วัดชีพจรทีวีดิจิทัล ยุคปรับทัพ ขายหุ้น-คืนไลเซ่น…ฝ่าทางตัน

เกือบจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักพร้อมใจกันพาดหัวข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเสนอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดช่องให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้

แต่แล้วก็ต้องฝันสลายในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุชัดเจนว่า “ยังไม่มีเสนอเข้ามา และไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ คงต้องหาวิธีการอื่นก่อน ถ้าไม่ได้ค่อยคุยกันอีกที” ประกอบกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เอง ก็ออกมาปฏิเสธเช่นกันว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากหลายรายเริ่มขยับเปลี่ยนตัวผู้หุ้นใหญ่ ชนิดบิ๊กดีลมากมาย ประกอบด้วย บริษัท อเดลฟอส จํากัด ซึ่งมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัดส่วน 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัด ที่ดำเนินธุรกิจ เช่น ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ธุรกิจวิทยุเอไทม์มีเดีย และล่าสุดการที่บริษัท CHIT LOM LIMITED เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 ในสัดส่วน 9.6359% ของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นครั้งแรก เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายช่อง อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่องวัน และอมรินทร์ทีวี ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่มาแล้วเช่นกัน

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงในด้านผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ สถานีโทรทัศน์ช่องยักษ์ใหญ่หลายแห่งเองก็มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัพ โดยการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารลำดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน เริ่มจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ดึงอดีตลูกหม้อเก่า คือ นายเขมทัตต์ พลเดช ข้ามฟากจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์

Advertisement

พีพีทีวี กลับมานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในเดือนเมษายน นายสมประสงค์ บุญยะชัย อดีตประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ก้าวไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 และเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติหน้าที่แทนรักษาการกรรมการผู้จัดการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ย้ายไปรับเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี

สถานการณ์เหล่านี้อาจบ่งบอกเป็นนัยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรหรือไม่ จึงต้องมีการขยับตัวกันพอสมควร

เชื่อม.44ช่วยชีวิตทีวีดิจิทัล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. มองว่า ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเงินของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลน่าจะดีขึ้น สังเกตได้จากการที่การจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 4 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้จะมีผู้ประกอบการบางรายจ่ายช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย แต่ท้ายสุดทุกรายก็สามารถจ่ายค่างวดกันได้ครบ ประกอบกับในปี 2560 ก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ออกมา 2 แนวทาง คือ 1.การขยายกำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลือจาก 3 งวดในเวลานั้น (งวดที่ 4-6) เป็น 6 งวด และ 2.การที่ กสทช.จะช่วยผู้ประกอบทีวีดิจิทัลลดค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นดาวเทียมไทยคม เพื่อออกอากาศผ่านทางทีวีดาวเทียม

ทั้งนี้ ก็ยอมรับว่าจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่มีอยู่อาจจะมีมากเกินไป คือ 24 ช่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณามีอยู่เพียง 100,000 ล้านบาทที่ต้องแบ่งกัน ล่าสุด เงินจำนวนดังกล่าวก็ยังถูกแย่งตลาดจากสื่อดิจิทัล ออนไลน์อื่นๆ ไปเป็นมูลค่าราว 18,000-20,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใดอยากจะคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น ยอมรับว่าอำนาจตามกฎหมายของ กสทช.ไม่สามารถดำเนินการได้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยากคืนใบอนุญาตจริง ขอให้ไปยื่นเรื่องต่อหัวหน้า คสช.ด้วยตนเอง หากทาง คสช.เห็นพ้องและส่งเรื่องต่อมาให้ กสทช.ช่วยพิจารณา ทาง กสทช.ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ

“อยากให้รอติดตามสถานการณ์ไปก่อน อย่าไปกังวลว่าเขาจะประกอบธุรกิจกันไม่ได้ จนกว่าจะถึงกำหนดชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ในเดือนพฤษภาคม 2561” นายฐากรกล่าว

ทีวีดิจิทัลหันขายหุ้นแทนกู้แบงก์

ในมุมของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และนายกสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ระบุว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในเวลานี้ยังอยู่ในขั้นทรงตัว สถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ยังคงมองหาคอนเทนต์ที่เป็นจุดเด่นเพื่อเพิ่มเรตติ้งของตนเอง เพราะหากเรตติ้งไม่ขยับ เม็ดเงินโฆษณาและรายได้ก็จะลดน้อยลง ฉะนั้น ในปี 2560 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

แต่ละช่องจึงแข่งกันนำคอนเทนต์รายการใหม่มานำเสนอผู้ชม

อย่างไรก็ตาม การจะผลิตรายการใหม่ๆ หรือซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องทำการเพิ่มทุน ซึ่งการเพิ่มทุนด้วยวิธีปกติอย่างการกู้ธนาคาร ยอมรับว่าขณะนี้เป็นหนทางที่ยากมาก เพราะธนาคารเริ่มไม่ค่อยปล่อยกู้ หรือหากปล่อยกู้ก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ฉะนั้น กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในเวลานี้ที่ผู้ประกอบการใช้ในการเพิ่มทุน คือ การขายหุ้นหรือเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกจากนี้ ในการลดต้นทุนเดิมทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ หลายช่องก็ยังใช้วิธีการลดจำนวนพนักงานด้วยเช่นกัน

แนะเปิดช่องให้คืนใบอนุญาต

“ส่วนตัวประเมินว่าสถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลปี 2561 ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2560 เท่าใดนักและคงยืดยาวไปจนกว่าผู้ประกอบการจะชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลครบทุกงวดจึงจะเริ่มฟื้นตัวกัน” นายเขมทัตต์ระบุ

นายเขมทัตต์กล่าวว่า ในส่วนของแนวทางความช่วยเหลือมองว่า กสทช.เองก็ควรแก้กฎหมายบางประการที่ผูกมัดไว้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมามีหลายกฎที่ กสทช.ออกมาแล้วทำไม่ได้ อีกทั้งปัจจุบันเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการเข้ามาของเทคโนโลยีการแพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต (โอทีที) ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลนั้นไม่ดีขึ้นจริง โดยการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต ก็ถือเป็นอีก 1 ช่องทางที่ควรดำเนินการ เพราะที่สุดแล้วหากอุตสาหกรรมในภาคเอกชนไม่โตหรือมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศด้วยเช่นกัน

การขายหุ้นจะเป็นเรื่องปกติ

ฝั่งมุมมองนักวิชาการ นายสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ เห็นว่า จากการตามติดสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลในประเทศไทยมาโดยตลอด พบว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ไม่ประสบปัญหาทางธุรกิจเท่าใดนักเพียง 3-4 รายเท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่ยังคงติดลบทางบัญชีอยู่ ซึ่งการที่ในระยะหลังมานี้จะเห็นผู้ประกอบการหลายรายมีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่จึงถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ประกอบกับตัวเลขคาดการณ์ของสมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจแห่งประเทศไทย ก็ออกมาระบุแล้วว่าเงินโฆษณาของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเองก็มีแนวโน้มลดน้อยลงจากในปี 2559 รวมถึงในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ที่จะต้องมีการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธี ก็จะกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในเรื่องของรายได้ค่าโฆษณาด้วยเช่นกัน

นายสิขเรศกล่าวปิดท้ายว่า สำหรับสถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในปี 2561 น่าจะยังคงไม่ดีขึ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยแนวทางช่วยเหลือปัญหาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่พอช่วยได้อาจเป็นการแก้ไขกฎระเบียบปลดล็อกต่างๆ ที่กระบวนการแก้ไขปัญหาตามปกติไม่สามารถทำได้ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่มีกฎหมายมาตรา 44 ก็จะสามารถมาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ทุกภาคส่วนล้วนเห็นตรงกันแล้วว่า หลังจากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะเชื่อได้ว่าการขายหุ้นหรือเปลี่ยนตัวผู้กุมบังเหียนคงมีมาอีกเพียบแน่นอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image