จิตวิวัฒน์ : สืบสานปัญญาญาณจากแม่ธรรมชาติ : โดยไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

สืบสานปัญญาญาณจากแม่ธรรมชาติ

คนไทยแต่โบราณมีความเชื่อในแม่ธรรมชาติ ที่เป็นความเชื่อหลักๆ ของคนในทุกภาคก็คือ แม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา ในวิถีชีวิตชาวนา ความศรัทธาในแม่ทั้งสามนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในพิธีกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความเคารพนอบน้อมและความเกรงอกเกรงใจ ตัวอย่างเช่น ในการทำนา ชาวนาจะบอกกล่าวและทำพิธีกรรมต่อแม่โพสพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แรกหว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา รับขวัญท้อง เกี่ยวข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้ง ไปจนถึงจะนำข้าวออกจากยุ้งมาหุงหาก็ยังต้องบอกกล่าวแม่โพสพ ศรัทธาเช่นนี้ทำให้ข้าวไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ข้าวยังมีจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงจิตใจคน การทำนาของคนในยุคก่อนจึงไม่ใช่แค่การปลูกพืชทางกายภาพ แต่ยังเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมต่อกับพลังของแม่ธรรมชาติ

ความเชื่อโบราณเช่นนี้จะยังคงมีคุณค่าอยู่อีกหรือในยุค “ชาวนามือถือ” ชาวนาสมัยใหม่ที่ไม่ต้องลงมือทำนาเองแล้ว เพียงแค่ใช้มือถือโทรสั่งจ้างคนมาทำ ก็จัดการงานในนาได้ทุกขั้นตอน ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ต้องรีบเร่งการผลิต ไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการทำพิธีกรรมที่ต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อน ยิ่งบางพื้นที่ปลูกข้าวปีละ 3 หน พิธีรับขวัญท้องข้าวอันเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดในกระบวนการทำนายังกลับกลายเป็นสิ่งหายาก

ดิฉันมีโอกาสไปเป็นนักเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งทำการเผยแพร่เรื่องการทำนาอินทรีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ได้เรียนรู้วิธีทำนาที่เคารพต่อแม่ธรรมชาติ รวมทั้งได้พูดคุยกับคุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิ จากประสบการณ์อันยาวนานในการทำงานเผยแพร่เรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้คุณเดชาได้คำตอบว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรจะก้าวล้ำแค่ไหน จะมีพันธุ์ข้าวมหัศจรรย์จากจีเอ็มโอหรือปุ๋ยยาราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชาวนาได้จริง กระบวนการผลิตสมัยใหม่ยิ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้ และยังไม่สามารถสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ แต่ความเชื่อโบราณอันชาญฉลาดของปู่ย่าตายายนี้แหละที่จะเป็นทางรอดของชาวนา

Advertisement

คุณเดชาเล่าว่า ตอนแรกที่ทำมูลนิธิ ก็พยายามจะฟื้นฟูความเชื่อดั้งเดิมขึ้นมา เพียงแค่ให้เป็นขวัญเป็นศักดิ์ศรีของชาวนา จนกระทั่งปี 2548 มูลนิธิได้เชิญคุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) จากชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) ในสกอตแลนด์มาสอนวิธีเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของธรรมชาติให้กับชาวนาไทย ชุมชนฟินด์ฮอร์นทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการสื่อสารกับปัญญาญาณของธรรมชาติสำเร็จมาแล้ว แต่เดิมพื้นที่ของชุมชนเป็นทรายที่แห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ คุณโดโรธีและเพื่อนร่วมงานสื่อสารกับปัญญาญาณในธรรมชาติ ผ่านการทำสมาธิ และได้รับคำแนะนำในการปลูกพืชที่เหมาะสม ทำให้พื้นที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนโด่งดังเพราะปลูกกะหล่ำได้หัวละ 18 กิโลกรัม ปัจจุบันชุมชนกลายเป็นต้นแบบของการปลูกพืชอินทรีย์ชั้นแนวหน้าของโลก

คุณเดชาจึงเชื่อมั่นว่า การกลับไปหาความเชื่อโบราณนั่นเองที่จะให้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์สู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสู้กับการโฆษณาของบริษัทปุ๋ยและยา ตัวคุณเดชาเองมักจะมีความรู้แบบปิ๊งแว้บหรือญาณทรรศนะ (Intuition) คืออยู่ๆ ก็มีความคิดขึ้นมาในหัวว่าควรจะปลูกข้าวอย่างไร และเมื่อนำความรู้นั้นไปทดลองทำก็ปรากฏว่าได้ผล เช่น ความรู้ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว โดยแกะเปลือกเมล็ดข้าวให้เป็นข้าวกล้อง เพื่อจะได้ดูลักษณะภายในของเมล็ดข้าวได้อย่างชัดเจน ทำให้เลือกเมล็ดที่มีลักษณะดีไปปลูกได้ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดจะทำเช่นนี้มาก่อน ชาวนาแต่ไหนแต่ไรก็คัดเมล็ดพันธุ์จากข้าวเปลือกกันทั้งนั้น อยู่ๆ คุณเดชาก็เกิดความรู้นี้ขึ้นมาเอง จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิข้าวขวัญสามารถเพาะพันธุ์ข้าวที่ทนทานและให้ผลผลิตดีได้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่นนี้ โดยไม่ต้องมีห้องวิจัยไฮเทคแต่อย่างใด

และที่สำคัญ นักเรียนชาวนาของมูลนิธิก็สามารถใช้วิธีนี้คัดพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับที่นาอินทรีย์ของตัวเองได้ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้ข้าวสามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนได้

Advertisement

อีกองค์ความรู้สำคัญของโรงเรียนชาวนาที่มาจากการปิ๊งแว้บของคุณเดชาก็คือ การใช้จุลินทรีย์ป่ามาหมักฟางในนาข้าวให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอันอุดมซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรเลย ไม่ต้องเผาฟางเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนทำการปลูกข้าวรอบต่อไป ดังที่ชาวนามักจะทำกัน อันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก คุณเดชากล่าวว่า จุลินทรีย์ป่าเหล่านี้อยู่ร่วมกันมานาน จนเกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนจุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากห้องทดลอง มนุษย์เป็นคนคัดเอง นักวิจัยก็จะคัดเฉพาะตัวดีๆ เปรียบไปก็เหมือนเราคัดคนเก่งๆ มาทำงานร่วมกัน แต่ละคนก็ต่างมีความคิดของตัวเอง ทำงานร่วมกันก็มักจะตีกันเอง สู้จุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากธรรมชาติไม่ได้ และที่สำคัญชาวนาสามารถหาดินจากป่าที่สมบูรณ์มาเพาะเลี้ยงได้เองอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อจุลินทรีย์จากห้องทดลองเลย

คุณเดชาเชื่อว่าปัญญาญาณเหล่านี้เกิดมาจากความเคารพในแม่โพสพ ปัญญาญาณเช่นนี้ไม่เพียงเกิดกับคุณเดชาคนเดียวเท่านั้น ลูกศิษย์ของโรงเรียนชาวนาคนอื่นก็นำวิชาที่เรียนจากคุณโดโรธีไปทดลองและได้ผลอย่างน่าทึ่ง ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งก็คือ คุณจักรภฤต บรรเจิดกิจ หรืออาจารย์เบ้ ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยชาวนา จ.พิจิตร และผู้คิดค้นการใช้จุลินทรีย์จาวปลวกที่สามารถย่อยสลายฟางในนาข้าว ย่อยกองปุ๋ยหมักได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดโคนที่ราคาแสนแพงได้อีกด้วย

คุณจักรภฤตเล่าให้ดิฉันฟังว่า หลังจากเรียนกับคุณโดโรธีแล้วก็กลับไปฝึก โดยนั่งแกะเมล็ดข้าวเปลือกให้เป็นข้าวกล้องทีละเมล็ดๆ เพื่อให้เกิดสมาธิ จะกินข้าวแต่ละทีก็จะแกะเมล็ดข้าว จนกระทั่งเกิดการเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติได้ และได้รับภารกิจให้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหลือเชื่อ จนสามารถก่อตั้งและให้ความรู้แก่ชาวนาได้ ส่วนที่มาของจุลินทรีย์จาวปลวกก็คือ ในปี 2551 เกิดปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า ในวันแม่ปีนี้ แม่ธรรมชาติจะให้ของขวัญ จึงจุดธูป 21 ดอก (21 คือกำลังของแม่พระธรณี) แล้วขอความรู้จากแม่ธรณี เสร็จแล้วก็ถือจอบเดินหาความรู้นั้น จนไปขุดจอมปลวกแล้วเจอจาวปลวก ภายในมีจุลินทรีย์ซึ่งก็คือโปรโตซัวที่อยู่ภายในตัวปลวก โปรโตซัวเหล่านี้คอยย่อยสลายไม้ที่ปลวกกัดกิน เมื่อนำจุลินทรีย์นี้มาเพาะเลี้ยง ปรากฏว่าย่อยฟางข้าวในนาได้อย่างรวดเร็วมาก เพียงแค่ 3 วัน ฟางก็นิ่ม พร้อมเป็นปุ๋ยสำหรับข้าวได้ อ.เบ้บอกว่า ลองคิดดูว่าปลวกกินบ้านยังได้ จุลินทรีย์จาวปลวกจึงย่อยฟางได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้น เมื่อนำไปฉีดต้นข้าว ต้นข้าวก็ยังแข็งแรงอีกด้วย

อีกของขวัญอันพิเศษจากแม่พระธรณีก็คือ เมื่อคุณจักรภฤตเพาะจุลินทรีย์นี้ มีบางส่วนล้นออกมาจากถัง ปรากฏว่าพอถึงวันพระ เห็ดโคนก็ขึ้นในบริเวณนั้น เห็ดโคนนั้นจะขึ้นอยู่ตามจอมปลวก แต่เมื่อใช้จุลินทรีย์จาวปลวกไปรดโคนต้นไม้ เห็ดโคนก็ขึ้นได้เช่นกัน

เคล็ดลับการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์จาวปลวกก็แสนง่าย คุณจักรภฤตอธิบายว่า ใช้จาวปลวก ซึ่งก็คือตัวแทนของแม่ธรณี ข้าวสุก เป็นตัวแทนของแม่โพสพ น้ำสะอาดคือแม่คงคา ส่วนอากาศและความร้อนก็คือแม่พระพายและแม่พระเพลิง รวมแม่ทั้งห้าเป็นเบญจภาคี เหมือนนิ้วทั้งห้าที่ขาดจากกันไม่ได้ ทุกส่วนผสม ชาวนาไม่ต้องหาซื้อแต่อย่างใด แม้แต่กากน้ำตาลที่ใช้เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์อื่นๆ ก็ไม่ต้องซื้อเพราะใช้ข้าวสุกแทนได้

ของขวัญจากแม่พระธรณีนี้เป็นประโยชน์สำหรับชาวนาอย่างยิ่ง ชาวนาสามารถทำนาอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาที่ทำลายสุขภาพ แถมยังมีเห็ดโคนขายเพิ่มรายได้อีกต่างหาก ชาวนาหลายรายที่ทำตามวิธีนี้สามารถปลดหนี้และมีชีวิตอย่างมีความสุขได้

ทั้งคุณเดชาและ อ.เบ้แบ่งปันองค์ความรู้อย่างไม่เคยหวงแหน เพราะถือว่าเป็นความรู้ที่มาจากแม่ธรรมชาติ ที่ต้องการช่วยผู้คน ทั้งชาวนาในประเทศ รวมไปถึงชาวนาต่างประเทศที่มาเรียนรู้จากมูลนิธิข้าวขวัญ ต่างก็ทดลองวิธีการของแม่ธรรมชาติจนได้ผลสำเร็จ อ.เบ้ยืนยันว่า “ทำนาแบบนี้ ได้ข้าวมากกว่านาเคมีทุกคน ดินดีขึ้น มีความสุขทุกคน”

ตั้งแต่ปี 2554 มูลนิธิข้าวขวัญจึงจัดให้มีพิธีไหว้ครูบูชาแม่โพสพ ในวันพืชมงคลของทุกปี ให้ชาวนาของโรงเรียนชาวนาได้มาร่วมใจกันขอบคุณ “ครู” ซึ่งก็คือแม่ธรรมชาติทั้งหลายที่มอบองค์ความรู้มาช่วยเหลือชาวนาและผู้คนที่กินข้าวทุกคนอย่างเมตตากรุณา บรรดานักเรียนชาวนา ซึ่งปีหลังๆ นี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเมืองที่ผันตัวเองไปเป็นชาวนา ต่างพากันมาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสืบสานปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติกันต่อไป

ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image