ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยง เรื่องไม่เบาของเบาหวาน!

หากพูดถึง ‘โรคเบาหวาน’ หลายๆคนอาจจะไม่แปลกใจ เพราะรู้สึกคุ้นชินกับชื่อโรคนี้มานาน ประกอบกับคนในครอบครัวหรือรอบๆ ตัว ต่างเป็นโรคนี้ในจำนวนมาก

สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้เผยสถิติน่าตกใจว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกปี 2558 สูงถึง 415 ล้านคน ในทุกๆ 6 วินาทีมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1 ราย และคาดการณ์ไปอีก 30 ปีข้างหน้าว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นจนแตะ 642 ล้านคน เห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน ทั้งนี้สามารถลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกเหนือจากผลสถิติที่ดูสูงจนน่ากลัวแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือผลที่ตามมา แถมยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิต คือ โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง โดยที่พบบ่อย ได้แก่ เบาหวานในจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม มีเลือดออกในดวงตา และตาบอดในที่สุด เบาหวานที่ไต หากปล่อยไว้ไตจะทำงานผิดปกติและเกิดภาวะไตวาย โรคเส้นประสาทชา คนไข้จะไร้ความรู้สึกเมื่อเกิดการกระทบทางร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่ายและรักษาได้ยาก เนื่องจากไม่รู้สึกตัวและการหมุนเวียนของโลหิตไม่ดี คนไข้จำนวนมากจึงต้องสูญเสียอวัยวะไป นอกจากนี้บ่อยครั้งในกลุ่มคนไข้เบาหวานยังพบอาการอัมพาตและโรคหัวใจ ซึ่งไม่มีอาการเจ็บเตือน ทำให้เกิดอาการหัวใจวายฉับพลัน รวมถึงมีความเสี่ยงจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

นายแพทย์จิระพงศ์ อุกะโชค แพทย์อายุรศาสตร์ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน-ไทรอยด์) โรงพยาบาลนนทเวช เผยว่า โรคเบาหวานคือโรคที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประเภทที่ 1 พบในเด็กและวัยรุ่น ร่างกายขาดอินซูลินถาวรต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต ค่อนข้างผอม ประเภทที่ 2 เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน มักจะอ้วน พบทั่วไปในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทนี้ ประเภทที่ 3 เบาหวานที่พบระหว่างการตั้งครรภ์ ด้วยผลจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ส่งผลให้คุณแม่เสี่ยงเป็นเบาหวานได้ แต่ภาวะของโรคจะดีขึ้นหลังคลอด และประเภทที่ 4 เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อ ร่างกายสร้างสเตียรอยด์มากไปหรือการใช้ยาบางอย่างที่มีสเตียรอยด์ อาการจะดีขึ้นเมื่อรักษาหรือหยุดใช้ยา

Advertisement

“ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก ร่างกายจึงสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลง อาจถึงขั้นไตวายและเสียชีวิตได้ บางรายมีผื่นอับชื้นเกิดจากเชื้อราตามซอกพับ ตกขาว ตาพร่ามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า” นายแพทย์จิระพงศ์แนะวิธีสังเกตุอาการเบื้องต้น


โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน คือ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนลงพุง (ผู้ชายรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงเกิน 80 เซนติเมตร) ไม่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งพนักงานออฟฟิศก็ถือว่าเข้าข่าย รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยาเสตียรอยด์ ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน หรือคนในครอบครัวมีประวัติ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักของเบาหวานคือพันธุกรรม

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานแต่เนิ่นๆ ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี คือ ตรวจน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้า โดยงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจเลือด การตรวจเลือด สามารถตรวจได้เลยโดยไม่ต้องงดอาหาร และการตรวจน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะโรคเบาหวาน และทำการรักษาป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ทันท่วงที

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันสามารถลดความเสี่ยงเพื่อเลี่ยงเบาหวานได้ โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเหงื่อซึม หัวใจเต้นแรง อย่างน้อย 30 นาที ทำสัปดาห์ละ 5 วัน ระมัดระวังการรับประมานอาหารเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image