คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : เกาะกง เกาะที่ไม่ใช่เกาะ

จังหวัดเกาะกงของประเทศกัมพูชา เป็นจังหวัดชายแดนที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยและการเมืองไทยมายาวนาน เป็นเส้นทางชายแดนธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งกีดขวางทางภูมิศาสตร์กั้นอย่างเด่นชัด ผู้คนจึงไปมาหาสู่กันได้อย่างง่ายดาย

ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของคนเชื้อสายไทยกลุ่มน้อยในกัมพูชาที่เรียกว่า “ไทยเกาะกง” แต่ว่าคนไทยก็ไม่ค่อยรู้จักถึงดินแดนแห่งนี้เท่าไรนัก

ถึงจะได้ชื่อว่า “เกาะกง” แต่จังหวัดเกาะกงทั้งหมด ไม่ได้มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบแต่อย่างใด

จังหวัดเกาะกงเป็นพื้นดินชายทะเลที่กว้างใหญ่ติดอ่าวไทย มีพื้นที่ 11,160 ตารางกิโลเมตร ติดกับชายแดนไทยด้านจังหวัดตราด

Advertisement

ประกอบด้วย 7 สรก (อำเภอ) ได้แก่ บูตุมสาคร (ปทุมสาคร) คีรีสาคร สมัจเมียนเจ็ย (สมัครมีชัย) ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่ากรุงเขมรักภูมินทร์ มนดลเสมา (มณฑลสีมา) สแรออมปึล (นาเกลือ) ทมอบัง(หินบัง) และเกาะกง (ส่วนที่เป็นเกาะ) โดยพื้นที่อำเภอเมือง คือกรุงเขมรักภูมินทร์นั้นห่างจากชายแดนจังหวัดตราดเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น

เหตุที่เรียกเกาะกงว่าเกาะกง เนื่องจากทางติดต่อเข้าสู่เกาะกงจากทั้งฝั่งประเทศไทยและกัมพูชาต้องผ่านแม่น้ำใหญ่ที่ล้อมรอบ จนมีลักษณะคล้ายเกาะ โดยการสัญจรไปมาหากันจำเป็นต้องลัดเลาะไปตามชายฝั่งหรือตามภูเขาคดเคี้ยว

อย่างไรก็ตาม เส้นทางดังกล่าวก็ยังง่ายกว่าการตัดฝ่าเทือกเขาบรรทัดหรือเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งยังเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่เก่าแก่ในประวัติศาสตร์จากปากน้ำโขงทางตอนใต้ของเวียดนามเข้ามาจนถึงปากน้ำสมุทรปราการของไทยเพื่อทำการค้า

Advertisement

เนื่องจากบริเวณเกาะกงมีอ่าวธรรมชาติที่เหมาะกับการหลบมรสุม และมีพื้นที่เกาะแก่งมากมายให้ทำการประมงและพักอาศัย รวมถึงเกาะขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเกาะกงเช่นกัน เมื่อกล่าวถึงเกาะกงจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่า เป็นพื้นที่จังหวัด หรือเกาะในทะเล

ด้วยปัจจัยทางกายภาพชายแดนทำให้เกาะกงเป็นหนึ่งในหน้าด่านการค้ากับประเทศไทย และยังเป็นเมืองท่าสำคัญของกัมพูชาในการนำเข้าและส่งออกสินค้าต่างๆ โดยท่าเรือเกาะกงเป็นหนึ่งในสามท่าเรือสำคัญของกัมพูชา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอมณฑลสีมาหรือปากคลอง เป็นที่รับส่งสินค้าที่มาจากประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ท่าเรือเกาะกงนี้เดิมเป็นท่าเรือเก่าขนาดเล็ก แต่ภายหลังการเปิดประเทศและสิ้นสุดสงครามกลางเมือง ท่าเรือเกาะกงได้รับการพัฒนาพร้อมกับการตัดถนนและสะพานเชื่อมจังหวัดเกาะกงกับกรุงพนมเปญ ทำให้เกาะกงทวีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการขนส่งเป็นอย่างมาก บริเวณเขตสมัจเมียนเจ็ย (กรุงเขมรักภูมินทร์) ได้รับการพัฒนา มีสนามบินและย่านการค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยการค้าสำคัญที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะกงคือการนำเข้าสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง สุรา ยาสูบ อาหารสำเร็จรูปและวัตถุดิบปรุงแต่งอาหาร นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือขนาดเล็กในอำเภอสแรออมปึล และโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่เพิ่มเติมในบริเวณอำเภอคีรีสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทของจีนในการลงทุน ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้เกาะกงเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนารวดเร็วถึง 16% ต่อปี และดึงดูดทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และแรงงานจากทั่วทั้งกัมพูชาเข้ามา

การพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเป็นเมืองชายแดนที่มีการหมุนเวียนของสินค้าและผู้คนไปมาจำนวนมาก ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของจังหวัดเกาะกงค่อนข้างหย่อนยานและมีอัตราการคอร์รัปชั่นสูง ยิ่งเมื่อประกอบกับการบริหารของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฮุนเซ็นที่มีลักษณะเป็นเครือญาติและพวกพ้องนิยม ยิ่งทำให้เกาะกงกลายเป็นดินแดนที่เส้นแบ่งของกฎหมายลางเลือน

การลักลอบค้าสินค้าหนีภาษี ค้ามนุษย์ ยาเสพติด การพนัน และการหลบหนีคดีจากทั้งฝั่งไทย กัมพูชา หรือประเทศอื่นทางทะเล เป็นไปได้ง่ายหากมีเงินเพียงพอไม่ต่างจากดินแดนไร้กฎหมายในภาพยนตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image