ไม่มีคดีฆาตกรรม โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

กลายเป็นปมปัญหาใหญ่อีกเรื่องของวงการยุติธรรม เมื่อการฟ้องร้อง “ข้อหาฆ่า” ในเหตุการณ์ที่มีคนตายหมู่ถึง 99 ศพกลางเมืองไม่สามารถดำเนินการได้ กำลังกลายเป็นเพียงข้อหาความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และคดีต้องพ้นไปจากศาลอาญา ต้องไปเริ่มต้นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แทน

อันเป็นผลจากการต่อสู้คดีด้วยความเชี่ยวชาญทางข้อกฎหมาย ของฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกฯ, รองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. ในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อปี 2553

ทำให้หลายคนต้องร้องอ๋อ ว่ามิน่า สองคนนี้จึงประกาศเสียงดังฟังชัดมาตลอดว่า จะไม่ขอนิรโทษกรรม ไม่หลบหนีคดี พร้อมเดินเข้าคุกหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง

เพราะผ่านมาแล้ว 7 ปี จนบัดนี้ คดี 99 ศพ ยังหาศาลเพื่อนำคดีขึ้นไม่ได้เลย

Advertisement

แต่ข้อต่อสู้ของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ว่าเป็นการฟ้องผิดศาลผิดข้อหา ซึ่งบรรลุเป้าหมายแล้วนั้น

มีข้อสังเกตจากหลายฝ่าย ว่าคดีนี้ผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องร้อง ไม่ใช่แค่ญาติคนตายที่อาจจะขาดความรู้ทางกฎหมาย

แต่โจทก์หลักที่ยื่นฟ้องคืออัยการ และมูลเหตุที่นำมาฟ้องสู่ศาลอาญา มาจากผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้

โดยศาลได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า ผู้ตาย เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. หรือเสียชีวิตด้วยกระสุนที่ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ.

ศาลได้ชี้ไปแล้วจำนวน 17 ศพ ที่ตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่ ถือเป็นการฆ่า จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงรวบรวมเป็นสำนวนคดีอาญา เสนออัยการ แล้วอัยการนำขึ้นฟ้องศาลอาญา

แต่ลงเอยข้อต่อสู้ในทางเทคนิกข้อกฎหมายของฝ่ายจำเลยคือนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ก็บรรลุผล

โดยสุดท้ายศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องคดีนี้ เห็นว่าไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอาญา เป็นอันจบ 3 ศาล

แม้ว่าคำพิพากษานี้ ไม่ใช่การตัดสินว่าจำเลยทั้งสองพ้นผิดไปแล้ว และไม่ได้ชี้ว่าคดีนี้จบสิ้นอวสานไปแล้ว โดยยังสามารถนำไปฟ้องร้องได้ผ่านช่องทาง ป.ป.ช. และหาก ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูล จะนำขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

แต่ฝ่ายกฎหมายของพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ตายร่วมร้อยศพ ต้องมาหาช่องทางอย่างรอบคอบว่า จะเดินคดีต่อไปอย่างไร

แนวทางแรกคือ กลับไปหา ป.ป.ช.ที่ก่อนหน้านี้เคยตีตกสำนวนคดี 99 ศพไปก่อนแล้ว จึงยังไม่รู้ว่า ป.ป.ช.จะยอมรับกลับมาพิจารณาไต่สวนใหม่หรือไม่

แล้วถ้าหาก ป.ป.ช.รับพิจารณาใหม่ ก็ไม่ใช่ “คดีฆาตกรรม” อีก แต่เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบอะไรเหล่านั้น

ก็จะกลายเป็นบาดแผลใหญ่ในสังคมไทยอีกเรื่อง เมื่อคนตายร่วมร้อย มีพยานหลักฐานมากมาย กลับไม่สามารถพิสูจน์พยานหลักฐานเรื่องการฆ่าได้

แต่ก็มีอีกช่องทาง ที่ผู้รอบรู้ทางกฎหมายชี้เอาไว้ คือ ไปร้องต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เพื่อให้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ซึ่งหากผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่าเป็นคดีฆ่าและพยายามฆ่า ก็ทำสำนวนในคดีฆาตกรรมขึ้นฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ผู้เสนอแนะประเด็นนี้กล่าวว่า ทางออกแนวนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์คดีฆ่าในชั้นศาล ซึ่งหากพิสูจน์แล้วจำเลยไม่ผิด ก็จะเป็นการพ้นข้อหาอย่างสง่างาม ขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่ถูกปิดกั้นสิทธิในการพิสูจน์คดี

น่าจะเป็นหนทางที่คลายความตึงเครียด ลดข้อบาดหมาง และความรู้สึกติดแค้นข้องใจ

อีกฝ่ายถ้าหลุดพ้นคดี ก็ควรพ้นด้วยการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ควรพึงพอใจกับการชนะฟาวล์

…………….

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image