บิ๊กตู่ลั่น เดินหน้าประเทศสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’ ชี้ ต่อไปนี้จะไม่ต้องกลัวฉกชิงวิ่งราว

วันนี้ (1 กันยายน) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการ’ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ช่วงหนึ่ง ระบุว่า

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินการในหลายมิติพร้อมๆ กัน ทั้งการสนับสนุนการใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ของพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ไม่ต้องถือเงินสด ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอน หรือเงินหล่นหาย ในขณะเดียวกัน ก็ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบในภาพรวม โดยมีการวางมาตรฐานความปลอดภัย ให้ทั่วถึง และเป็นธรรมด้วย

ซึ่งหากพี่น้องประชาชน และภาคธุรกิจ หันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้บัตรเดบิต หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านทางโทรศัพท์มากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ก็จะปรับตัว ให้รองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ หรือใช้บัตรมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว ในการซื้อขายสินค้าบริการ หรือโอนเงินแล้ว ยังจะช่วยลดการใช้เงินสดในระบบ ที่เป็นต้นทุนลงได้ด้วยนะครับ

คำถามคือ ทำไมเราถึงควรใช้ “เงินสด” ให้น้อยลง มันมีข้อดีอย่างไร แล้ว cashless society หรือ “สังคมไร้เงินสด” คืออะไร เราจำเป็นต้องปรับตัวไปสู่สิ่งนั้น หรือไม่ ประการแรกก็คือ พี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่ต้องพกเงินสดไปไหนมาไหน โดยเฉพาะถ้าต้องไปซื้อสินค้าราคาสูงๆ ก็ไม่ต้องขนเงินไปมากมาย ไม่ต้องกลัวถูกฉกชิงวิ่งราว หรือการซื้อของทั่วไป ก็ไม่ต้องกังวลไม่ต้องไปกด ATM หรือผู้ขายก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการทอนเงิน และการทำธุรกรรม หรือการซื้อขาย ก็คล่องตัวขึ้น ใช้เวลาน้อยลง อีกประการหนึ่ง เราต้องมองในภาพรวม “มหภาค” ในการบริหารจัดการเงินสดที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งในแต่ละปี มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่การผลิต, การนับคัดธนบัตร หรือหมุนเวียนธนบัตรเก่าออกจากระบบ และใส่ธนบัตรใหม่ในระบบ เพื่อให้พ่อแม่พี่น้องทุกท่านมีธนบัตรที่มีคุณภาพใหม่ ไว้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการขนส่งที่ต้องมีการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด

Advertisement

นอกจากนี้ การที่ต้องมีเงินสดค้างไว้ในตู้ATM ครั้งละมากๆ ก็จะถือเป็นต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่ได้มีดอกเบี้ย กองไว้เฉยๆ และยังต้องดูแลความปลอดภัยอีกด้วยนะครับดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้การชำระเงินของประเทศ มีความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำแผน National e-Payment ของประเทศขึ้น โดยได้รับความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สะดวก ประหยัด ปลอดภัย และเป็นธรรม มีการดำเนินงานแบ่งเป็นโครงการต่างๆ ได้แก่…

1. “โครงการพร้อมเพย์” เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ “ไม่ใช้การ์ด” เพราะเป็นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือระบบอินเตอร์เน็ต สนับสนุนให้การโอนเงินระหว่างพี่น้องประชาชน หรือการโอนชำระค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้า ทำได้สะดวกและมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนที่ถูกลงมาก เช่น ถ้าโอนไม่เกิน 5,000 บาท ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมเลยนะครับ โดยพี่น้องประชาชน หรือร้านค้ารายย่อย สามารถผูกหมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขประจำตัวประชาชน ผู้ประกอบการก็สามารถผูกหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลไว้กับบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะสะดวกกับผู้ที่จะโอนเงินให้เรา ไม่ว่าจะโอนจากธนาคารใด หากโอนเข้าในบัญชีที่ผูกพันกับระบบพร้อมเพย์ไว้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงมาก ดังนั้น จริงๆ คนที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ คงเรียกได้ว่า “พร้อมรับ” การโอนเงินนั่นเอง ที่ผ่านมา ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจลงทะเบียนพร้อมเพย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติล่าสุดมีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วถึง 32 ล้านเลขหมาย และมีการโอนเงินสะสมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว หากท่านสนใจ สามารถติดต่อสอบถามที่ธนาคารพาณิชย์สาขาต่างๆ ได้โดยตรง หรือสอบถามข้อมูลที่ศูนย์บริการให้ความรู้ทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่หมายเลข 1213 ได้นะครับ ท่านที่ยังลังเลเพราะกังวลว่าการสมัครพร้อมเพย์ อาจทำให้รัฐบาลมาตรวจสอบการโอนเงิน หรือการชำระภาษี มันคงเป็นคนละเรื่องกันนะครับ เพราะหากภาครัฐต้องการจะตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้ ก็สามารถทำได้อยู่แล้วในระบบการโอนเงินแบบเดิมครับ

และ 2. การใช้เครดิตการ์ด หรือเดบิตการ์ด ซึ่งภายใต้โครงการ National e-Payment นี้ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการขยายการรับบัตรเครดิต และบัตรเดบิตออกไปในวงกว้างขึ้น โดยมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรให้กับร้านค้าและสถานที่ราชการ เพื่อให้บริการกับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ยังผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนให้บัตร ATM และบัตรเดบิต มาเป็น “แบบ chip card”ทั้งหมดภายในปี 2562 เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของการใช้บัตรด้วย เป็นทางเลือกใช้บริการ ที่กว้างขวางมากขึ้น ตามความสะดวก ตรงกับความต้องการ อีกทั้งการติดตั้งเครื่องรูดบัตรให้ขยายออกไปทั่วทุกพื้นที่ ของประเทศนี้ จะสอดรับกับนโยบายการใช้ “บัตรสวัสดิการของภาครัฐ” เพื่อให้กลุ่มประชาชนฐานรากสามารถนำมาใช้ซื้อสินค้า และบริการตามที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยในระยะต่อไป ก็สามารถเชื่อมต่อกับ “ระบบตั๋วร่วม” ได้ ชีวิตประจำวันของท่านก็จะสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วยนะครับ

ระยะแรก หากมีปัญหาอยู่บ้างก็คงจะต้องแก้ปัญหากันด้วยนะครับ เราไม่เคยทำลักษณะอย่างนี้นะครับ เป็นการพัฒนาเอาเทคโนโลยีมาใช้ มีการใช้ระบบดิจิตอลเข้ามานะครับ ซึ่งอันนี้เป็นการเดินหน้าประเทศไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 นะครับ ต้องช่วยกัน อย่าเพิ่งติติงอะไรกันมากนักนะครับ เพราะเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรมานานแล้ว การเปลี่ยนแปลง แน่นอน มันอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง หรือไม่มีเลยก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image