ฝ่ายการเมือง VS ฝ่ายบริหาร : วสิษฐ เดชกุญชร

ตัวอักษรฝรั่ง VS ที่ผมใช้ในชื่อบทความวันนี้ย่อมาจากคำเต็มว่า VERSUS มาจากภาษาละติน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า against แปลเป็นไทยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน ในไวยากรณ์ไทยใช้เป็นบุรพบทเชื่อมคำต่อคำ และอยู่หน้านาม สรรพนามหรือกริยา ชื่อบทความนี้จึงหมายความถึงความ สัมพันธ์ในแง่ลบระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร
ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้เมื่อเกิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนีไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลในคดีจำนำข้าวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่แล้ว และเขียนในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายบริหาร
ท่านผู้อ่านคงจะพอทราบเรื่องการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว เพราะได้รับการเผยแพร่และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชน
อันที่จริงทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และแม้แต่ผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท) ก็ได้ยอมรับกันไปแล้วว่าการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดหมาย นายกรัฐมนตรีนั้นอ้างว่าคาดไม่ถึง เพราะให้เกียรติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเธอเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และเธอได้แสดงออกอย่างเปิดเผยอยู่ตลอดเวลาว่าจะต่อสู้คดี
ยกเว้น พล.อ.เฉลิมชัย ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ พล.อ.ประยุทธ์และ พ.อ.ประวิตรนั้นต้องถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งรับผิดชอบในนโยบายการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นการยอมรับของทั้งสองคนว่าไม่ได้คาดหมายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะหนีจึงเป็นเพียงการยอมรับของนักการเมือง
แต่จะถือว่าเรื่องยุติเพียงแค่นั้นไม่ได้ เพราะหน่วยราชการที่รับผิดชอบยังจะต้องทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยต่อไปอีกจนกว่าจะได้ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาขึ้นศาล
เท่าที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ นอกจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งเป็นหัวหน้านำคณะนายตำรวจออกไปสืบสวนยังจังหวัดชายแดนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะใช้เป็นเส้นทางหลบหนีแล้ว ดูเหมือนหน่วยราชการอื่นทั้งพลเรือนและทหารจะยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก กระทรวงการต่างประเทศนั้นได้แถลงว่ายังไม่สามารถจะระงับการใช้หนังสือเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ เพราะสถานะในทางคดียังไม่สิ้นสุดตามกระบวนการกฎหมาย ศาลยังไม่ได้อ่านคำพิพากษา แม้เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญ
ฝ่ายบริหารไม่จำเป็นจะต้องฟังทรรศนะของฝ่ายการเมือง สิ่งที่ฝ่ายบริหารควรกระทำโดยรีบด่วนแต่ยังไม่ได้ทำก็คือ สอบสวนทวนความว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลเรือน ตำรวจ หรือทหาร จึงไม่รู้ระแคะระคายการหลบหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลย
นายกรัฐมนตรีอาจจะอ้างว่าให้เกียรติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่นั่นเป็นความรู้สึกหรือทรรศนะของนักการเมือง เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะฝ่ายข่าวกรองนั้นจะต้องถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาคนสำคัญ และจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของเธอโดยใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะกรณีผู้ต้องหาคนสำคัญหลบหนีไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลนั้นเคยเกิดมาครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ต้องหาสำคัญคนหนึ่งที่หลบหนีก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็นนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง
จนกว่าฝ่ายบริหารจะรับผิดชอบและเอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด กรณีอย่างของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็อาจจะยังเกิดขึ้นอีก และทั้งนักการเมืองและฝ่ายบริหารก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมต่อไปอีก ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image