นาซาเสนอวิธี นำหินดาวอังคารกลับโลก

(ภาพ-NASA/Caltech)

นาย โทมัส ซูร์บัคเคน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ประจำองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า นาซากำลังศึกษาสถาปัตยกรรมทั้งระบบสำหรับการนำ “ตัวอย่าง” จากดาวอังคาร ส่งกลับมายังโลกเพื่อการศึกษาวิจัยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเน้นแนวคิดในการทำให้กระบวนการทั้งหมดมัธยัสถ์ที่สุดเท่าที่มีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น

แนวคิดดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถจัดส่งตัวอย่างที่เก็บได้จากพื้นผิวดาวอังคารกลับมายังโลกให้เร็วที่สุด ซึ่งทำให้เรื่องนี้ต้องบรรจุเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำรวจดาวอังคารของนาซา ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2020 ที่จะถึงนี้

ตามแนวคิดของนาซา ซึ่งนายซูร์บัคเคนระบุว่า เป็นหนึ่งในแนวคิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาและตรวจสอบในรายละเอียดนั้น ประกอบด้วยแผนการส่งยานอวกาศ (มาร์ส แลนเดอร์) ไปลงบนดาวอังคาร ภายในยานมาร์ส แลนเดอร์ดังกล่าว จะบรรทุกยานโรเวอร์และจรวดส่งขนาดเล็กที่เรียกรวมทั้งระบบว่า “มาร์ส แอสเซนท์ เวฮิเคิล” ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่างหินและอื่นๆ ไปด้วย

ยานหุ่นยนต์ดังกล่าวจะถูกปล่อยจากแลนเดอร์ เพื่อไปนำตัวอย่างที่ถูกกำหนดให้เก็บรวบรวมไว้ในภารกิจสำรวจดาวอังคารก่อนหน้านี้กลับมายังยานแลนเดอร์ แล้วบรรจุเข้าไว้ในจรวด ซึ่งจะยิงขึ้นไปอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคาร ในขณะเดียวกันก็จะมีการจัดส่งยานเพื่อเก็บตัวอย่างในวงโคจรขึ้นจากโลกอีกลำ เพื่อให้ทำหน้าที่ไปเชื่อมต่อกับจรวดที่นำตัวอย่างขึ้นมาจากพื้นผิวดาวอังคาร ณ จุดใดจุดหนึ่งในวงโคจร เพื่อขนถ่ายตัวอย่างดังกล่าวมา ก่อนออกเดินทางกลับโลก

Advertisement

กระบวนการทั้งหมดดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องมียานอวกาศในวงโคจรรอบดาวอังคารทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างโลก, ยานมาร์ส แลนเดอร์, โรเวอร์และจรวด รวมถึงยานอวกาศสำหรับนำสัมภาระตัวอย่างเดินทางกลับโลก ซูร์บัคเคนระบุว่า หากภารกิจครั้งนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และการจัดส่งแลนเดอร์ไปยังดาวอังคารสามารถส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ภายในปี 2026 ก็สามารถใช้ยานสำรวจดาวอังคารหลายลำที่มีอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคารในเวลานี้ให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็น ยานมาร์ส รีคอนเนสแซนซ์ ออร์บิทเตอร์ (เอ็มอาร์โอ), ยานมาเว็น ซึ่งเป็นของนาซาเอง หรือ ยาน เทรซ แกส ออร์บิทเตอร์ ขององค์การอวกาศแห่งยุโรปก็ได้

แต่หากภารกิจครั้งนี้เนิ่นช้าออกไป ความเก่าแก่ของยานสำรวจในวงโคจรเหล่านั้นก็จะทำให้ไม่เหมาะสมที่จะใช้งานทำหน้าที่ ถ่ายทอดสัญญาณ อีกต่อไป

ในกรณีดังกล่าว อาจทำให้นาซาจำเป็นต้องส่งยานสำรวจดาวอังคารจากวงโคจรลำใหม่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เน็กซ์ มาร์ส ออร์บิทเตอร์” หรือ “นีโม” ที่เดิมเคยมีการเสนอว่าจะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2022 ต่อไป

Advertisement

ซูร์บัคเคน ไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจนของภารกิจครั้งนี้ เพียงระบุว่า การจัดส่งยานแลนเดอร์ จะเริ่มต้นใน “ปีแรก” โดยที่ตัวอย่างจากดาวอังคารจะเดินทางกลับมาถึงโลกในครึ่งหลังของ “ปีที่ 3” ต่อไป

รองผู้อำนวยการนาซายอมรับว่า ทั้งหมดนี้ยังคงขึ้นอยู่กับว่า ทางนาซาประเมินความสำคัญของการได้ตัวอย่างกลับมาศึกษาบนพื้นโลกมากน้อยแค่ไหนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image