กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ออกแบบความตาย สร้าง ‘พินัยกรรมชีวิต’ เพื่อความสุขสุดท้าย

เมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตมาถึง จะมีสักกี่คนที่เข้าใจความตาย และเข้าใจความต้องการของคนใกล้ตาย และจะดีแค่ไหนหากสามารถเลือกและออกแบบช่วงชีวิตสุดท้ายของตัวเอง ได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข

การวางแผนชีวิตด้วย “พินัยกรรมชีวิต” หรือ “Living Will” จึงเป็นทางใหม่ที่จะสร้างความสวยงามกับการจากไป

ด้วยการวางแผนในช่วงวาระสุดท้าย ผ่านหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อการยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ตาม ม.12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นผู้หนึ่งที่พยายามเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและผลักดันให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้

Advertisement

“พินัยกรรมชีวิต ไม่ใช่การปฏิเสธการรักษา แต่เป็นหนังสือหรือเอกสารที่แสดงความปรารถนาหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารกับบุคคลในครอบครัว บุคคลที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย การจัดงานศพ หรืออาจจะเป็นคำสั่งเสีย คำขอสุดท้ายของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความกังวลและยอมรับความตายแล้วจากไปอย่างสงบ” 

กิติพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2498 ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นบุตรคนที่ 6 จากพี่น้อง 7 คน ของ คุณพ่ออุยคุนติ้ว กับคนแม่เง่ายี่จิ้น ตอนเด็กหมอดูทำนายว่าเป็นเด็กดวงแข็งต้องยกให้คนอื่นดูแล จึงได้รับการเลี้ยงดูจาก คุณพ่ออุระ และคุณแม่ชนะ วิริโยทัย เมื่อโตขึ้นก็กลับไปมาระหว่าง 2 บ้าน เรียกว่าบ้านไทยและบ้านจีน

กิติพงศ์ จบชั้นประถมปีที่ 7 จากโรงเรียนวชิรศึกษา และเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเบตง วีระราษฎร์ประสาน ตอนนั้นพี่ชายให้สัญญาว่าถ้าสอบได้ที่ 1 จะพามาเรียนที่กรุงเทพฯ พอ ม.2 เขาสอบได้ที่ 1 จึงได้ย้ายมาเรียนชั้น ม.3 แผนกวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

หลังสอบได้เนติบัณฑิต ได้สมัครอัยการและผู้พิพากษา แต่สอบไม่ได้ จึงเข้าทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หลังเรียนจบนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาฯ แต่งงานและได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

กิติพงศ์ และวิภา อุรพีพัฒนพงศ์ มีบุตรด้วยกัน 2 คนคือ ศรมณ และ พนธกร อุรพีพัฒนพงศ์

ปัจจุบัน กิติพงศ์เป็นประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

นอกจากประสบการณ์การทำงานมากมาย ทั้งด้านกฎหมายและด้านธุรกิจ ยังมีผลงานเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม และมีงานบรรยายพิเศษในสถาบันต่างๆ รวมถึงการบรรยายพิเศษเรื่อง “พินัยกรรมชีวิต”

“เพื่อสร้างความเข้าใจและความสุขในวาระสุดท้าย”

-สนใจเรื่องความตายและช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตได้อย่างไร?

จุดเปลี่ยนคือเมื่อประมาณ 11 ปีก่อน ภรรยาผมไม่สบาย ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ แต่หมอบอกว่าเป็นระยะแรกไม่ร้ายแรง ประมาณ 2 ปีกว่าก็ไปตรวจอีกครั้งปรากฏว่าค่าเลือดสูงขึ้น และเซลล์มะเร็งย้ายไปที่หน้าท้อง ครั้งนี้หมอบอกว่าต้องให้คีโมแรงแล้ว

เหตุการณ์นี้เป็นที่มาที่ทำให้เราไปอบรมปฏิบัติมรณานุสติกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แล้วก็ไปเจอกับ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ไปอบรมอยู่ประมาณ 6-7 วัน มีฝึกซ้อมการตายทำให้เราเริ่มตระหนักรู้ว่าถ้าเราจะตายเราจะตายยังไง

ขณะเดียวกันก็รักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก แต่พอไปตรวจอีกพบเซลล์มะเร็งกระจายไปอีกก็ตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลในกวางเจา ประเทศจีน เกือบ 4 ปีก็ไม่มีท่าทีว่าเชื้อมะเร็งจะกลับมาแต่พอขึ้นปีที่ 4 เชื้อมะเร็งกลับมาอีก ครั้งนี้รุนแรงมาก ตอนนั้นรู้ว่าแย่แล้วการรักษาก็เพื่อยืดเวลา หมอบอกว่าเหลือเวลาอีกประมาณ 2-3 ปี แต่เราก็มีความหวังลึกๆ ว่าคงยังไม่ไปเร็ว หมอที่ไหนที่บอกว่าดี หรือยาตัวไหนที่ดี ก็ฉีดเข้าไปทำทุกอย่าง ตลอดเวลา 11 ปี ดูแลเขาอย่างดีอยากไปไหนก็พาไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ทำคือไม่ได้คุยว่า เขาอยากทำอะไร

– ได้ทำพินัยกรรมชีวิตหรือเปล่า?

ตอนที่มีอาการรุนแรง กระทั่งไม่รักษาไม่ทำคีโมแล้ว ก็มีการทำพินัยกรรมชีวิต แต่ก็ยังไม่คิดว่าเขาจะไปเร็ว แล้วลูกสาวกำลังจะจบปริญญาโทเหลืออีก 1 เทอม ตอนแรกก็บอกให้เขากลับไปเรียนต่อถ้ามีอะไรจะเรียกกลับมา แต่ลูกสาวบอกว่า หนังสือหนูเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าหนูไม่ได้ดูแม่หนูจะเสียใจไปตลอดชีวิต เขาเลยอยู่ช่วยดูแลแม่ พอคืนวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ภรรยาผมเริ่มหายใจไม่ดี แล้วในพินัยกรรมชีวิตเราก็บอกแล้วว่าไม่ปั๊มท่อ ไม่เจาะคอ จนเช้าวันอังคารเขาก็เสียชีวิต

ถามว่าเสียใจไหม ก็เสียใจแต่ก็ทำใจไว้บ้างแล้ว แต่เรื่องที่น่าเสียดายคือ เราไม่ได้คุยกับเขา ไม่ได้สื่อสาร เราไม่เข้าใจเรื่องนี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เตรียมไว้คือตอนที่ภรรยาเสีย ส่งไลน์บอกเพื่อนเรื่องงานศพแต่ลืมคิดเรื่องพวงหรีด คือผมมองว่าพวงหรีดเป็นความสูญเปล่าอย่างยวดยิ่ง ในงานศพภรรยาผม 5 วัน ได้พวงหรีด 700 อัน ถ้าลองคิดเป็นเงินอันละประมาณ 2,000 บาท ก็เป็นเงินล้านกว่าบาทแล้ว ผมว่าผ้าห่มแบบงานของคนจีนฉลาดที่สุดเพราะเป็นของที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้

– รูปแบบและแนวทางการทำพินัยกรรมชีวิตเป็นอย่างไร?

พินัยกรรมชีวิต ตามกฎหมายคือหนังสือปฏิเสธการรับการรักษาเพียงเพื่อประคองอาการเท่านั้น สามารถทำหนังสือด้วยการเขียนหรือพิมพ์ ซึ่งทางราชการได้เผยแพร่ตัวอย่างหนังสือไว้หลายที่ รวมถึงเว็บไซต์ thailivingwill.in.th โดยพินัยกรรมชีวิตจะมีการระบุรายละเอียดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษา การจัดงานศพ เช่น เมื่อข้าพเจ้าตกอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเมื่อข้าพเจ้าทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธการรักษาดังนี้ การเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง การเข้ารักษาในห้องไอซียู กระบวนการฟื้นคืนชีพเมื่อหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น

– เริ่มสนใจเรื่องพินัยกรรมชีวิตอย่างจริงจังจนเป็นวิทยากรได้อย่างไร?

หลังงานศพภรรยาผมได้เงินก้อนหนึ่งประมาณล้านกว่าบาท ก็ได้หาเงินเพิ่มเติมบริจาคเข้ากองทุนชีวาภิบาล ของศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และก็ได้คุยกับคุณหญิงจำนงศรี ซึ่งทำเรื่องนี้อยู่มีจัดอบรมให้กับคนป่วยและคนไม่ป่วย เขาให้ผมขึ้นพูดในฐานะผู้สูญเสียภรรยา แล้ววันหนึ่งคุณหญิงจำนงศรีบอกว่าอยากทำมูลนิธิเรื่องนี้ก็ขอให้ช่วย แต่ผมแนะนำให้ทำเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมดีกว่า จึงเป็นที่มาของชีวามิตร

– จุดประสงค์ของการก่อตั้งชีวามิตร?

อยากให้เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยจะจัดอบรมให้ความรู้กับประชาชน ทั้งหมอ ทั้งญาติผู้ป่วย ในการวางแผนและดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ดี เพราะเป็นเรื่องที่มีผลสะเทือนกับคนป่วย ญาติคนป่วย คนรอบข้าง เศรษฐกิจในครอบครัว เพราะเงินทองที่ต้องรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ไม่รู้สึกตัวแล้ว ไม่สามารถรักษาหายได้แล้วมันเป็นความสูญเปล่า ช่วงเวลาสุดท้ายที่เหลืออยู่นี้มาสื่อสารกัน เขาอยากทำอะไรก็ให้ทำ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย

ยังมีประเด็นทางกฎหมายที่ควรอนุโลมให้ผู้ป่วยกลับมารักษาหรือใช้เวลาช่วงสุดท้ายที่บ้านได้ อย่างผู้ป่วยโรคมะเร็ง คุณสามารถมาฉีดมอร์ฟีนที่บ้านแทนจะมาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีการวิจัยว่าการกลับมาที่บ้านโอกาสหายมากกว่าเพราะมีกำลังใจมากกว่าอยู่ที่โรงพยาบาลที่ตื่นมาแล้วเจอสายระโยงระยาง

– การบริหารงานของชีวามิตร?

ผมตั้งใจระดมทุนให้คนมาถือหุ้นโดยไม่แบ่งผลกำไร จากบุคคล หน่วยงาน หรือบริษัทที่อยากทำซีเอสอาร์มาถือหุ้น แล้วนำเงินที่ได้มาลงทุนให้ออกดอกออกผล มาใช้เวียนทำวิจัย จัดเทรนนิ่ง ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ หรือมีใครอยากช่วยเหลือสังคมเราจะเป็นตัวกลางไปช่วย เช่น คุณอยากทำแอพพลิเคชั่นช่วยคนแก่ก็จะลงทุนให้เขียนโปรแกรม หรือโรงพยาบาลนี้ขาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ก็จะเข้าไปช่วย รวมถึงประเด็นที่คนพูดเยอะเรื่องที่พักของญาติที่มาเฝ้าคนป่วยที่โรงพยาบาล ตรงนี้เราอยากไปหาวัดที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลแล้วสร้างเป็นที่พัก นี่คือสิ่งที่ผมคิดนอกกรอบที่จะทำให้คนระดับล่างได้โอกาส

– โครงการของชีวามิตร มีอะไรบ้าง? 

ที่ผ่านมามีการอบรมต่อเนื่องอยู่เรื่อยๆ และมีการให้ความรู้ มีการสร้างสื่อ สร้างภาพยนตร์ และกิจกรรมล่าสุดที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 11 กันยายนนี้ เป็นการสัมมนาวิชาการหัวข้อ UNWANTED TRUTH หรือความจริงที่ไม่อยากพูดถึง (แต่คุณน่าจะอยากฟัง) ซึ่งผมจะพูดเรื่อง “พินัยกรรมชีวิต” มีคุณหญิงจำนงศรีพูดเรื่อง “โน้ตตัวสุดท้าย” และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะพูดเรื่อง “แนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ซึ่งผมก็คาดหวังว่าคนฟังจะได้รับความรู้และสนับสนุนชีวามิตร ในการส่งเสริมความรู้สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงให้เราเข้าไปอบรมให้ความรู้กับองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อให้คนในองค์กรมีความเข้มแข็งพนักงานตระหนักเรื่องนี้

– การทำความเข้าใจเรื่องพินัยกรรมชีวิตยากไหม?

ยากครับ คิดว่าคนไทยมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าใจเรื่องนี้ กลุ่มที่ทำความเข้าใจเรื่องนี้ยากที่สุดผมว่าญาติ แล้วก็หมอตามลำดับ ต้องเปลี่ยนเรื่องความคิด ส่วนคนป่วยส่วนใหญ่เขาปล่อยวางได้บ้างแล้วพอให้ความรู้ไปเขาก็เปิดรับได้ง่าย

– มีโอกาสที่พินัยกรรมชีวิตถูกปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตามหรือเปล่า?

ต้องเข้าใจก่อนว่า พินัยกรรมชีวิตไม่ใช่หนังสือฆ่าตัวตาย จะปล่อยให้ตายเพราะเจ็บปวดมากไม่ได้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่รักษาคนป่วย ขึ้นอยู่กับญาติ ถามว่ามีโอกาสที่จะไม่ทำตามในพินัยกรรมชีวิตไหม ก็มีเหมือนกันบางครั้งแพทย์ก็ไม่เข้าใจ

ตัวอย่างกรณีของชายคนหนึ่ง ทำพินัยกรรมชีวิตเรียบร้อยแล้ว ระบุว่าไม่เจาะคอ ลูกหลานก็ทราบ แต่วันหนึ่งท่านหายใจไม่สะดวก หมอเวรไม่ทราบเรื่องพินัยกรรมชีวิตก็ถามคนไข้ว่าเจาะคอต่อท่อหายใจไหม ซึ่งคนไข้ก็ปฏิเสธ สักพักหมอเวรก็กลับมาใหม่ ครั้งที่ 2 คนไข้ก็ไม่เจาะเหมือนเดิม พอครั้งที่ 3 หมอหวังดี บอกคนไข้ว่าเจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจแล้วจะดีขึ้น แล้วสักพักค่อยเอาออกก็ได้ คนไข้ก็ยอมเซ็นให้เจาะคอ แล้วปรากฏว่าโรงพยาบาลมีกฎว่าใส่เครื่องช่วยหายใจแล้วห้ามถอด

หมอคนนั้นเศร้าใจมากเลยมาคุยกับคุณหญิงจำนงศรี เพราะคนไข้เขียนว่าไม่ใส่แต่หมอไปใส่ให้ เพราะฉะนั้นประเด็นพวกนี้ถามว่าพินัยกรรมชีวิตจะตอบโจทย์ได้ไหม ก็ไม่ตอบโจทย์ได้ 100% แต่อย่างน้อยจะช่วยลดปัญหาเรื่องการทะเลาะกันในบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย เพราะคนไทยกลัวคำว่าเนรคุณที่สุด ถ้าคุณไม่ทำ เดี๋ยวเนรคุณ แต่ถ้ามีพินัยกรรมชีวิตเวลาแบบนี้จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยเอง

– ทำไมต้องทำความเข้าใจกับพินัยกรรมชีวิต?

ผมคิดว่าคนไทยต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น คนเราวางแผนทุกอย่าง วางแผนการเกิด การแต่งงาน การทำงาน แต่ไม่เคยมีใครพูดถึงการวางแผนการตายเลย เพราะคนไม่อยากพูดถึง หรือเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นเอง หรือว่ากลัวว่ามันจะมาถึง อย่างเรื่องความตายเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าพูด แค่ทำพินัยกรรมก็มองว่าเป็นลางไม่ดีบ้าง แช่งตัวเองบ้าง หรือมองเรื่องงานศพเป็นงานอวมงคล คนเรามีความเชื่อเยอะ ทั้งที่ทุกคนต้องตาย

อย่างในงานวันเกิดครบรอบ 60 ปี ของผมก็มีการจัดงานแล้วเชิญคนใกล้ชิดสนิทสนมมา แต่ไม่ต้องนำของขวัญมานะ อยากให้ร่วมทำบุญเข้ากองทุนชีวาภิบาล แล้วคุณหญิงจำนงศรีก็มาพูดเรื่องความตายและงานศพ ว่าเราจะต้องเตรียมตัวยังไง เราจะทำศูนย์นี้เพื่ออะไร ทุกคนงง งานแซยิดมาพูดเรื่องความตาย (หัวเราะ) แต่มันเป็นความจริงที่ทุกคนต้องตาย แต่ทุกคนไม่อยากพูด ตรงนี้เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิด เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นกับทุกคน แค่เมื่อไหร่เท่านั้น

– “ต้องเปลี่ยนความคิดอย่างไร?

เราไม่ได้หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้แต่อย่างน้อยต้องสร้างกรอบความคิด อย่างผู้ป่วยระยะสุดท้าย ถ้าคุณป่วยติดเตียงและอยู่ในภาวะสมองตายคนไข้อื่นก็เข้ามารักษาไม่ได้ การทำบุญที่ดีที่สุดคือให้พ่อแม่เราออกมาแล้วให้คนอื่นที่รักษาหาย อยู่รอดไม่ดีกว่าหรือ พอคนเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นมันก็จะเริ่มไม่ยื้อ เริ่มเตรียมตัว เริ่มวางแผน ซึ่งผมเชื่อว่าต้องใช้เวลา

– คาดหวังอย่างไรในอนาคต?

ผมหวังให้เรื่องวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นวาระของชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยต้องมีแพทย์ไปเยี่ยมที่บ้านได้ มีความรู้พอดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ เช่น อสม. ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะนโยบายเรื่องนี้ไม่เคยถูกพูดเลย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเพราะกระทบหลายเรื่องทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ การงาน ไม่ใช่แค่ตายแล้วก็ตายไป ถ้าไม่เข้าใจตายไปแล้วอาจเกิดปัญหาขึ้นมากับคนข้างหลังได้ เช่น การกู้หนี้ยืมสินต่างๆ

ดังนั้นต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเรื่องความตายว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น จะวางแผนอย่างไรให้ดีที่สุดกับคนที่อยู่และคนที่ไม่อยู่ และที่สุดคือจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม

– วางพินัยกรรมชีวิตของตัวเองไว้หรือยัง?

เรียบร้อยครับ ตามมาตรฐานที่มีเช่น ไม่เจาะคอ เป็นต้น แต่ก็กำลังคิดว่าจะเขียนใหม่ อย่างเรื่องการบริจาคอวัยวะและการจัดงานศพเพิ่ม


ลงทะเบียนร่วมงานสัมมนา UNWANTED TRUTH ได้ที่ bit.ly/CVM_ Truth จัดขึ้นเวลา 09.30-12.00 น. วันที่ 11 กันยายน ที่หอประชุม ศ.สังเวียน อินทรชัย ชั้น 7 อาคาร C ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image