โวย ‘วัดบางขุนเทียนนอก’ ทำโคมไฟคล้าย ‘เจ้าโลก’ ล้อม ‘หลวงพ่อทวด’ วัดแจงเป็น ‘เวตาล’ หัวปลัดขิก

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีวัดบางขุนเทียนนอก เขตจอมทอง กทม. สร้างประติมากรรมคล้ายรูปอวัยวะเพศชาย มีขา ตา และปีก ลงอักขระ ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ของวัด อาทิ ท่าน้ำริมคลองบางขุนเทียน และพื้นที่ใกล้ประตูหน้าวัด รวมถึงมีการจำหน่ายวัตถุมงคลรูปร่างดังกล่าว นอกจากนี้ ทางวัดได้ประกาศเชิญชวนชาวบ้านร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินในวันที่ 8 ต.ค.ที่จะถึงนี้เพื่อสมทบทุนสร้างวิหารหลวงพ่อทวด ซึ่งมีรูปหล่อหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ตั้งบนดาดฟ้า ล้อมรอบด้วยโคมไฟรูปร่างคล้ายเจ้าโลก

ชาวบ้านรายหนึ่งไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า ตนและบรรพบุรุษเป็นชาวบางขุนเทียนแต่กำเนิด ปัจจุบันยังใช้คลองในการสัญจร เมื่อแล่นเรือผ่านท่าน้ำวัดบางขุนเทียนนอกได้เห็นประติมากรรมรูปคล้ายอวัยวะเพศชาย รู้สึกว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่ใช่ความเชื่อในพุทธศาสนา ล่าสุดยังมีการสร้างเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประดับบนวิหารหลวงพ่อทวดซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงอยากตั้งคำถามว่านอกจากจะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธแล้ว รูปอวัยวะเพศดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชาวบางขุนเทียน หรือวัดบางขุนเทียนนอกอย่างไร มองแล้วไม่มีรากเหง้า หากจะสร้างถาวรวัตถุในวัด ควรยึดโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากกว่า

พระมงคล ฐิตมังคโล เลขานุการเจ้าอาวาสวัดบางขุนเทียนนอก กล่าวว่า ประติมากรรมดังกล่าวเรียกว่า ‘เสือปลัดขิก’ เนื่องจากมีส่วนหัวเป็นปลัดขิก แต่มีรูปร่างเป็นเสือ สื่อถึงการมีพละกำลังมหาศาล เกิดจากแนวคิดและจินตนาการของพระครูเกษมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาส โดยสร้างขึ้นเพื่อจงใจเปรียบเทียบว่าขนาดอวัยวะเพศที่ไม่ได้มีกำลังวังชามากมายด้วยตัวของตัวเอง ยังทำให้โลกวุ่นวายขนาดนี้ ถ้ามีกำลังเหมือนเสือจะวุ่นวายเพียงใด จุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นเป็นกุศโลบายยุ่งล้อสังคมว่า หากมนุษย์ยังหมกมุ่นในกามารมณ์ ตัณหา ราคะ จะทำเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนการทำเป็นวัตถุมงคลเกิดจากชาวบ้านที่ต้องการนำไปบูชา ทางวัดจึงตัดสินใจทำให้เช่าเพื่อนำรายได้มาพัฒนาวัดในด้านต่างๆ เช่น ก่อสร้างถาวรวัตถุ

Advertisement

“เสือปลัดขิก ทำจากวัสดุหลากหลาย มีทั้งไม้ประเภทต่างๆ เช่น ไม้พะยูง ไม้ชุมแสง ไม้เกิด ไม้มะเกลือ แบบที่เป็นโลหะก็มี นอกจากนั้นก็ทำเป็นหัวเข็มขัดด้วย เพราะบางคนไม่สะดวกพกพา เมื่อทำเสร็จจะมีการปลุกเสกด้วยคาถาส่วนตัวของหลวงพ่อ ส่วนการถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับเรื่องของความเชื่อ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ขอให้เป็นสิ่งที่ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นก็เพียงพอแล้ว สำหรับวิหารหลวงพ่อทวดใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการตกแต่งภายใน และเก็บรายละเอียดเพิ่ม เช่น ปั้นบัวให้สวยงาม วิหารนี้มีโยมชาวบางขุนเทียนซึ่งมีจิตศรัทธาช่วยสนับสนุนโดยออกเงินค่าใช้จ่ายให้ก่อนส่วนหนึ่ง เมื่อทางวัดมีเงินทำบุญเข้ามาก็จะนำไปคืน แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่คนคัดค้าน แต่มีผู้สนับสนุนด้วย ทุกวันนี้มีทั้งคนจากที่อื่น และชาวบ้านใกล้ๆ วัดเดินทางมาทำบุญ ซึ่งตั้งแต่สร้างเสือปลัดขิกมีคนทำบุญมากขึ้น ทำให้วัดมีรายได้มาซ่อมบำรุงส่วนต่างๆ วัดก็พัฒนาไปมาก” พระมงคลกล่าว

พระมงคลกล่าวอีกว่า ตนทราบมานานแล้วถึงเสียงวิพากษ์กรณีดังกล่าว โดยมีทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุน อย่างไรก็ตามทางวัดมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ มีผู้เดินทางมาปฏิธรรม มีการเรียนบาลีตามหลักทุกอย่าง ดังนั้นขอให้ญาติโยมมองอย่างรอบด้านว่าไม่ได้มีแค่การสร้างเสือปลัดขิกและวัตถุมงคลเท่านั้น

Advertisement

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการประดับอุโบสถและวิหารด้วยวัตถุที่สร้างจากแนวคิดใหม่จำนวนมากโดยมักอ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ มีการผสมผสานแล้วให้ความหมายหรือตีความใหม่ ไม่มีในคัมภีร์ ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องความเชื่อ จึงต้องขึ้นอยู่กับคนในท้องถิ่นว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็ถือว่าเป็นสิทธิของชาวบ้านในการมีมุมมองต่อศาสนสถานในท้องถิ่นของตน

“การสร้างอะไรขึ้นมา ถ้าเป็นของส่วนตัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมแล้วเขาไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร ความเป็นสังคมไทย มีเรื่องของท้องถิ่นอยู่ ผู้คนมีความคิดทางวัฒนธรรมของตัวเอง แต่วัดโดยทั่วไปมักไม่ใส่ใจสิ่งเหล่านี้ คิดว่าสามารถทำอะไรก็ได้ เมื่อเผชิญกับสำนึกท้องถิ่น ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา ชาวบ้านมีสิทธิที่จะวิจารณ์ บางวัดทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วสังคมเอาด้วย ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นการสร้างเอาใจคนนอก หรือสร้างเพื่อดึงคนนอกอย่างเดียว เป็นเรื่องน่าห่วง การศรัทธาจากคนนอก โดยไม่สนใจความรู้สึกของคนในท้องถิ่นย่อมเป็นปัญหา”  ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

ทั้งนี้ ประติมากรรมเสือปลัดขิกเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลออนไลน์มาแล้วในช่วงกลางปี 2559 โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเชื่อมโยงกับ ‘เพชรพญาธร’ ซึ่งให้คุณในด้านความมีเสน่ห์ ไม่เหมาะสมกับการอยู่ในวัด ต่อมา พระครูเกษมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาส อธิบายว่า ไม่ได้ลอกแบบหรือแนวคิดมาจากเพชรพญาธร รวมทั้งไม่ได้อ้างอิงจากเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด แต่คิดขึ้นเองตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วเพื่อมอบให้ชาวบ้านเพื่อเป็นกำลังใจในการค้าขายและดำเนินชีวิต ต่อมามีการบอกต่อกันปากต่อปากเกิดการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ขึ้นดังที่เห็นในปัจจุบัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงต้นเค้าดั้งเดิมว่ามาจากวัดบางขุนเทียนนอกเท่านั้น ส่วนโคมไฟรอบวิหารได้รับอิทธิพลจาก “กากอย” ในศิลปะตะวันตกแล้วดัดแปลงเป็น “เวตาล” แต่ปรับเปลี่ยนให้มีหัวเป็นปลัดขิก เนื่องจากตนชื่นชอบศิลปะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image