ฐานเสียง คะแนน เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ปัจจัย ‘เลือกตั้ง’

ความเชื่อที่ว่าหลังการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทย

เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ “ถดถอย”

ความเชื่อนี้ไม่เพียงแต่ในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการส่วนหนึ่งที่เอนเอียงไปทางพรรคเพื่อไทย เอนเอียงไปทาง นปช.คนเสื้อแดงเท่านั้นที่เชื่อ

พรรคประชาธิปัตย์ก็เชื่อ

Advertisement

นั่นก็เห็นได้จากการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกโรงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อาจเพราะได้ “อภินิหาร” ในทาง “กฎหมาย”

ถึงกับแสดงออกในเชิงผ่อนปรนทางการเมืองไม่เพียงแต่ต่อ คสช. หากพร้อมที่จะยอมรับท่าทีใหม่อันมาจากพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

Advertisement

มีแต่คนที่เหนือกว่าเท่านั้นที่คิดแบบนี้

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างไปจากพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยนั้น คัดค้าน ต่อต้าน อย่างแข็งกร้าว

พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาท “ร่วม” ด้วยในระดับที่แน่นอน อาจคลุมเครือเมื่อปี 2549 แต่แจ่มชัดอย่างเห็นเป็นรูปธรรมในปี 2557

นั่นเพราะถือว่าฝ่ายของตนได้ประโยชน์

อย่างน้อยก็ประเมินว่ากระบวนการรัฐประหารส่งผลให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอและยากลำบากในการจะขยับขับเคลื่อน

ถึงอย่างไรพรรคพลังประชาชนก็ไม่น่าแข็งเท่าพรรคไทยรักไทย

ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าแข็งเท่าพรรคพลังประชาชน อย่าว่าแต่จะนำไปเทียบกับพรรคไทยรักไทยเลย

จุดนี้คือความได้เปรียบของพรรคประชาธิปัตย์

กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์อาจลืมคิดหรือมองข้ามสภาพความเป็นจริงในทางการเมืองอันเนื่องแต่รัฐประหารไป

นั่นก็คือ “ชาวบ้าน” คิดอย่างไรต่อ “รัฐประหาร”

เป็นไปได้ว่าน่าจะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” มิฉะนั้น เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2549 ก็ยังมีรัฐประหารอีกในปี 2557

เพียงแต่เปลี่ยนจาก “พันธมิตร” มาเป็น “กปปส.”

กระนั้นก็ยังมี “ชาวบ้าน” อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเลยกับกระบวนการ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ตาม

ถามว่าชาวบ้านส่วนนี้ขยาย “ปริมาณ” หรือไม่

ถามว่าชาวบ้านส่วนนี้หากขยายปริมาณมากขึ้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาจากส่วนที่เคยเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” 2 ครั้งที่ผ่านมา

ตรงนี้คือ ความละเอียดอ่อนของ “สภาพการณ์”

ตรงนี้คือ ปัจจัยอันจะทำให้ผลการเลือกตั้งเมื่อปรากฏจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ หรือว่าเป็นของพรรคเพื่อไทย

การที่ คสช.ยังไม่มีความแจ่มชัดในเรื่องกำหนดวาระแห่ง “การเลือกตั้ง” เท่ากับเป็นเงาสะท้อนว่า คสช.เองก็อยู่ระหว่างการประมวลและวิเคราะห์

โดยมีจุดเริ่มต้นจาก “ผลงาน” และความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน ก็มีรากฐานมาจากความไม่แน่ใจว่า “ฐานเสียง” ของพรรคประชาธิปัตย์เชิงเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยดำเนินไปอย่างไร

“ฐานเสียง” และความนิยมนั่นแหละคือปัจจัยชี้ขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image