อาศรม มิวสิก : 20 ปี การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย โดย:สุกรี เจริญสุข

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีรางวัลเป็นทุนการศึกษา 1.8 ล้านบาท

สำหรับเด็กที่ได้รับรางวัลเหรียญทองทุกระดับ จำนวนระดับละ 4 คน มีสิทธิพิเศษสามารถสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โดยไม่ต้องสอบวิชาดนตรีปฏิบัติ และยังได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนอีก 1 ปีเต็ม
ดังนั้น การเข้าประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย จึงคุ้มค่ากับการฝึกซ้อม การเรียนดนตรี และการได้แสดงดนตรีบนเวที

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย เป็นเวทีประกวดการเล่นเครื่องดนตรีของเยาวชนดนตรีที่จัดต่อเนื่องมา 20 ปี ถือว่าเป็นรายการที่ยั่งยืนรายการหนึ่ง แปลกไปกว่านั้นคือ การประกวดมีเอกลักษณ์ที่เน้นเครื่องดนตรีที่เป็นดนตรีเสียงธรรมชาติ (Acoustic) ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีเครื่องช่วยทำเสียงใดๆ ใช้ความสามารถล้วนๆ เล่นดนตรีเก่งจริง เล่นด้วยตัวเองจริง สามารถแสดงความเป็นตัวตนผ่านเสียงดนตรีจึงจะอยู่ในเวทีนี้ได้

Advertisement

ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็กที่เข้าประกวดสามารถเล่นเครื่องดนตรีอะไรชิ้นไหนก็ได้ ตั้งแต่เครื่องดีดสีตีเป่า เขย่าชัก ขูดดูดกวน ทั้งเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีในภูมิภาค หรือเครื่องดนตรีสากล ตราบเท่าที่เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงโดยธรรมชาติถือเป็นใช้ได้

ทั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้เลือกเพลงที่ชอบเอง เพลงที่อวดฝีมือ เพลงที่เชื่อว่าคณะกรรมการฟังแล้วต้องลงคะแนนให้ คือต้องชนะใจกรรมการ ซึ่งเป็นการเดี่ยวเครื่องดนตรีที่ต้องเล่นสุดความสามารถ เพลงจะต้องมีความยาว 3-5 นาที สามารถจะมีนักดนตรีเล่นประกอบได้ไม่เกิน 4 คน รวมนักเดี่ยวเป็น 5 คน คณะกรรมการก็จะให้คะแนนเฉพาะเครื่องหลักเท่านั้น

Advertisement

ในการประกวดแบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา หมดเขตรับสมัครวันที่ 30 กันยายน 2560

ผู้สนใจสามารถส่งเพลงเข้าประกวดได้ (www.music.mahidol.ac.th/set) คณะกรรมการก็จะฟังเพลงจากผู้สมัครที่ส่งไปให้ เมื่อได้รับคัดเลือกให้ไปเล่นในรอบที่ 2 ระดับละ 25 คน ก็จะได้ค่ารถคนละ 1,000 บาท

ส่วนรอบสุดท้ายระดับละ 25 คน รวมทุกระดับจำนวน 100 คน ซึ่งต้องไปแสดงสดที่เวทีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา คณะกรรมการก็จะคัดเลือกไว้ระดับละ 10 คน ซึ่งใน 10 คนที่เข้ารอบสุดท้ายก็จะได้เหรียญเงิน 6 คน และเหรียญทอง 4 คน รวมเป็นทุนการศึกษา 1.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นรางวัลการประกวดดนตรีสำหรับเด็กที่สูงมาก

คณะกรรมการที่ตัดสิน 2 รอบแรก เป็นคณาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนในรอบสุดท้าย เป็นคณะกรรมการระดับชาติใน 4 ประเภท คือ ประเภทแรก เป็นกลุ่มอาจารย์สอนดนตรี ประเภทที่สอง เป็นนักดนตรีอาชีพหรือผู้แทนในอาชีพดนตรี ประเภทที่สาม เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในศิลปะแขนงต่างๆ และกลุ่มสุดท้าย เป็นสื่อมวลชนที่สนใจในศิลปะดนตรี ทั้ง 4 ประเภทถือเป็นผู้แทนของสังคมไทย ทำให้เด็กที่เข้าประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย มีโอกาสแสดงบนเวทีให้ผู้ใหญ่ของชาติได้เห็นศักยภาพด้านดนตรีของเด็กไทยทั่วประเทศ

ระยะ 20 ปีของการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการดนตรีในประเทศอย่างมาก

ประการแรกก็คือ ดนตรีกลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ คนทุกเพศทุกวัยหันมาสนใจเรียนดนตรีมากขึ้น เด็กไทยจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หันมาเรียนดนตรีเพื่อให้เป็นหุ้นส่วนของชีวิต เพราะเชื่อว่าดนตรีช่วยพัฒนาจิตใจ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ช่วยปลอบประโลมใจ และยังช่วยปลุกใจให้ฮึกเหิมและทำให้อายุยืน

ประการที่สอง เด็กไทยใช้ดนตรีในการประกอบอาชีพ มีนักดนตรีอาชีพที่เป็นคนไทย ทำมาหากินทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกา

ประการที่สาม ชาวโลกรู้จักประเทศไทยผ่านดนตรี ประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกทางดนตรี เนื่องจากมีวงดนตรีและนักดนตรีระดับโลกเดินทางเข้ามาแสดงในประเทศไทย มีกิจกรรมระดับโลกเกิดขึ้นในประเทศไทย

ไทยมีความพร้อมเรื่องสถานที่แสดงดนตรี มีนักดนตรีที่เก่ง มีผู้ชมและมีเงินที่จะซื้อบัตรชมดนตรีในราคาที่แพง เป็นต้น

ประการสำคัญก็คือ ดนตรีกลายเป็นสาระสำคัญเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างน้อยที่ประเทศไทยเคยว่าจ้างนักดนตรีต่างชาติมาแสดงในประเทศจำนวนมาก ตอนนี้ก็มีคนไทยขึ้นมาทำงานแทนได้มากขึ้น คนไทยสามารถที่จะสร้างเพลงมากขึ้น เริ่มมีคนไทยที่เป็นนักดนตรีระดับนานาชาติเกิดขึ้นแล้ว โดยมีนักร้องโอเปร่าหน้าไทยเกิดขึ้น มีคนไทยสร้างละครเพลงและมีนักร้องจริง มีนักดนตรีเล่นและแสดงได้จริง โดยไม่ต้องใช้วิธีร้องหลอกๆ (lip sync) ทำปากพะงาบๆ อย่างที่เคยเห็นในอดีต

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยผ่านไป 20 ปี จะพบว่าเด็กไทยที่ผ่านเวทีนี้ออกไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพดนตรี สร้างความภูมิใจให้คนในชาติอย่างมาก แม้แต่ชาวอาเซียนทั้งหลายต่างก็ยอมรับความเจริญด้านดนตรีในประเทศไทย นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีวงดนตรีคลาสสิกประจำของชาติที่แข็งแรง วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ซึ่งก็กลายเป็นหน้าตาของประเทศ เด็กไทยที่เก่งก็ได้ร่วมแสดง ทั้งในฐานะนักดนตรีและเป็นศิลปินรับเชิญ

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยได้เป็นกิจกรรมการประกวดกระแสหลักของไทย ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมประกวดดนตรีอื่นๆ เกิดขึ้นอีกหลายรายการ ทุกๆ รายการเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ที่เล่นดนตรี เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยที่มีกิจกรรมดนตรีดีๆ เป็นพื้นที่แสดงศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีและทำให้เห็นว่าประชาชนคนไทย สังคมไทย มีการศึกษาดนตรีเจริญ สามารถที่จะผลิตนักดนตรีได้เอง เพื่อทำงานใช้ในประเทศ

และวันนี้มีนักดนตรีชาวไทยออกไปประกอบอาชีพดนตรีในต่างประเทศได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image