คนอพยพ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ดูข่าวเรื่องคนอพยพ เรื่องชาวโรฮีนจาอพยพออกจากพม่าหรือจากประเทศเมียนมาแล้วก็รู้สึกเศร้าใจ ในชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้น เพราะพวกเขาเกิด ดำรงอยู่ และสืบทอดเผ่าพันธุ์ในดินแดนของประเทศเมียนมา ที่มีชนเผ่าพม่าซึ่งก็ไม่ใช่ชนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เป็นผู้ปกครอง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลหลังจากได้เป็นเอกราชแล้วก็ไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชนเผ่าต่างๆ ขณะที่ร่วมกันดิ้นรนเพื่อเอกราชกับอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าดินแดนที่เรียกกันว่า เมียนมา ในขณะนี้นั้น เมื่อก่อนที่พระเจ้าอลองพญาจะรวบรวมขึ้นเป็นราชอาณาจักรจนสามารถนำกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้นั้น ประกอบไปด้วยอาณาจักรหลายๆ อาณาจักร ที่สำคัญก็คืออาณาจักรมอญ ฉานหรือไทยใหญ่ คะฉิ่น ยะไข่ พม่า ในสมัยโบราณการปกครองของบรรดารัฐเหล่านี้ก็คงจะเป็นแบบนครรัฐที่ต่างก็มีเจ้าเป็นผู้ปกครอง นานๆ ครั้งก็จะมีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สามารถรวบรวมอาณาจักรเข้าด้วยกันได้ ครั้งแรกก็โดยกษัตริย์พม่าที่ตองอู สามารถรวบรวมรัฐหรือแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าบุเรงนอง ที่มาตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 และส่งเจ้าเชื้อสายบุเรงนองมาครองนครเชียงใหม่ เมืองหลวงของล้านนาจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนองพม่าก็แตกออกเป็นอาณาจักรต่างๆ อีก

ต่อมาพระเจ้าอลองพญาซึ่งเดิมเป็นนายบ้าน ได้รวบรวมผู้คนเป็นกบฏ แข็งเมืองกับมอญและสถาปนาราชวงศ์อลองพญาหรือราชวงศ์คองมอง มีราชธานีอยู่ที่กรุงอังวะ ก่อนที่จะย้ายมาที่เมืองอมรปุระและเมืองมัณฑะเลย์ ตามลำดับ

ชนเผ่าต่างๆ ที่พ่ายแพ้แก่ชนเผ่าพม่า เช่น มอญ ไตหลวงหรือไตใหญ่ ยะไข่ คะฉิ่น กะเหรี่ยง แม้ไม่มีดินแดนของตนเองแต่ก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ล้วนแต่เกลียดชังพม่าเป็นทุนเดิมทั้งสิ้น คนไทยเชื้อสายมอญที่อพยพหลายระลอกจากการหนีสงครามกับพม่ามาอยู่เมืองไทย ถ้าเป็นคนรุ่น 80-90 ปีก่อนขึ้นไป เมื่อพูดถึงพม่ากับจะพูดด้วยความเกลียดชัง ขุ่นแค้นถึงความโหดร้ายทารุณที่ทหารพม่าทำกับพวกตน

Advertisement

แม้แต่ขณะนี้ที่มีคนมอญ ไต กะเหรี่ยง ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทย ทุกคนก็จะพูดถึงความทุกข์ที่ได้รับการทารุณโหดร้ายจากทหารพม่า ทรัพย์สมบัติ ที่ดิน รถรา บ้านเรือน ข้าวในยุ้ง ถูกกองทัพพม่ายึดไปเป็นของชนเผ่าพม่า กองทัพพม่าผ่านไปที่ใดก็จะยึดบ้านเรือนไร่นาของมอญ ของไทยใหญ่ ของคะฉิ่น ของกะเหรี่ยง แล้วแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องของพม่าทำกินโดยมีทหารพม่าให้การคุ้มครอง กองทัพพม่านั้นเฉพาะชนเผ่าพม่าเท่านั้นที่จะเป็นนายทหารได้ สำหรับพลทหารก็เกณฑ์เอาตามหมู่บ้าน โดยเข้าไปล้อมหมู่บ้านแล้วจับตัวชนเผ่าอื่นไปเป็นพลทหาร ไปสู้รบกับชนเผ่าอื่น รัฐบาลพม่าจึงอยู่ได้ด้วยการใช้กองกำลังทหาร ไม่สามารถที่จะให้มีระบบการเมืองเปิดผ่านการลงคะแนนเสียงประชามติได้ เพราะถ้ามีการลงคะแนนเสียงประชามติ ชนเผ่าต่างๆ ก็จะลงคะแนนเสียงแยกตัวออกเป็นอิสระทั้งสิ้น

แม้แต่แรงงานจากประเทศเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทย ถ้าโรงงานไหนคนงานเป็นมอญ หรือไทยใหญ่ โรงงานนั้นจะไม่มีแรงงานชนเผ่าพม่า เพราะถ้าขืนนายจ้างเอาแรงงานพม่าเข้ามาทำก็จะถูกต่อต้าน ถึงขั้นทำร้ายร่างกายได้ แต่ถ้าเป็นลาว เขมร กะเหรี่ยง ทำงานกับไทยใหญ่กับมอญได้ ไม่เป็นไร ความเกลียดชังพม่ามีมากถึงขนาดนั้น แต่ตนเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่ทางแม่พูดถึงอาณาจักรมอญ พูดถึงศึกระหว่างพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้ามังฆ้อง ไม่ค่อยเข้าใจจนเมื่อได้ไปสนทนากับมอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ที่เข้ามาทำงานอยู่ตามปั๊มน้ำมัน ตลาดสด แรงงานก่อสร้าง

จึงเข้าใจว่าความเกลียดชังยังมีอยู่จนบัดนี้และทุกคนเห็นใจและสงสารชาวโรฮีนจา

ที่ทุกคนผิดหวังก็คือการที่นาง ออง ซาน ซูจีขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของพม่า แต่เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะแต่งงานกับชาวอังกฤษและยังมีบุตรเป็นชาวอังกฤษ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าจะเปิดการเจรจาเรื่องการปกครองตนเองของชนเผ่าต่างๆ ในรัฐต่างๆ ที่มีกองกำลังติดอาวุธ การสู้รบจึงยังดำเนินอยู่ต่อไปและคงจะไม่มีทางประนีประนอมกันได้

ต่างกับประเทศไทยหรือประเทศสยาม แม้ว่าการดูถูกดูหมิ่นระหว่างชนชาติจะเคยมีอยู่และก็ยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนกับประเทศอื่น คนจากประเทศข้างเคียงอพยพเข้ามาอยู่ในสยามจึงมีอยู่เสมอ สยามเป็นชื่อดินแดนซึ่งประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์จึงถูกต้องแล้ว แล้วเมื่อคนอพยพเข้ามาก็จะเป็นคนอพยพอยู่รุ่นเดียว พอรุ่น 2 ก็จะมีมารดาเป็นคนไทย พูดและฟังได้ทั้ง 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาของบิดา แต่พอถึงรุ่นที่ 3 พูดและฟังได้ภาษาเดียวคือภาษาไทย ไม่ว่าคนอพยพนั้นจะเป็นมอญ จีน ญวน แขก เขมร ส่วนลาวกับไทยพูดและฟังภาษาเดียวกันอยู่แล้ว

สมัยที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพเวียดมินห์กับกองทัพฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนเวียดนามทางภาคเหนือได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยกว่า 5 แสนคน ทางการไทยจัดให้อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ หนองคาย อุดรธานี นครพนม สกลนคร และอุบลราชธานี สมัยนั้นยังไม่มี จ.บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ ความจริงใน 5 จังหวัดดังกล่าวก็มีคนไทยเชื้อสายญวนอยู่มาเก่าก่อนแล้ว เพราะประชาชนในแถบประเทศอินโดจีนที่ไม่ชอบฝรั่งเศสก็ข้ามมาอยู่ประเทศไทยเสมอมา คนลาวทั้งในลาวและอีสานมักจะดูถูกคนญวนแม้จะร่ำรวยกว่า แต่กิริยามารยาทดูจะไม่เรียบร้อยเท่ากับคนลาวในภาคอีสาน เหมือนกับคนภาคกลางดูถูกคนไทยเชื้อสายจีน

คนญวนอพยพใน 5 จังหวัดนั้นทุกคนจนเกือบจะเรียกว่า 99% นิยมท่านโฮ จิ มินห์ ผู้นำการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชของเวียดนาม จึงไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร แต่คนญวนรุ่นนั้นก็สังกัดองค์กรใต้ดินที่ 8 รวบรวมผู้คน เงินทอง กลับไปช่วยกองทัพเวียดมินห์ ทุกบ้านจะมีรูปภาพของประธานโฮ จิ มินห์ อยู่บนหิ้งบูชา ในงานเลี้ยงก็จะมีการดื่มอวยพรโดยใช้คำว่า โฮ จิ มินห์ ฮุนนำ หรือโฮ จิ มินห์ จงเจริญ

ครั้งหลังเมื่อปี 2496 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้จับกุมผู้นำคนญวนอพยพหลายจังหวัด นำไปปล่อยตัวที่นิคมสร้างตนเองที่ จ.สุราษฎร์ธานี จึงมีคนญวนอพยพไปอยู่ที่ปักษ์ใต้ด้วย

คนญวนอพยพที่เห็นเป็นคนขยันหมั่นเพียร ประหยัดมัธยัสถ์ และเนื่องจากจอมพล ป. ออกกฎหมายคุ้มครองอาชีพ 15 อย่าง เช่น ทำนา ทำสวน เผาถ่าน ตัดผม ไว้ให้คนไทย ชาวญวนอพยพจึงต้องค้าขาย ทำประมงในแม่น้ำโขง ช่างไม้ ช่างยนต์ ตัดเย็บเสื้อผ้า แต่สำหรับรุ่นแรกนั้นต้องทำงานหนัก งานกรรมกรทุกชนิด เก็บหอมรอมริบ ส่งเงินไปช่วยกองทัพปลดแอกในการสู้รบกับฝรั่งเศส จำได้ว่าเมื่อคราวที่ฝรั่งเศสแพ้ยุทธการเดียนเบียนฟู คนญวนอพยพก็เฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก ในระยะนั้นน้ำในแม่น้ำโขงลงอาบไม่ได้เพราะมีศพทหารเวียดมินห์ที่ถูกฝรั่งเศสฆ่าตายลอยน้ำลงมาตลอดเวลา ทำให้ชาวอีสานพลอยโกรธแค้นฝรั่งเศสไปด้วย วาทะของโฮ จิ มินห์ ที่ว่า “เอกราชเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต” เป็นคำที่เด็กๆ ทั้งที่เป็นญวนและเป็นคนอีสานจดจำได้เสมอ แม้ว่ารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะต่อต้านก็ตาม

บัดนี้ลูกหลานของคนญวนอพยพรุ่นนั้นได้กลายเป็นคนไทยไปหมดแล้ว แต่ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการค้าของทุกจังหวัดและทุกอำเภอในจังหวัดดังกล่าว ก็ถูกครอบครองโดยคนไทยเชื้อสายญวน รองลงมาก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนทั้งสิ้น ส่วนข้าราชการที่ศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ และตำบล เป็นคนอีสานหรือคนไทยจากภาคอื่น และถ้าเขาไม่บอกก็จะไม่รู้ว่าเขาเป็นลูกหลานของคนญวนที่อพยพมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม เช่น งานกินเต หลังจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรืองานกินเลี้ยงวันปีใหม่หรือตรุษญวน ซึ่งตรงกับตรุษจีนตามคำสอนของขงจื้อ

เคยสนทนากับเพื่อนฝูงชาวญวนในเวลาต่อมาว่า ทำไมเวียดนามจึงไม่ใช้วิธี “อหิงสา” ในการเรียกร้องเอกราชแบบเดียวกับที่มหาตมะ คานธี ทำในอินเดีย ได้รับคำตอบจากเพื่อนชาวญวนว่า ฝรั่งเศสนั้นเป็นชาติป่าเถื่อนกว่าชาวอังกฤษ อินเดียเป็นประเทศใหญ่ อังกฤษรู้ว่าถ้าคนอินเดียรวมตัวกันจะทำให้อังกฤษสู้ไม่ได้แน่ๆ แต่เวียดนามเป็นประเทศเล็ก ถ้าใช้วิธีอหิงสาก็จะไม่มีวันที่ฝรั่งเศสจะยอมให้เอกราช ต้องใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ ต้องรวบรวมประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธ ต้องชนะด้วยอาวุธ ฝรั่งเศสจึงจะยอมออกจากประเทศเวียดนาม ทหารฝรั่งเศสกว่า 450 คนยอมวางอาวุธที่เดียนเบียนฟูเป็นเชลยศึก แต่กองทัพเวียดมินห์ปล่อยทุกคนให้เป็นอิสระ เมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงฮานอย อันเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ที่สู้รบกับจีนมาเป็นเวลากว่า 1,000 ปี เพื่อความเป็นเอกราชจากจีน

คนไทยเราโชคดีที่ไม่ต้องเป็นคนอพยพไปอยู่บ้านเมืองอื่น มีอพยพกลับประเทศบ้างเมื่อต้องเสียดินแดนให้ชาติตะวันตก เช่น อังกฤษที่ภาคใต้ ฝรั่งเศสที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก

รอบบ้านเรายังมีคนโชคไม่ดีอีกมาก รวมทั้งชาวโรฮีนจา ควรให้ความเมตตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image