ป้ามลชี้! คดีด.ญ.14ถูกข่มขืน ต้องมีขบวนการคุ้มครองจริงจัง ถ้าคดีนี้แพ้ คนไทยทั้งประเทศก็แพ้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 กันยายน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “ข่มขืนพุ่ง รุนแรงเพิ่ม ตื่นเถิดประเทศไทย” จัดโดย โครงการปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สหทัยมูลนิธิ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

นายฮานีฟ หยงสตาร์ เลขาธิการมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ ในฐานะทนายความโจทย์ร่วมคดีเกาะแรด จ.พังงา กล่าวว่า คดีนี้ เป็นอีกคดีที่น่าตกใจมาก สถานที่เกิดเหตุคือในบ้าน กระทำโดยผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กที่เป็นเหยื่อ และใช้ความใกล้ชิดกระทำ ข่มขู่ไม่ให้เปิดเผย จนเกิดความย่ามใจกระทำซ้ำจนเห็นช่องทางขยายผลไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบกับเหยื่อ แรกๆ เป็นการสนองความใคร่ในบ้าน ช่วงหลังเป็นการนำพาออกนอกบ้านแสวงหาประโยชน์ ซึ่งคงไม่ลงรายละเอียดเพราะอยู่ในรูปคดี

“สิ่งที่ฝากให้ช่วยกันคิดคือ กระบวนการจัดการ ซึ่งพบข้อเท็จจริง หลังจากที่แม่เด็กและเด็กไปแจ้งความ กระบวนคุ้มครองดูแลไม่มีแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูล ความมั่นใจหลังเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะเห็นว่าผู้ถูกกระทำยังอยู่ในภาวะหวาดกลัว ทั้งที่ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งมีองค์กร บุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ใหญ่โต แต่กลับพบเด็กและแม่เด็กถูกโดดเดี่ยวหลังได้แจ้งความกล่าวโทษ 3 คนแรก อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่า แม่หากินกับลูก พ่อเลี้ยงกระทำเด็กด้วย ทั้งนี้ ทำอย่างไรให้คดีล่วงละเมิดเด็กเหล่านี้จะต้องมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเข้ามาช่วยเหลือดูแลคุ้มครองเด็กทันที และหากคดีนี้แพ้หรือชนะกระบวนการจัดการรองรับดูแลเด็กจะเป็นอย่างไร” นายฮานีฟกล่าว

 

Advertisement

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากกรณีข่มขืนเด็กหญิงอายุ 14 และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศที่ผลิตซ้ำในสังคมไทย มันยืนยันชัดเจนว่า เมื่อมีประเด็นการใช้อำนาจทางเพศ ทำให้ผู้หญิงหรือเหยื่อ เตรียมอับอาย พร้อมรับข้อสงสัยความเป็นหญิงดีหญิงชั่ว และเตรียมหาทางหลบซ่อนตัวให้ดี เพราะสถานการณ์หลังจากนั้นเหยื่อจะถูกทำให้เป็นเสมือนผู้ก่ออาชญากรรม หรือถูกข่มขืนซ้ำในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การตอบรับของกระบวนการยุติธรรมในจุดต้นน้ำ ซึ่งหมายถึงตำรวจ พบว่าหลายกรณียังขาดความเป็นมืออาชีพ เช่น การเข้าถึงความจริง การตั้งข้อหา การให้ความเป็นธรรมเบื้องต้น และนี่คือเหตุผลที่ต้องปฏิรูปองค์กรตำรวจ

“กรณีนี้ เกิดตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึง 31 สิงหาคม ที่มีการเปิดเผยสู่สังคมรับรู้ แต่เด็กและครอบครัวกลับเจอศึกหนักที่ต้องพร้อมรับคำประณาม แรงเสียดทาน รวมถึงสถานการณ์ที่บิดเบือน สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมให้ความคุ้มครองพยานให้ปลอดภัยแค่นั้นยังไม่พอ เพราะคดีความหากยาวนานอาจทำให้ข้อมูลเสื่อมจนอาจทำให้คำพิพากษาไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำได้ ดังนั้น ต้องมีจุดเปลี่ยนในสังคมไทย โดยมีกระบวนการคุ้มครองพยานอย่างจริงจังและส่งแรงกระเพื่อมไปที่ผู้กระทำผิด ถ้าคดีนี้แพ้ คนไทยทั้งประเทศก็จะแพ้ ขอให้รู้ไว้ว่าเราจะมีลูกหลานอีกหลายคนที่จะต้องอยู่ร่วมกับอมนุษย์เหล่านี้ แต่ถ้าคดีชนะการคุ้มครองพยานต้องไปให้ไกลกว่านี้ ต้องให้ต้นทุนชีวิตใหม่กับเด็กและครอบครัว เปลี่ยนชื่อนามสกุล อาชีพ ย้ายจังหวัดที่อยู่ เพราะผู้เสียหายเสียโอกาสชีวิตไปมหาศาล เราต้องรับผิดชอบมนุษย์ คดีนี้ทำให้เห็นว่าพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเป็นเสือกระดาษตัวใหญ่ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้” นางทิชากล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์การข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศนับวันแนวโน้มยิ่งเพิ่มขึ้น จากการเก็บข้อมูลข่าวล่วงละเมิดทางเพศทางสื่อ พบว่า สถิติเด็กอายุ 10-15 ปี ถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงสุด รองลงมา 15-20 ปี โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนบ้าน คนในครอบครัว โดยสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่า อีกทั้งนโยบายช่วง 2-3 ปี มีการเพิ่มอำนาจรัฐมากขึ้นอาจเป็นผลทางอ้อมให้คนใช้ความรุนแรงมากขึ้น แนวทางแก้ไขต้องปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในชั้นสืบสวนต้องให้สหวิชาชีพ อัยการเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ ให้ชุมชนนำเรื่องนี้เป็นบทเรียน หากเกิดปัญหาต้องช่วยกันหาคนผิดมาลงโทษ ไม่ใช่ปกป้องจนทำให้สังคมมองในแง่ลบ ที่สำคัญกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องรณรงค์ปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเหมือนไฟไหม้ฟางอย่างที่ทำอยู่ และฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการได้นำหลักสูตรเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายไปดำเนินการเร็วที่สุดหลังพม.ได้จัดทำเสนอศธ.ไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image