสีไทยก็ไปตั้งโรงสีที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเอาข้าวประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือแม้แต่เวียดนามส่งออกแทนข้าวไทยเลย ตลาดสินค้าเกษตรจึงเป็นตลาดที่สลับซับซ้อน
มีการแข่งขันสูง มีปริมาณการผลิตสูงกว่าการบริโภค มีสัดส่วนของกำไรหรือ margin บางมาก และอ่อนไหวต่อนโยบายของรัฐบาล

เมื่อนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนไป พฤติกรรมของตลาดก็เปลี่ยนไป แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือราคาซึ่งถูกกำหนดโดยตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ นโยบายราคาสินค้าเกษตรของประเทศไทยจึงประสบความล้มเหลวตลอดในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ ยกเว้นกรณีสับปะรดกระป๋องที่อยู่ในรูปการทำไร่ตามสัญญากับโรงงาน โดยโรงงานผลิตเองส่วนหนึ่ง ซื้อจากเกษตรส่วนหนึ่ง เหมือนกับกรณีสวนป่ายูคาลิปตัส สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ซึ่งประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการก็ใช้วิธีผูกกับการนำเข้า กล่าวคือ ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองต้องซื้อข้าวโพดและถั่วเหลืองภายในประเทศในสัดส่วนที่กำหนด เพื่อให้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองภายในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก

โดยทั่วไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรหลัก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม ที่เราผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ และส่วนหนึ่งต้องอาศัยการส่งออกไปต่างประเทศ ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายทางราคาเพื่อให้สูงกว่าราคาตลาดโลกได้ ทรัพยากรทางการเงินที่ทุ่มลงไปในการประกันราคาก็ดี พยุงราคาก็ดี ผลักดันราคาก็ดี จึงสูญเปล่าไปกับระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส ควรจะเลิกคิดเลิกทำได้แล้ว ควรจะปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามราคาตลาด เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัวปรับต้นทุนและปริมาณการผลิตให้เป็นไปตามกลไกตลาด

เราควรจะหันมาดูแลเกษตรกรในด้านรายได้มากกว่า

การดูแลเกษตรกรในฐานะประชาชนธรรมดา
เหมือนๆ กับประชาชนคนอื่นๆ ที่อยู่นอกภาคเกษตร เพราะเกษตรกรทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าจะยากจน หรือมีรายได้ต่ำกว่าระดับความยากจนเสียหมด เกษตรกรที่อยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ในเขตชลประทาน ก็เป็นเกษตรกรที่มีฐานะดี สามารถปรับตัว
ปรับเปลี่ยนชนิดและปริมาณการผลิตได้ แต่ที่ยังคงปลูกข้าวนาปรังคุณภาพต่ำ 2 ปี 5 ครั้ง ก็เพราะนโยบายที่ตนได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลที่ตนได้ประโยชน์เท่านั้น

ที่แปลกและต้องศึกษาต่อไปก็คือ รัฐบาลชุดนี้เลิกนโยบายราคาข้าวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ราคาข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ก็เป็นไปตามภาวะตลาดโลก แต่ปริมาณการผลิตข้าวและการส่งออกข้าวโดยรวมก็ยังมีปริมาณเท่าๆ เดิม คือ ส่งออกและบริโภคในประเทศประมาณเท่าๆ กัน คือ ประมาณ 9 ล้านตัน รวมแล้วประมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร เมื่อรวมทั้งปลายข้าว รำข้าว และอื่นๆ ก็จะเท่ากับปริมาณการผลิตข้าวเปลือกประมาณ 36-37 ล้านตันข้าวเปลือก ยังไม่ได้ลบข้าวที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะไม่มีตัวเลข ปริมาณผลผลิตจริงๆ ในประเทศน่าจะน้อยกว่านั้น

เมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นจากการดำเนินนโยบายราคาข้าวเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ ราคาข้าวก็ไม่สามารถยกให้สูงกว่าราคาตลาดโลกได้ ก็น่าจะถึงกาลอวสานของ “นโยบายราคา” สินค้าเกษตรอย่างอื่นด้วย

อย่าได้เอากลับมาอีกเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image