ดีเดย์-ภาษีใหม่ ปวดใจ? ‘สายดูด-สายดื่ม’

สัปดาห์นี้ ต้องจับตาว่าอัตราภาษีสรรพสามิตของสินค้าตางๆ เช่น บุหรี่ เหล้า ไวน์ เครื่องดื่มชา กาแฟ รถยนต์ จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร หลังจากรอลุ้นกันมานาน

โครงสร้างภาษีดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2560 ภาษีสรรพสามิตใหม่ ปรับโฉมการเก็บภาษีจากสินค้ามาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมการคิดภาษีจะนำราคานำเข้า หรือราคาหน้าโรงงาน มาเป็นฐานในการคำนวณ การเปลี่ยนฐานราคาคิดภาษี เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นของสินค้าแจ้งราคาผลิต หรือนำเข้าต่ำ แต่ขายราคาสูงเพื่อทำกำไรมาก

เมื่อฐานในการคิดภาษีเปลี่ยน อัตราภาษีต้องเปลี่ยน ส่วนใหญ่อัตราภาษีปรับลดลงกว่าเดิม ถ้าไม่ปรับลด ภาระภาษีสูงขึ้นทันที ยกตัวอย่าง ภาษีรถยนต์เคยเสียภาษี 30% แต่เมื่อเทียบราคาหน้าโรงงานกับราคาขายปลีกแนะนำแตกต่างกัน 24% ดังนั้น ภาษีใหม่ลดลง 24% ของอัตราภาษี 30% จะเหลือประมาณ 23% เป็นต้น

ภาษีสรรพสามิตใหม่มีทั้งหมด 14 สินค้า กับ 4 บริการ ส่วนใหญ่อัตราภาษีผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงต้นสัปดาห์นี้ อัตราภาษีที่ผ่าน ครม.ไปแล้ว เช่น เครื่องดื่ม น้ำมัน รถยนต์ แบตเตอรี่ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

Advertisement

ยกเว้น เหล้า เบียร์ บุหรี่ ไพ่ จะเสนอ ครม.วันที่ 12 กันยายนนี้ หลังจากนั้นจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปในวันที่ 16 กันยายน กรมสรรพสามิตให้เหตุผลว่าสินค้ากลุ่มนี้อ่อนไหว และมีผลต่อการกักตุน จึงประกาศพร้อมๆ กับที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม แม้มีเสียงยืนยันหลายครั้งจาก นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ว่าหลักการของภาษีใหม่จะไม่เพิ่มภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ โดยยืนยันว่าภาระภาษีไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ กรมสรรพสามิตไม่ได้หวังเพิ่มรายได้ แต่มีเป้าหมายใหญ่ในการปฏิรูปภาษี คือ ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส เป็นสากล ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ ทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ก็ยังมีความกังวลถึงความได้เปรียบเสียเปรียบจากภาษีใหม่ โดย นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเบียร์มักจะถูกเก็บภาษีตามราคาขาย เหล้ามักจะเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเพดานภาษีใหม่จะส่งผลต่อราคาขายของเหล้าและเบียร์ที่อาจไม่แตกต่างกันมากนัก และจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น สุราพื้นบ้านหรือเหล้าขาวถูกเก็บต่ำกว่าเบียร์ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน หรือเมื่อเทียบดีกรีแล้ว ผู้ดื่มแอลกอฮอล์อาจจะหันไปบริโภคสุราหรือเหล้าขาวมากกว่าเบียร์ที่มีดีกรีน้อยกว่า แต่ก็มีบางส่วนที่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากเหล้าขาวมาเป็นเบียร์มากขึ้น อัตราภาษีใหม่ในส่วนเบียร์จะถูกจัดเก็บภาษีมากกว่าเหล้าขาว ทำให้ราคาต่อดีกรีจะต่างกันมาก อาจมีส่วนจูงใจให้นักดื่มกลับมาสนใจเหล้าขาวมากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงสร้างการจัดเก็บที่ยกเว้นภาษีตามมูลค่าเพื่อเอื้อต่อผู้ประกอบการในประเทศ เช่น ไวน์ มีข่าวว่ายกเว้นการเก็บภาษีตามฐานมูลค่าจากปัจจุบันใช้เกณฑ์ราคาขายส่งช่วงสุดท้ายขวดละไม่เกิน 600 บาท มาเป็นเกณฑ์ราคาขายปลีกขวดละไม่เกิน 1,000 บาท นั้นถือว่าไม่เป็นไปตามหลักความเป็นธรรมตามหลักสากล ถือเป็นการบิดเบือนตลาด

รศ.ดร.อรรถกฤตกล่าวต่อว่า การเก็บภาษีควรเน้นสุขภาพเป็นหลัก ด้วยการเก็บภาษีตามปริมาณไม่ใช่ราคา หากโครงสร้างภาษีใหม่เปิดช่องให้ของราคาถูกจ่ายภาษีถูกกว่าของราคาแพงแล้ว ทำให้เกิดการขยายตัวของราคาอย่างรวดเร็ว และเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น บุหรี่ มีผู้ผลิตในประเทศรายใหญ่ที่รัฐเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิต ถือเป็นความลับ ที่ผ่านมาอัตราภาษีจะเป็นเท่าไหร่ ไม่เคยเล็ดลอดออกมาก่อนที่จะประกาศในราชกิจจาฯ แม้ขณะนี้จะมีข่าวออกมาบ้างประปาย แต่ไม่เคยได้รับการยืนยันจากกรมสรรพสามิต โดยเฉพาะเหล้า เบียร์ บุหรี่ ถือเป็นความลับสุดยอด มีเกี่ยวข้องไม่กี่คน ดังนั้น สิ่งที่เป็นข่าวออกมาช่วงนี้เป็นแค่กรอบกว้างๆ จากการประเมินและคาดเดาผู้ที่คลุกในวงในเท่านั้น

ยิ่งลับมาก ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอัตราภาษีที่จะปรับเปลี่ยนใหม่ จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการต้องควักเงินจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น แม้กรมสรรพสามิตบอกว่าภาระภาษีไม่ขึ้น แต่ขัดแย้งกับที่ประกาศอัตราในวันที่ 16 กันยายน เพราะกลัวกักตุน เพราะถ้าดูการจัดเก็บภาษีในภาพรวมยังต่ำเป้า แม้กรมสรรพสามิตยังจัดเก็บเกินกว่าเป้ากว่า 6 พันล้านบาท แต่กรมสรรพากรและกรมศุลกากร จัดเก็บต่ำเป้าหมายมาก เมื่อผลรวมออกมา 3 กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายมากกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท

ถ้าลงลึกในรายละเอียดการเก็บภาษี 10 เดือนแรกปีงบ 2560 พบว่าภาษีเหล้าต่ำกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท บุหรี่ เกินกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท ส่วนเบียร์เกินกว่าเป้าหมายเกือบ 900 ล้านบาท ในปีล่าสุด 2559 เหล้าเก็บภาษีระดับ 8 หมื่นล้านบาท ยาสูบ เหล้า ใกล้เคียงกันประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับสินค้ามีความชัดเจนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เปิดเผยโดย นายสมเดช ศรีสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต คือ ในกลุ่มยาเส้นพื้นเมือง เดิมเคยได้รับการยกเว้นภาษี แต่ภาษีใหม่ไม่ยกเว้นให้แล้ว เพราะการสูบบุหรี่ถือเป็นพิษภัยมีโทษ ดังนั้น ควรต้องเสียภาษี

ด้าน นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาษีใหม่ทำให้สินค้าบางประเภทที่ไม่เคยเสียภาษี เช่น เครื่องดื่มในกลุ่มช่วยเกษตรกรได้รับการยกเว้นภาษี 111 รายการ ภาษี 0% ภาษีใหม่ ยกเลิกการยกเว้นสำหรับ ชา กาแฟ จะถอดออกจาก 111 รายการ รวมถึงในส่วนเครื่องดื่มเก็บภาษีจากค่าความหวานด้วย เครื่องดื่มส่วนใหญ่ เช่น น้ำพืช ผัก ผลไม้ แม้จะยังยกเว้นภาษีใน 111 รายการ แต่ส่วนใหญ่มีค่าความหวาน 14-16 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (มล.) ต้องเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร หากน้ำผลไม้ขนาด 330 มล. เสียภาษีราว 35 สตางค์ ขนาด 550 มล. เสียภาษีประมาณ 50 สตางค์

ส่วนชา กาแฟ ถูกเก็บภาษีในกฎหมายใหม่ในอัตรา 10% ของราคาขาย บวกค่าความหวาน ส่วนใหญ่สินค้ามีราคาขายขวดละ 20 บาท เสียภาษีขวดละ 1 บาท ภาษีในกลุ่มนี้ยังต่ำเครื่องดื่มทั่วไปเดิมเก็บภาษีประมาณ 20%

หลักในการเก็บภาษีค่าความหวานมีข้อเสนอให้เก็บ 20-30% ของราคาขายปลีก เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่กรมสรรพสามิตให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี เป็นเวลา 3 ครั้ง รวม 6 ปี โดย 2 ปีแรก อัตราภาษีของสินค้าเครื่องดื่มทั่วไปลดลง เช่น เคยเสียภาษี 20% อัตราใหม่ประกาศใช้วันที่ 16 กันยายน ภาษีลดลงเหลือ 14% แต่จะเพิ่มการคิดภาษีจากค่าความหวานเข้าไปด้วย ทำให้การคิดภาษีเป็น 2 ขา คือทั้งด้านมูลค่าและปริมาณน้ำตาล

ปริมาณความหวานกำหนด 2 ปีแรก ค่าความหวานต่ำกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร (มล.) ไม่มีภาระภาษีความหวาน, 6-8 กรัมต่อ 100 มล. จ่ายในอัตรา 10 สตางค์/ลิตร, มากกว่า 8-10 กรัมต่อ 100 มล. จ่ายในอัตรา 30 สตางค์/ลิตร, มากกว่า 10-14 กรัมต่อ 100 มล. จ่าย 50 สตางค์/ลิตร, มากกว่า 14-18 กรัมต่อ 100 มล. จ่ายในอัตรา 1 บาท/ลิตร และ 18 กรัมขึ้นไป จ่ายในอัตรา 1 บาทต่อลิตร

สัปดาห์นี้อัตราภาษีสินค้าต่างๆ น่าจะชัดเจนมากขึ้น คงต้องมาดูว่าผู้ประกอบการในแต่ละสินค้าจะทำอย่างไร เพราะมีข่าวแว่วๆ แม้ภาษีบางสินค้าเพิ่มขึ้น แต่สินค้าบางยี่ห้อ บางประเภท เสียภาษีลดลง

ดังนั้น หลังภาษีใหม่ออกมา คงได้เห็นการแข่งขันตลาดกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยรุนแรงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image