“ออง เค็ง ยอง” อดีตเลขาธิการ มองอนาคต “อาเซียน” 50ปี

ออง เค็ง ยอง

หมายเหตุ”มติชน” – นายออง เค็ง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 5 ปี ระหว่างเดือนมกราคม 2546-2551 ได้ร่วมปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของอาเซียน ซึ่งกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ จัดขึ้นติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจถึง “อาเซียนในอีก 50 ปีข้างหน้า”

50 ปีแรกที่ผ่านมา ถือได้ว่าอาเซียนค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้ว่าอาจมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางอื่น แต่ก็ต้องถือว่าอาเซียนบรรลุผลสำเร็จในหลายๆ เรื่อง ขณะที่ปฏิญญากรุงเทพซึ่งเป็นการก่อตั้งอาเซียนที่ได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ก็ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 5 ทศวรรษเช่นกัน

ก่อนหน้านี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นภูมิภาคแห่งความแตกต่างหลากหลาย แต่ด้วยการรวมตัวกันเป็นอาเซียน ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นสถานที่เปิด สามารถเข้าถึงได้ และเต็มไปด้วยสันติภาพ สำคัญไปกว่านั้น ภูมิภาคอาเซียนกำลังมองไปยังอนาคตด้วยแผนการที่ก้าวไปข้างหน้า ประเทศต่างๆ ในโลกล้วนแต่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน เกือบ 90 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับอาเซียน และทุกปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 100 ล้านคนเดินทางเข้ามาในประเทศสมาชิกอาเซียน ขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนยังใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ

ปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งการพัฒนาของอาเซียนคือการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) ในปี 2535 ซึ่งเป็นพื้นฐานของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หนึ่งใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้การค้าการลงทุนในอาเซียนเจริญเติบโตขึ้น ในช่วงปี 2541 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค อาเซียนเจอกับการแข่งขันจากตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)ของอาเซียนหายไปถึง 2 ใน 3 การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อาเซียนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้เพียงแต่ปัจจัยของการผลิตต้นทุนต่ำอย่างเดียว ในครั้งนั้นผู้นำอาเซียนได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำการศึกษาถึงแนวทางในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอให้มี่การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีการประเมินว่าหากอาเซียนสามารถรวมตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตจะลดลงถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดและข้อเสนอแนะให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเวลาต่อมา

Advertisement

ปัจจุบันโลกกำลังเต็มไปด้วยกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการเฟื่องฟูของลัทธิปกป้องทางการค้า ท่ามกลางท่าทีของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยากจะคาดเดา ขณะที่สหภาพยุโรปก็กำลังไขว้เขวไปกับปัญหาภายใน อาเซียนควรรักษาอัตราการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกันดำเนินการตามข้อริเริ่มต่าง ๆ เช่น มาตรการภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานสำคัญและเป็นป้อมปราการที่จะทำให้อาเซียนประสบความสำเร็จในการค้าเสรี รวมถึงการมีปฎิสัมพันธ์กับประชาคมโลกได้

อย่างไรก็ดี หากอาเซียนจะยังคงรักษาความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองใน 50 ปีข้างหน้าต่อไป อาเซียนจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาที่ยากลำบากเกี่ยวกับการรักษาการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ต้องมุ่งให้อาเซียนเป็นตลาดสินค้าและบริการที่ขับเคลื่อนโดยระบบดิจิทัลมากที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบในด้านประชากรและขุมพลังจากทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชน ปรับปรุงทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบุคคล ในวิชาชีพต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อเตรียมเยาวชนให้พร้อมกับงานในอนาคตก่อนที่ประชากรจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี ค.ศ. 2025

จากการประเมินในปัจจุบัน อาเซีนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ตลาดอินเตอร์เน็ตเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 124,000 รายต่อวัน และแนวโน้มจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า การเชื่อมต่อทางโทรศัพท์เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง โดยผู้ใช้บริการสมาร์ทโฟนในอาเซียนพุ่งสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในประเทศสมาชิกที่เศรษฐกิจยังไม่พัฒนมากนัก ขณะที่ในประเทศสมาชิกที่เศรษฐกิจมีความก้าวหน้า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี ความทันสมัยและเทคโนโลยีก็มาพร้อมกับความท้าทายและปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตกำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเราต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าพลเมืองของอาเซียนจะต้องมีทักษะที่ถูกต้องสำหรับการรับมือกับยุคดิจิทัล จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน ฝึกอบรมครู และทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลได้

การวิจัยเมื่อปี 2557 ชี้ว่ามีแรงงานฟิลิปปินส์มากกว่า 1 ล้านคนที่ทำงานในคอลเซ็นเตอร์และทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไอที ขณะที่ตัวเลขในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาคนทำงาน เช่นเดียวกับในไทย ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จบการศึกษาซึ่งได้มาตรฐาน ปัญหาขาดแคลนแรงงานในลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

ปัญหาคือไม่ใช่ไม่มีผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่เป็นเพราะมีการจับคู่อุปสงค์และอุปทานที่ไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้มีการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมสำหรับสังคมในยุคอินเตอร์เน็ตและนิวมีเดีย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวข้ามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม จงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในด้านนโยบาย เพราะในยุคอินเตอร์เน็ต มีความคาดหวังสูงถึงความโปร่งใสและความสามารถที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความลังเลที่จะเปิดเผยระบบที่มีอยู่แล้ว

ในอีก 50 ปีข้างหน้า รัฐบาลอาเซียนจะต้องรับมือกับแรงงานต่างด้าวรวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงนักธุรกิจที่จะต้องเดินทางไปทั่วชาติสมาชิก เนื่องจากเทคโนโลยีด้านสารสนเทศและการพัฒนาในประชาคมอาเซียนจะนำความก้าวหน้าและโอกาสต่างๆ มาสู่ประชาชนอาเซียน ทำให้แรงงานและนักวิชาชีพมีแรงจูงใจที่จะย้ายถิ่นฐานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีพลวัต แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ก็ยังขาดความสนใจที่มากพอในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้่นในระยะยาว อาเซียนจำเป็นต้องมีกรอบความร่วมมือที่เข้มแข็งขึ้นในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการบริหารจัดการแรงงานที่เข้มแข็งขึ้น

ชาติสมาชิกอาเซียนยังคงมีปัญหาถกเถียงกันในประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตย และดูเหมือนว่ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น กลุ่มหัวรุนแรงและกิจกรรมอันเป็นการก่อการร้ายจำเป็นต้องถูกตรวจสอบและจัดการกับประเด็นที่เป็นภัยคุกคาม ซึ่งยิ่งทำให้ต้องมีการกระชับความร่วมมือในการข้ามแดนและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ของอาเซียน และความจริงที่ว่าเรากำลังอยู่ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเพียงการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเท่านั้นที่จะป้องกันไม่ให้อาเซียนมีวิกฤตการณ์ด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นแบบเดียวกับสถานการณ์ในเมืองมาราวี(หมู่เกาะมินดาเนา)ของฟิลิปปินส์

สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่าก็กำลังเลวร้ายลง กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางเริ่มที่จะออกมาแสดงความสนับสนุนประชากรมุสลิมในพม่า และเรียกร้องให้มีการโจมตีรัฐบาลพม่า จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ความรุนแรงแพร่กระจาย

ทั้งนี้อาเซียนควรบริหารจัดการความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกให้ดี เพื่อรักษาประสิทธิภาพของอาเซียนและบทบาทในการรักษาความสมดุลในเวทีระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อวามร่วมมือในภูมิภาคต่อไป

แน่นอนว่าอาเซียนไม่สมบูรณ์แบบ การสร้างประชาคมเป็นกระบวนการที่ต้องมีการเรียนรู้ต่อไป แต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการทำให้วิสัยทัศน์ของอาเซียนเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่อนาคตของภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และมีสันติภาพของอาเซียนในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image