‘ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต’คว้ารางวัลผู้นำอาเซียน ‘อธิบดี พช.’ยกย่องเป็นบริษัทต้นแบบSE

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงาน Batik Design Week 2017 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลภูเก็ต จัดโดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ว่างานบาติกนี้จัดเป็นปีที่ 2 แล้ว ทำให้เห็นถึงการพัฒนามากขึ้น และภูเก็ตไม่น่าเป็นแค่ศูนย์กลางบาติกในอาเซียนเท่านั้น มองว่าถ้ามีการจัดและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปอีกสัก 4-5 ปี ก็สามารถยกเป็นศูนย์กลางบาติกระดับโลกได้ โดยเฉพาะในแง่ดีไซน์ ที่ผ่านมาเคยไปเห็นงานบาติกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้วสวยดี แต่ถ้าเปรียบเทียบกับงานบาติกใน 10 จ.ภาคใต้ก็ไม่แพ้กัน อาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำไป ดังนั้น การที่ภูเก็ตจะเป็นศูนย์กลางบาติกโลกน่าจะเป็นไปได้

“เป็นที่น่ายินดีเพราะเพิ่งมีการประกาศผลว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ตฯ ได้รับรางวัลผู้นำอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ในภาคประชาสังคม จากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 และจะไปรับรางวัลที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากนี้คงจะมีผู้คนและคณะต่างๆ มาดูงานที่ จ.ภูเก็ต จำนวนมาก เพราะถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE ที่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเกียรติยศมาพร้อมกับความรับผิดชอบ”

ทางด้านนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “การจัดงาน Batik Design Week 2017” จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปี 2016 ได้รวบรวมผู้ประกอบการบาติก จาก 10 จังหวัดภาคใต้ มาร่วมแสดง แต่ในปีนี้ได้รวบรวมผู้ประกอบการบาติกจากทั่วประเทศมาร่วมงานกว่า 30 ร้านค้า ถือเป็นการสร้างโอกาสธุรกิจให้กับชุมชนและรวมกลุ่มชุมชนผู้ผลิตผ้าบาติกทั่วประเทศครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างชุมชนผู้ผลิต เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้มีเอกลักษณ์ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการผลิตการจำหน่ายซึ่งกันและกันด้วย

Advertisement

ขณะที่นายวีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ตฯ กล่าวว่า ผ้าบาติกถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตและสืบต่อกันมาอย่างยาวนานของชาวจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจังหวัดทางภาคใต้ ทางบริษัทได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องของช่องทางการตลาด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อันจะนำไปสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์และการสร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น และปลุกจิตสำนึกการสืบสานและอนุรักษ์การทำผ้าบาติกภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป้าหมายเดียวนั่นคือการสร้างรายได้ให้ชุมชน ให้ชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image