สามเหลี่ยมหัวกลับ….โมเดลใหม่การศึกษาไทย : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เล่าความคืบหน้าล่าสุดว่า คณะอนุกรรมการเตรียมจัดทำข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างไว้ 2 ส่วน คือ ปรับโครงสร้างการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ จากเดิมที่นโยบายการกำกับและสั่งการมาจากส่วนกลาง โรงเรียนมีหน้าที่ปฏิบัติเหมือนรูปสามเหลี่ยมหัวตั้ง ทำให้เกิดปัญหา 20 ปี เปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 23 คน เฉลี่ยปีละคน เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรี นโยบายก็เปลี่ยน ทำให้โรงเรียนสับสนเพราะต้องทำตามนโยบาย

ดังนี้ คณะอนุกรรมการจะเสนอให้ปรับมาบริหารแบบสามเหลี่ยมหัวกลับ เป็นการปฏิรูปจากความต้องการของโรงเรียนและส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุนดูแล ส่วนที่ 2 เป็นการปฏิรูปจากโรงเรียน

พร้อมกันนี้ได้แสดงภาพประกอบโครงสร้างใหม่สามเหลี่ยมหัวกลับ มุมด้านซ้ายมือเป็นฝ่ายนโยบาย มุมด้านขวามือเป็นฝ่ายกำกับ (สภาการศึกษา-สกศ.) มุมด้านล่างเป็นฝ่ายปฏิบัติ โรงเรียน

ที่มาของแนวความคิดดังกล่าว เป็นผลมาจากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ให้ปรับโครงสร้างส่วนกลางแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกำหนดนโยบายทางการศึกษา กลุ่มปฏิบัติการตามนโยบาย กลุ่มสนับสนุนการจัดการศึกษา และกลุ่มตรวจสอบและประกันคุณภาพการศึกษา โดยปรับเหลือ 3 กลุ่ม เลยกลายเป็นรูปสามเหลี่ยมใช่หรือไม่ ไม่น่าเป็นประเด็นสาระสำคัญ

Advertisement

ข้อคิดเห็นที่น่าสานเสวนามีว่า การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือฝ่ายกำหนดนโยบายบ่อย เป็นผลมาจากจุดอ่อนของโครงสร้างการบริหารที่เป็นมาแต่เดิม กระทั่งปรับเปลี่ยนเป็น 5 แท่งจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขาดเสถียรภาพ และความต่อเนื่อง หาใช่การขาดฝ่ายกำกับ เพราะฝ่ายกำกับก็คือสภาผู้แทนราษฎรและสังคม

ที่ผ่านมาโครงสร้างการบริหารการศึกษา มีสภาการศึกษาแห่งชาติเดิมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เจตนารมณ์นอกจากเพื่อเป็นสภากำหนดนโยบายทางการศึกษาของชาติให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงการปฏิบัติของหน่วยปฏิบัติก็มีสภาพที่ว่าทำตามบ้าง ไม่ทำบ้าง เพราะขาดบทกำหนดโทษ

ต่อมาหลังปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 สภาการศึกษาจึงมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การปฏิบัติของหน่วยปฏิบัติยิ่งย่อหย่อนกว่าเดิม หน่วยวางแผนก็วางไป หน่วยปฏิบัติก็ทำไปตามความคิดความเชื่อของตัวเป็นหลัก จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความคิดแยกอำนาจ บทบาท ให้ชัดเจน ทำให้ฝ่ายกำกับเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังที่กำลังเกิดข้อเสนอใหม่สามเหลี่ยมหัวกลับขณะนี้

กระนั้นก็ตาม ปัญหาเดิมที่เคยเกิด คือฝ่ายปฏิบัติไม่กระตือรือร้น ไม่สนใจทำตามเท่าที่ควร จะแก้อย่างไร มีมาตรการทำให้เกิดสภาพบังคับอย่างไร

โครงสร้าง องค์ประกอบของฝ่ายกำกับไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร สภาการศึกษาหรือสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติก็ตาม ต้องแยกจากฝ่ายกำหนดนโยบายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประธานฝ่ายกำกับต้องเป็นอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็จะไม่ใช่ระบบแยกบทบาทหน้าที่ตามโมเดลใหม่ที่คิดไว้ เพราะหัวโต๊ะฝ่ายกำหนดนโยบายกับฝ่ายกำกับเป็นคนคนเดียวกัน

ถึงแม้จะจัดโครงสร้างฝ่ายกำกับขึ้นใหม่ แยกออกจากฝ่ายปฏิบัติ ทำนองเดียวกันกับองค์กรกำกับด้านพลังงาน (กกพ.) ด้านการเงิน การธนาคาร รัฐวิสาหกิจฯ ก็ตาม องค์กรที่ถูกวางไว้แล้วตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษาด้วย กับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านนั้นๆ ต้องทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติอย่างน้อย 5 ปีอยู่แล้ว

บทบาทขององค์กรฝ่ายกำกับที่จะเกิดขึ้นตามโครงสร้างใหม่จะทับซ้อน ทำซ้ำกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ จะแยกบทบาท อำนาจ หน้าที่กันอย่างไร ถึงจะไม่ทำให้ฝ่ายปฏิบัติสับสน ทำไม่ถูก ไม่รู้จะฟังและทำตามใครดี เพราะมีเจ้านายหลายฝ่ายเหลือเกิน

ครับนี่คือ ภาพการคาดการณ์ ความเป็นไปของการบริหารการศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววัน ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลถึงคุณภาพการศึกษา โอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปอย่างไร หรือยิ่งทำให้เนิ่นช้าออกไปอีก เพราะต้องสลับสับเปลี่ยน จัดองค์กร อัตรากำลังคน เงิน งาน กันอีกขนานใหญ่

ประเด็นที่น่าคิดพิจารณา การบริหารการศึกษาโดยนำเอาแนวคิดการจัดการยุคใหม่ที่ใช้กับธุรกิจการค้า การอุตสาหกรรม การเงินการธนาคาร การพลังงาน ซึ่งเน้นการแยกบทบาทภารกิจกันอย่างเด็ดขาดชัดเจน ตามหลักการถ่วงดุล กำกับ ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ เป็นฐานความคิดฝ่ายโลกตะวันตกมาใช้กับการศึกษานั้นเหมาะสมเพียงไร จะส่งผลอย่างไร

ขณะที่การศึกษาเป็นเรื่องของคนซึ่งมีความละเอียดอ่อน มีชีวิต จิตใจ นอกจากหลักความรับผิดชอบแล้ว ยังมีหลักความร่วมมือร่วมใจ หลักเสรีภาพ หลักกัลยาณมิตร

ที่สำคัญหลักความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ดังพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำอย่างไรก็ได้ ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู สอดคล้องกับหลักคิดฝ่ายโลกตะวันออก

โครงสร้างใหม่สามเหลี่ยมหัวกลับ จะทำให้ความรักของเด็กที่มีต่อครูเพิ่มขึ้น ความรักของครูที่มีต่อเด็กเพิ่มขึ้น ลดบรรยากาศแห่งความกลัว สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัย อบอุ่น เพราะครูใช้อำนาจลดลง ใช้ใจสอนมากขึ้น รักนักเรียนเหมือนลูกหลาน รักเพื่อนร่วมงานเหมือนญาติพี่น้อง รักโรงเรียนเหมือนบ้านหรือไม่

หรือทำให้บรรยากาศทั้งระดับบนและระดับโรงเรียนยิ่งตึงเครียดมากขึ้น เพราะระบบกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ มีความเข้มแข็งจนทำให้ครูไม่กล้าขัดขืน หรือไม่ก็วางเฉยๆ ทำงานไปวันๆ เช้าชามเย็นสองชาม ต้องติดตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image