นักวิชาการแนะสร้างความเข้าใจ แก้ปัญหารับน้องใช้ความรุนแรง เชื่อถ้าอาจารย์ดูแลใกล้ชิด ปัญหาไม่เกิด

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา(มร.สส.) ลงโทษนักศึกษารุ่นพี่สาขาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ใช้ความรุนแรงในการรับน้องโดยสั่งลงโทษด้วยการพักการเรียนแก่นักศึกษาชายรุ่นพี่ที่เตะรุ่นน้อง เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา ส่วนที่เหลืออีก 15 คนสั่งลงโทษพักการเรียนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน ท่ามกลางความรู้สึกของรุ่นน้องที่มองว่าการรับน้องที่รุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้นั้นว่า ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนไปแล้ว เราจึงพบเห็นการใช้ความรุนแรงในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการรับน้อง และการที่เด็กยอมรับการรับน้องที่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นเรื่องปกตินั้น เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก สังคมควรตระหนักถึงปัญหาและหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังได้แล้ว ไม่ควรปล่อยไปตามยถากรรมหรือค่อยแก้ไขเป็นรายกรณี โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ควรหยิบปัญหาการรับน้องมาเป็นนโยบายสำคัญในการแก้ไข เพราะแต่ละปีเราก็รู้ว่าจะเกิดปัญหา

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียแพร่หลาย มหาวิทยาลัยหวั่นกระทบต่อภาพพจน์ จึงใช้ระเบียบกฎเกณฑ์มาแก้ไขปัญหาโดยลงโทษอย่างเด็ดขาดเพื่อจำกัดขอบเขตโดยเร็ว ตนมองว่าตึงเกินไป การลงโทษพักการเรียน 1 ปีการศึกษา ตนมองว่ารุนแรงเกินไป ตนไม่เห็นด้วยกับการนำระเบียบกฎเกณฑ์มาใช้ แต่ควรเข้าใจเด็กวัยนี้และสร้างความเข้าใจในเรื่องการรับน้องเพื่อให้เด็กเข้าใจแก่นแท้ว่าการรับน้องคืออะไร ถ้าเด็กเข้าใจแก่นแท้ เชื่อว่าปัญหาการรับน้องที่ใช้ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะไม่เกิดขึ้น ตรงข้ามการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาจะยิ่งทำให้กิจกรรมรับน้องซับซ้อนในแต่ละปีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งยากต่อการแก้ไข

นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ถ้าคณะ/สาขา/อาจารย์เข้ามาดูแล ปลูกฝังกิจกรรมรับน้องและมีส่วนร่วมในกิจกรรมรับน้อง ปัญหาการรับน้องที่ไม่เหมาะสมก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าไปดูแล การรับน้องอย่างไม่เหมาะสมก็จะเกิดขึ้นแบบนี้ เพราะรุ่นพี่จะสืบทอดสิ่งที่เคยถูกกระทำมากับรุ่นน้อง ส่วนการลงโทษ มองว่าคณะ/สาขา/อาจารย์ควรต้องมีส่วนรับผิดชอบ ที่ผ่านมาสกอ.กวดขันและกำกับผ่านมาทางสภามหาวิทยาลัย แต่ที่เป็นปัญหาเพราะอาจารย์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการรับน้องหรือไม่ มาตรการการลงโทษควรต้องไล่จากเบาไปหนัก ในส่วนของนักศึกษา คงต้องมองเจตนา ต้องดูว่าเคยได้รับการแจ้งเตือนมาก่อนหรือไม่ ถ้าได้รับการแจ้งเตือนแล้วแต่ยังคงใช้ความรุนแรง ก็คงต้องใช้มาตรการเด็ดขาดในการลงโทษ แต่ถ้าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความคึกคะนอง การลงโทษก็อาจจะเป็นอีกลักษณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image