แพทย์เผย ‘วัยทำงาน’ เสี่ยง ‘ฆ่าตัวตายสูง’ ย้ำมีปัญหาชีวิตปรึกษาสายด่วน 1323

วันที่ 7 กันยายน 2560 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวในงานสัมมนาเนื่องในวันการป้องกันการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 11 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายนว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายมาก ซึ่งในประเทศไทยมีการพยายามฆ่าตัวตายอยู่ที่ปีละ 30,000 ถึง 40,000 รายต่อปี และมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยปีละ 6 ต่อหนึ่งแสนประชากร หรือปีละ 4,000 คน หรือ 2 ชั่วโมงต่อหนึ่งคน ซึ่งจากข้อมูลใน 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าในปี 2558 มีค่าเฉลี่ยที่ 6.47 คนต่อ 1 แสนประชากร และในปี 2559 คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ 6.35 คนต่อ 1 แสนประชากร อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งภายในปี 2564 จะต้องทำให้เหลือค่าเฉลี่ยที่ 6  คนต่อ 1 แสนประชากร และจังหวัดที่ฆ่าตัวตายเยอะที่สุดในปี 2557-2558 คือ จ.ลำพูน และในปี 2559 ที่กำลังรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะสูงสุดใน จ.จันทบุรี และภาคกลางมีแนวโน้มว่าจะมีการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น

นพ.ณัฐกร จำปาทอง

นพ.ณัฐกรกล่าวอีกว่า ยังพบว่าจะมีการฆ่าตัวตายสูงที่สุดใน 3 ช่วง คือ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงเดือนกรกฎาคมในเทศกาลเข้าพรรษา และช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 1.วัยทำงานอายุ 35-43 ปี รองลงมาคือผู้สูงอายุอายุ 70 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ในการลดจำนวนการฆ่าตัวตาย ควรรณรงค์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเอง เอาชนะตัวเองจากปัญหาบางสิ่งบางอย่างให้ได้ เพราะกำลังใจที่ดีที่สุดคือกำลังใจจากตัวเอง นอกจากนี้ ผู้ใกล้ชิดก็ควรรับฟัง เพราะผู้ที่จะฆ่าตัวตายมักจะลังเล ซึ่งควรรับฟังโดยใช้เหตุผล และอย่าลืมขอบคุณที่เขาเล่าเรื่องให้ฟัง อย่ามองข้ามคำว่าขอบคุณ เพราะสำคัญมาก การที่มีคนมาขอบคุณเรา จะรู้สึกว่าเรามีตัวตนในโลก มีค่าต่อคนอื่น

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช รพ.ราชวิถี กล่าวว่า คนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายจะมีอีกความคิดว่าต้องการคนที่เข้าใจ คนที่จะมาช่วยเขาได้ ดังนั้น การฆ่าตัวตายป้องกันและช่วยเหลือได้หากเข้าไปได้ทันเวลา เห็นได้จากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะมีสายด่วนให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 สายด่วนสมาคมมาริตันส์แห่งประเทศไทย 0-2713-6793 ซึ่งคนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายจะมีสัญญานเตือนที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนจากเคยเป็นคนร่าเริงก็กลับมีความซึมเศร้า ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางคนมีสัญญาณของความซึมเศร้าให้เห็น แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะฆ่าตัวตายกลับร่าเริง

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร

“รายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ครั้ง จะส่งผลกระทบต่อคน 6 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่ ญาติ หรือเพื่อน หรือแม้กระทั่งในกรณีผู้ฆ่าตัวตายเคยเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาจะรู้สึกเศร้าเช่นเดียวกัน และผู้ที่ได้รับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ 10% จะรู้สึกสะเทือนใจ วิธีที่จะเยียวยาได้คือ ครอบครัวต้องคิดถึงสิ่งดีๆ ที่ผู้จากไปเคยทำ และอยู่ต่อไปเพื่อทำสิ่งดีๆ ให้ผู้จากไปแล้ว นอกจากนี้ สังคมหรือคนใกล้ชิดสามารถช่วยด้วยการทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ให้เขาสามารถออกมาจากมุมมืดได้” ผศ.นพ.ปราการกล่าว

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image