แผนเจาะอุโมงค์ ดึงน้ำเขื่อนป่าสักฯ แก้โคราชžขาดน้ำ

จังหวัดนครราชสีมา ประตูสู่ภาคอีสาน เป็นเมืองเอกของประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 20,494 ตารางกิโลเมตร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีประชากรเกือบ 3 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ภูมิประเทศมีความหลากหลาย ทั้งที่ลุ่มและภูเขา ถ้าดูเพียงบางพื้นที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ แต่เมื่อดูโดยภาพรวมจะเห็นว่าจังหวัดนครราชสีมาประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมาก

โดยเฉพาะในตัวเมืองนครราชสีมามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการลงทุนก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล อาทิ ถนนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา, รถไฟทางคู่ มาบกะเบา-โคราช, ถนนวงแหวนเลี่ยงเมือง และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุนต่างๆ ทุ่มเงินมหาศาลมาลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่กันอย่างคึกคัก เช่น ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 โคราช, เซ็นทรัลพลาซา โคราช และเดอะมอลล์ นครราชสีมา รวมทั้งการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ หมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

Advertisement

ขณะเดียวกัน น้ำŽ สำหรับอุปโภคบริโภคของคนเมืองโคราชกลับมีอยู่แหล่งเดียวเท่านั้น คืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง จากสถิติของสำนักงานชลประทานที่ 8 พบว่าตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง มีเพียงปี 2553-2554 เท่านั้นที่เก็บได้เต็มเขื่อน จึงส่งสัญญาณให้เห็นว่าถ้าอ่างเก็บน้ำลำตะคองยังมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่แค่ 30-40% ต่อปีเช่นนี้เรื่อยไป จะส่งผลกระทบต่อคนเมืองโคราชที่กำลังมีการขยายความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนี้

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาชาวเมืองโคราชขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคนั้น ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้หาวิธีแก้ไขมานานแล้ว แต่ด้วยภูมิศาสตร์ของตัวเมืองที่ต้องอาศัยเพียงอ่างเก็บน้ำลำตะคองแห่งเดียว ทำให้เกิดความยุ่งยากที่จะสามารถหาน้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่มาเพิ่มเติมได้ จึงมองหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงแทน

พบว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีความพร้อมอย่างมาก เพราะช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีปริมาณน้ำล้นสปิลเวย์ประจำ

ดังนั้น เมื่อปี 2549 จึงได้ว่าจ้างบริษัท แอ็กกี้คอนซัลท์ จำกัด ทำการศึกษาและเขียนแผนการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาลงที่อ่างเก็บน้ำลำตะคองขึ้น

แต่ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา แผนนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนการดำเนินงานสูงถึง 4,000 ล้านบาทŽ

นายชิตชนกกล่าวต่อว่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เดินทางมาร่วมประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา และได้มีการอนุมัติงบประมาณให้สำนักงานชลประทานที่ 8 จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทำให้โครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เริ่มจะมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับแผนผังโครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคองนั้นจะดำเนินการอยู่ 3 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ตั้งสถานีสูบน้ำจากท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงท่อผันน้ำขนาดใหญ่ ตั้งแต่บริเวณ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงอ่างมวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นระยะทางยาวประมาณ 9.9 กิโลเมตร โดยอ่างมวกเหล็กแห่งนี้จะสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงที่ 2 จะตั้งสถานีสูบน้ำจากบริเวณท้ายอ่างมวกเหล็ก เป็นระยะทาง 4.8 กิโลเมตร เพื่อขึ้นสู่เทือกเขาบริเวณ ต.หนองย่างเสือ จ.สระบุรี มีความสูงจากระดับน้ำประมาณ 194 เมตร และช่วงที่ 3 จะทำการเจาะอุโมงค์ใต้เทือกเขาหนองย่างเสือ

อุโมงค์จะมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า ความกว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ทะลุภูเขาเป็นระยะทางยาวประมาณ 24.8 กิโลเมตร ถึงบริเวณ ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อให้ลงในคลองสาขาของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ไหลไปอีกประมาณ 300 เมตรถึงตัวอ่างเก็บน้ำลำตะคอง รวมมูลค่าดำเนินการโครงการนี้ทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาท
การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะเริ่มดำเนินการระหว่างปี 2561-2562 และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนนี้ต่อไป

นายชิตชนกย้ำตอนท้ายว่า ถ้าโครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สู่อ่างเก็บน้ำลำตะคองดำเนินการเสร็จแล้ว จะสามารถผันน้ำมาลงที่อ่างเก็บน้ำลำตะคองได้ประมาณปีละ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่ช่วงหน้าฝนจะมีปริมาณน้ำเก็บอยู่เฉลี่ย 105 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 34 จากความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะทำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณทั้งหมดถึง 210 ล้านลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว

ดังนั้น ปริมาณน้ำขนาดนี้จึงเพียงพอต่อการรองรับความเจริญเติบโตของเมืองโคราชในอนาคตได้เป็นอย่างดี จะส่งผลให้เมืองโคราชมีศักยภาพสูงในทุกๆ ด้าน จนกลายเป็นมหานครโคราชได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image