แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม สามัญชนผู้หาญกล้า ท้าทายประวัติศาสตร์คนสามัญ

เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ ในการรับรู้ของประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้น มั่นใจมากว่าหลายคนคงรู้จักบุคคลนี้ในนามของ ‘ความหลอกลวง’

หลอกลวงระดับไหนนั้นหรือ ก็ลวงขนาดที่คำว่า ‘กุ’ ในความหมายเชิงลบอย่างโกหกหรือสร้างเรื่องนั้น มาจากชื่อของนายกุหลาบ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คนนี้นั่นล่ะ

แต่นั่นคือความจริงแท้ หรือเป็นเพียงอคติของกลุ่มชนชั้นสูงในสมัยนั้นที่ถูก ก.ศ.ร. กุหลาบท้าทายอำนาจทางความรู้ของพวกเขากันแน่นั้น ได้กลายเป็นคำถามที่ในนักประวัติศาสตร์ไทยยุคปัจจุบันพยายามที่จะสืบค้นให้ได้จิ๊กซอว์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด


“แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม” โดย บุญพิสิฐ ศรีหงส์ ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง “งานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ชนชั้นนำและการสร้างองค์ความรู้ในสยามต้นยุคใหม่” จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในการสืบค้นที่น่าสนใจ และทำให้เห็นถึงหลายแง่มุมใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์เฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงความซับซ้อนในประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยอีกด้วย

Advertisement

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวในคำนิยมว่าหนังสือเล่มนี้นั้นมีความน่าสนใจ และเปลี่ยนภาพการอธิบาย ก.ศ.ร. กุหลาบอย่างมาก ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นสามัญชนที่เด่นมากคนหนึ่ง แต่ชื่อเสียงของเขาถูกทำลายจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นนักกุ หรือปลอมแปลงประวัติศาสตร์ งานของบุญพิสิฐจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่อธิบายว่า การกล่าวหาเช่นนั้นมีความคลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง

ก.ศ.ร. กุหลาบได้เขียนงานนิพนธ์จำนวนมาก จนทำให้ ก.ศ.ร. กุหลาบถูกเล่าถึงในฐานะ ‘ผู้เล่านิทานสู่กรุงสยาม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองานประเภททัศนวิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม งานเขียนเหล่านี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมและสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

“เรื่องที่ถือเป็นปมจินตภาพสำคัญ คือเรื่องที่กลุ่มชนชั้นนำสยามกล่าวหาว่า ก.ศ.ร.กุหลาบชอบอวดอ้างสร้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เป็นผู้ลักคัดเรื่องพงศาวดารและเรื่องเก่าแก่โบราณจากหนังสือของหอหลวง แล้วนำไปแทรกข้อความปลอมแปลงให้แตกต่างจากต้นฉบับก่อนนำไปพิมพ์จำหน่าย ในสายตาของชนชั้นนำสยามเห็นว่า การประพฤติเช่นนี้เป็นการสร้างความรู้ที่ผิดให้กับสังคม จนคำว่ากุ จากชื่อ กุหลาบกลายเป็นคำแสลงในความหมายของการสร้างเรื่องเท็จ โดยเฉพาะ “เรื่องหนังสือหอหลวง” ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนขึ้นและนำมารวมตีพิมพ์ในนิทานโบราณคดี กลายเป็นเอกสารสำคัญที่ประทับตรา กุ ให้ ก.ศ.ร.กุหลาบ เสมอมา”

Advertisement

ก.ศ.ร.กุหลาบถูกจับเข้าโรงพยาบาลคนเสียจริต เพราะลงพิมพ์ข้อความด้วยประวัติศาสตร์สุโขทัยเรื่อง “คำตอบพระราชวังบวรฯเป็นร้อยแก้ว” แล้วมีการใช้คำว่า ‘พระเจ้าจุลปิ่นเกษ’ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระทัย จึงต้องทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษที่ระบุว่า จะไม่พิมพ์จำหน่ายหนังสือพิมพ์สยามประเภทอีก ในข้อกล่าวหาเหล่านี้ บุญพิสิฐได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากข่าวสารสิ่งพิมพ์ในสมัยนั้นไม่ได้เห็นการต่อต้านหรือปฏิกิริยาเชิงลบต่องานเขียนของ ก.ศ.ร.กุหลาบ และยังมีนักเขียนสมัยนั้น เช่น แสน ธรรมยศ ที่ไม่เชื่อในข้อกล่าวหาทั้งหมด และยกย่องงานเขียนของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ส่วน ชัย เรืองศิลป์ ก็เสนอความเห็นว่า งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เนื้อความส่วนใหญ่ถูกต้องกับต้นฉบับ และถือว่างานของ ก.ศ.ร.กุหลาบให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านมากกว่า ดังนั้นในงานของบุญพิสิฐได้เสนอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านเรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบใหม่” รศ.ดร.สุธาชัยอธิบาย

ขณะที่ รศ.ฉลอง สุนทรวาณิชย์ กล่าวไว้ในคำนิยมว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สรรค์สร้างสถาปนาโดยปัญญาชนกลุ่มชนชั้นนำหรือประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลัก เป็นเรื่องเล่าสมัยใหม่ที่ผูกติดอยู่กับเรื่องราวของกลุ่มคนชั้นสูงที่ถือกุมอำนาจทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของรัฐไทย ซึ่งเรื่องราวและบทบาทของคนชายขอบนอกปริมณฑลแห่งอำนาจหรือกลุ่มชนชั้นไพร่ระดับล่างนั้น ถูกกดทับปิดกั้นหรือใช้อำนาจรัฐที่ถือกุมอยู่ ลดทอนปรับเปลี่ยนให้เป็นเพียงตัวประกอบบนเวทีให้ดูมีสีสัน คอยสร้างเสริมอำนาจบารมีและความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง หรือไม่ก็จะเป็นบทของผู้ร้าย กบฏ ผู้ไม่ประสงค์ดีมีจิตวิปลาส และเสี้ยนหนามของแผ่นดินเท่านั้น เพียงเพราะพวกเขาเหล่านี้คุกคามอำนาจของชนชั้นปกครอง ด้วยการใช้พื้นที่ในสื่อสิ่งพิมพ์อันเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางสังคมและภูมิปัญญาในช่วงนั้น นำเสนอแนวคิดที่แหวกขนบ เมินเฉยต่ออำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรม และท้าทายความชอบธรรมตามจารีตประเพณี
อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติกระแสรอง ที่เป็นเรื่องเล่าทางเลือกของประวัติศาสตร์ชาติขึ้น เพื่อทบทวนประเมินความทรงจำร่วมที่ถูกผูกขาด และเรียกร้องขอคืนความเป็นธรรมให้แก่เรื่องราวและบทบาทของกลุ่มชนคนสามัญ

ในบรรดาปัญญาชนคนชั้นล่างในช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ นั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุด ทั้งในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ ซึ่งบทบาทความเคลื่อนไหวและงานเขียนอันสะท้อนจุดยืนทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่แหวกขนบของเขา ถูกจับจ้องตรวจสอบจากอำนาจรัฐอย่างใกล้ชิด
ในขณะที่ภายหลังชีวประวัติและงานเขียนของเขา ก็ได้กลายเป็นแรงดึงดูดให้เข้ามาศึกษา สืบค้นตีแผ่ข้อมูลใหม่ๆ ตีความข้อเท็จจริงในบริบททางประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์ถกเถียงเห็นต่างอย่างคึกคัก และไม่ว่าข้อถกเถียงทางวิชาการที่ปรากฏจะไปทางใด ผลของการถกเถียงเห็นต่างเหล่านั้น โดยนัยก็คือการคืนความชอบธรรมและปลุกฟื้นสถานะทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนคนสามัญ

งานการศึกษาเกี่ยวกับ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในช่วงที่ผ่านมา แต่ละครั้งก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ งานเขียนที่เคยได้ยินแต่ชื่อ และการนำเสนอการตีความใหม่ที่แตกต่างออกไป ทำให้ ‘กุหลาบศึกษา’ มีสีสันชวนติดตามอย่างยิ่ง
หนังสือ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตในแง่มุมที่ไม่เคยได้ยินกันมาก่อนหรือรับรู้ในวงจำกัด แต่ความโดดเด่นยังอยู่ที่การนำผู้อ่านเข้าไปสู่งานเขียนจำนวนมากที่ไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาก่อนของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ค้นพบด้วยความยากเย็น

บางทีความกระจ่างที่เกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คงอีกไม่นานที่บทบาทและสถานะทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนคนสามัญของไทยอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ และคนอื่นๆ จะมีพื้นที่ยืนอยู่ในความทรงจำร่วมที่เป็นประวัติศาสตร์ชาติของไทยอย่างมั่นคง”

เหมือนพื้นที่ของ ก.ศ.ร. กุหลาบผู้ถูกกล่าวหาว่า ‘กุ’ ประวัติศาสตร์ในวันนี้นั่นเอง

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image