สดุดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้วางรากฐาน ประวัติศาสตร์-โบราณคดีไทย

คงไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะพรรนาถึงคุณูปการของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย”

และหนึ่งในคุณูปการที่สำคัญของพระองค์ คือการวางรากฐานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่กลายมาเป็นต้นแบบการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการเรียนการสอนในปัจจุบัน

รวมถึง มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์โดยตรง เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้นำทฤษฎีและแนวคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาใช้ในการศึกษาต่อยอด

Advertisement

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยสาเหตุสำคัญหลายประการ ประการแรก คือ ทรงริเริ่มศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เนื่องจากสิ่งแวดล้อม เข้าใจว่าในวัยเยาว์พระองค์ทรงได้ศึกษากับครูบาอาจารย์ที่เป็นนักปราชญ์ในสมัยโบราณ แล้วพระบิดาก็ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ริเริ่มการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอยู่แล้ว

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ประการที่สอง เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ดังนั้นภารกิจหลักของพระองค์ คือการเดินทางไปตรวจและจัดการบ้านเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้เห็นหลักฐานทางโบราณคดี และแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในดินแดนไทยในขณะนั้น จึงน่าจะเป็นที่มาของความสนพระทัยในการทำงานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพระองค์

“ประวัติศาสตร์ไทยได้เริ่มจากการค้นคว้าของพระองค์เป็นพระองค์แรก พระองค์ทรงวางรากฐานสำคัญมากมาย ประการสำคัญคือการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ตามลำดับ อย่างที่เราได้เรียนกัน เช่น ประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ประวัติศาสตร์สมัยศรีวิชัย ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย และประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการแบ่งยุคสมัยของพระองค์ทั้งสิ้น ตรงนี้เป็นรากฐานสำคัญ”

Advertisement

นอกจากการวางรากฐานดังกล่าวแล้ว ผศ.ดร.ประภัสสร์ยังระบุอีกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ได้ศึกษาเฉพาะแค่ตัวศิลปวัตถุหรือหลักฐานทางโบราณคดีเพียงอย่างเดียว แต่พระองค์ให้ข้อมูลหลักฐานหลายๆ อย่างในการวิเคราะห์ร่วมกันจนกลายเป็นชุดความรู้ขึ้นใหม่ ซึ่งรากฐานการค้นคว้าและเรียนรู้รวมถึงทฤษฎีหลายประการในระบบเริ่มแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับการปูพื้นมาจากทฤษฎีตามแนวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งสิ้น และในช่วงหลังได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ตรงนี้ให้มีความทันสมัยกับโลก และต่อหลักฐานที่ค้นพบมากขึ้น

และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดโครงการ “สดุดีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” เป็นประจำทุกปี

บรรยากาศมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดโครงการ “สดุดีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปีการศึกษา 2560”

ผศ.ดร.ประภัสสร์บอกอีกว่า เนื่องจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงริเริ่มการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยขึ้นมา ด้วยเหตุนี้คณะโบราณคดีซึ่งเป็นคณะที่มีการเรียนการสอนโดยตรงด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมถึงศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจัดงาน “สดุดีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ขึ้นมา เพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ได้ก่อกำเนิดให้เกิดวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทย ซึ่งเรายกย่องท่านเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย

แล้วหากไทยไม่มี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเป็นอย่างไร

ประเด็นนี้ ผศ.ดร.ประภัสสร์ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่านคิดว่าการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยคงเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่รูปแบบของกรมพระยาดำรงในปัจจุบัน แต่เนื้อหาสาระของตัวประวัติศาสตร์ก็น่าจะเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่

เป็นคุณูปการอันทรงคุณค่าของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย

แต่ประวัติศาสตร์ถึงแม้จะเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แต่การศึกษาค้นคว้าก็มีโอกาสที่ทำให้เรื่องราวในอดีตเปลี่ยนแปลงได้

ตลอดเวลา ผศ.ดร.ประภัสสร์บอกว่า ต้องยอมรับว่าทฤษฎีบางอย่างของพระองค์ในปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะเราเจอหลักฐานเพิ่มมากขึ้น เรามีแนวคิดในการวิเคราะห์หลักฐานเพิ่มมากขึ้น

“แต่ต้องบอกเลยว่าการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เพราะสิ่งที่เราศึกษาในปัจจุบันเราเจอหลักฐานอย่างจำกัด แล้วแนวคิดต่างสมัยกันอาจจะทำให้การสร้างองค์ความรู้ต่างไปจากอีกสมัยหนึ่งก็ได้ จึงไม่ได้เรียกว่าผิดหรือถูก แต่เป็นรากฐานที่ต้องมาตรวจสอบและค้นคว้าเพิ่มเติมต่อยอดให้มีความสมบูรณ์”

“ดังนั้นจึงไม่คิดว่าการศึกษาทฤษฎีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเป็นทฤษฎีเดียวที่ช่วยในการสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แต่ก็ถือว่าเป็นแกนหลักที่เราจะใช้ในการพัฒนา ตรวจสอบ ต่อยอดทฤษฎีด้านอื่นๆ ได้ด้วย” ผศ.ดร.ประภัสสร์อธิบาย

ยังได้กล่าวถึงมุมมองประวัติศาสตร์ตามแนวทางของพระองค์ในอนาคตอย่างน่าสนใจ

“ผมมองว่าแนวคิดทฤษฎีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะมีบทบาทกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยต่อไปอีกนาน แต่คงต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่พระองค์ได้สร้างไว้ให้มีการต่อยอดแตกแขนง สมบูรณ์และทันสมัยต่อหลักฐานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน” ผศ.ดร.ประภัสสร์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image