เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’

แฟ้มภาพ

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่ 4288-4289/2560 ศาลฎีกา วันที่ 26 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2560

ความอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสมร ไหมทอง ที่ 1 นางหนูชิต คำกอง ที่ 2 โจทก์ร่วม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลย

Advertisement

เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อชีวิต พยายาม

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลย

Advertisement

เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อชีวิต พยายาม

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 21 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2558

ศาลฎีกา รับวันที่ 3 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นใจความว่า กรณีสืบเนื่องจากมีการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนที่เรียกตนเองว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหารและมีข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยอ้างความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมที่แต่งตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจัดตั้งรัฐบาลโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงมีการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ยุบสภาหรือลาออก ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2553 จำเลยที่ 1 ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 จากนั้นวันที่ 7 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1 อาศัยอำนาจตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ขึ้น มีจำเลยที่ 2 รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กำกับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการส่วนราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

และวันที่ 18 เมษายน 2553 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. มีคำสั่งอนุมัติตามหนังสือ ลับ-ด่วนมาก สยก.ศอฉ.ที่ กห 0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ 17 เมษายน 2553 ให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริง ตลอดจนมีการใช้พลแม่นปืนในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งปรากฏตามกระดาษเขียนข่าวลับ-ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/148 ให้ ศอฉ.ควบคุมการคมนาคมที่มุ่งเข้าพื้นที่สีลม จัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุม ให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาด โดยทำเครื่องหมายหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ รวมทั้งกำหนดให้ใช้อาวุธปืนประจำกายได้กรณีจำเป็นเมื่อมีการบุกรุกแนวห้ามผ่านเด็ดขาด ครั้นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตามกระดาษเขียนข่าวลับ-ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/717 ให้ ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อม สกัดกั้นเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่เวลา 3 นาฬิกา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการปิดล้อมสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่อง กลุ่มผู้ชุมนุมตามแนวถนนราชปรารถ ถนนเพชรบุรี ถนนพญาไท ถนนศรีอยุธยา และ ถนนราชวิถี โดยให้เข้าปฏิบัติการตั้งแต่เวลากลางคืนต่อเนื่องจนถึงเช้า

ซึ่งตามหลักปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชนและปราบจลาจลนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริง โดยขั้นตอนของการใช้กำลังจะมีเพียงการใช้แก๊สน้ำตาและปืนลูกซองกระสุนยางเท่านั้น โดยในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองโดยเจตนาฆ่าผู้ชุมนุมได้ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการใช้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ เข้าปฏิบัติการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุมกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริงมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชน โดยจำเลยทั้งสองประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองข้างต้นในวัน เวลา และสถานที่ต่างๆ กัน ตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงฟ้องข้อ 2.17 เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายทั้งสิ้น 93 คน รวมทั้งนายพัน คำกอง ด้วย และเป็นเหตุให้นายสมร ไหมทอง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายสมรที่บริเวณด้านหลังขวาใต้สะบัก ไม่ถึงแก่ความตายเนื่องจากแพทย์ทำการรักษาได้ทัน แต่ทำให้ได้รับอันตรายสาหัสด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เหตุเกิดที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน แขวงดุสิต เขตดุสิต แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี แขวงตลาดยอด แขวงวัดโสมนัส แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และในหลายท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 288

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายสมร ไหมทอง ผู้เสียหาย และนางหนูชิต คำกอง ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพัน คำกอง ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีแรก ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายสมรว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกนางหนูชิตว่า โจทก์ร่วมที่ 2

ก่อนสืบพยานจำเลยทั้งสองต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ โดยผู้ที่มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การสอบสวนที่กระทำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

โจทก์คัดค้านว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีฆาตกรรม มิได้ฟ้องว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอันจะอยู่ในอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นอกจากนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่โจทก์ฟ้องยังเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่อีกด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์และให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ของศาลชั้นต้น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 (1) ตรวจสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ของศาลชั้นต้น ทั้งสองคดีแล้วทำความเห็นแย้ง ไม่เห็นชอบกับคำพิพากษาทั้งสองสำนวนดังกล่าว

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.17 และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ 3 เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏตามกระดาษเขียนข่าว ลับ-ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/148 ที่ให้ ศอฉ.ดำเนินการควบคุมการคมนาคมที่มุ่งเข้าสู่พื้นที่สีลมและมีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้ชุมนุมและให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่านเด็ดขาดและให้ทำเครื่องหมายหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมที่มากดดันทราบ รวมทั้งกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนประจำกายได้กรณีจำเป็นเมื่อมีการบุกรุกแนวห้ามผ่านเด็ดขาด ทั้งนี้ โดยก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.มีคำสั่งอนุมัติไว้ในท้ายหนังสือลับ-ด่วนมาก สยก.ศอฉ. ที่ กห 0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ 17 เมษายน 2553 ให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ. สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงตลอดจนให้ใช้พลแม่นปืนในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งปรากฏตามกระดาษเขียนข่าวลับ-ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.45/717 ให้ ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 3 นาฬิกา โดยให้เข้าปฏิบัติการต่อเนื่องในเวลากลางคืนต่อเนื่องจนถึงเช้า

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาทำนองเดียวกันความว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นเพียงบรรยายให้ปรากฏที่มาของการร่วมกันก่อด้วยการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและเป็นคดีฆาตกรรมที่อยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีประเภทนี้ มิใช่อยู่ในอำนาจพิจารณาและไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) และโจทก์ร่วมทั้งสองมีอำนาจฟ้องเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ส่วนมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ให้ข้อกล่าวหาที่กล่าวหาจำเลยทั้งสองตกไปเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้นโดยไม่ได้ทำการไต่สวนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84 และ 288 ของทั้งสองสำนวนนี้ จึงแตกต่างกับฟ้องของโจทก์ข้อ 2.5 ถึง 2.15 ที่มีประชาชนไม่มีอาวุธถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตจำนวนมาก

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะอ้างว่าเป็นการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนได้อย่างไร เมื่อจำเลยทั้งสองยังใช้คำสั่งให้ใช้อาวุธปืนอีกแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ดังนั้น หากศาลอาญาไม่มีอำนาจรับพิจารณาคดีนี้และยังไม่ได้สืบพยานเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงเท่ากับว่า คดีฆาตกรรมที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟ้องนั้นไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาในศาลใดๆ ได้อีกนั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จากนั้น อาศัยอำนาจตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินมีจำเลยที่ 2 รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ การออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยอาวุธที่ใช้ในราชการสงครามเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายหลายคนและรับอันตรายสาหัส มาเป็นเหตุกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84 และ 288 แสดงว่าการกระทำที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดเกิดขึ้นจากการออกคำสั่งบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขณะที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามลำดับ

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว จึงเป็นการดำเนินคดีแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีที่นายกรัฐมนตรีกับข้าราชการการเมืองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับตามฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองในทั้งสองสำนวนที่กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีประเภทนี้ไว้โดยเฉพาะแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป

โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากมีมติว่ากรณีมีมูลให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงาน เอกสารและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีหรือหากไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีกับอัยการสูงสุดภายในกำหนดเวลา

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีอำนาจยื่นฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีและให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับพิจารณาพิพากษาคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้รับพิจารณาพิพากษาข้อความผิดบทอื่นตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 และ 84 ไว้ด้วยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 250 (2) และ 275 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2), 66 วรรคหนึ่ง, 70 กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11 และ 24 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 กำหนดให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนและได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้วเสนอความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง หลังจากนั้น ส่งสำนวนให้แก่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการโดยอัยการสูงสุดออกคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย เพราะเป็นคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตายต่อศาลอาญา กระบวนการสอบสวนและสั่งฟ้องคดีนี้จึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เมื่อคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนนี้ ปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ

อาญา มาตรา 15 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเหตุ : ศาลอ่านคำพิพากษานี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image