ไทย-ญี่ปุ่นชื่นมื่นลงพื้นที่อีอีซี-อุตตมเผยพอใจผลจับคู่ธุรกิจ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม นำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 ราย ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) พร้อมจัดงานสัมมนาแสดงความพร้อมพื้นที่และจัดให้เยี่ยมชมสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จ.ระยอง และเยี่ยมชมท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

นายอุตตมกล่าวว่า คณะนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งนำโดยนายเซโกะ รู้สึกพอใจที่ประเทศไทยเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกับญี่ปุ่นภายใต้กรอบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 รวมถึงมีความเข้าใจต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยในทิศทางที่ดีด้วย นอกจากนี้ยังมั่นใจว่าบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้วจะขยายการลงทุนต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหม่ที่มีความเชื่อมั่นตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังแสดงท่าทีชัดเจนที่จะทำงานร่วมกับไทย โดยหวังจะให้ไทยเป็นประตูการค้า การลงทุน การคมนาคม และการพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรของภูมิภาค เริ่มจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับผลการจับคู่ธุรกิจะพบว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อาทิ บริษัท ณรงค์ กรุ๊ป ของไทยเตรียมลงทุนกับบริษัท ไฟน์เทค ด้านอินเตอร์ออฟธิงค์ นักลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ประมาณ 10 บริษัทจากจ.โทยามะ ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ ได้หารือกับเอสเอ็มอีไทย โดยทางผู้บริหารจ.โทยามะ ยังเชิญกระทรวงไปเยือนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นี้ด้วย โดยการจับคู่ดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายในการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีรายใหม่ให้มีการลงทุน ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่ อาทิ ปตท. เอสซีจี มีการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อวันที่12กันยายนได้แจ้งว่าจะมีการลงทุนแน่นอน โดยเอสซีจีจะลงทุนด้านไบโอชีวภาพ และปตท.เชิญนักลงทุนร่วมลงทุนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซีไอ)

“จากการพบปะกับนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในไทย มั่นใจจะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ถึงปีหน้า โดยเฉพาะปีหน้าญี่ปุ่นน่าจะลงทุนมากที่สุดจากมูลค่าคำขอที่คาดว่าจะมากกว่า 100,000ล้านบาท”นายอุตตมกล่าว

Advertisement

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ว่า จากการพานักลงทุนญี่ปุ่นลงพื้นที่อีอีซี พบว่าญี่ปุ่นแสดงท่าทีสนใจเข้ามาลงทุนในไทยอย่างเต็มที่ โดยนายเซโกะได้มอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกันศึกษาโอกาสและประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้จากการลงทุนในอีอีซี รวมถึงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ตลอดจนสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้ไทยอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ จะประสานการทำงานกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) อย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนการลงทุนต่างๆ ที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในไทย คาดว่าจะมีการนัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายคณิศกล่าวถึงการลงทุนภาพรวมในพื้นที่อีอีซี ว่า จากการหารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหลายบริษัท อาทิ ลาซาด้ากรุ้ป ขณะนี้ได้มีการทำมาตรการส่งเสริมแล้วเสร็จ และกำลังเจรจารอบสุดท้าย โดยแจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา จะเดินทางมาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยด้วยตัวเองช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยการลงทุนน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายคณิศกล่าวว่า ด้านความคืบหน้าการลงทุนจากบริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินและยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเศส ที่อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน และโบอิ้งของสหรัฐ ที่กำลังวิเคราะห์รายละเอียดโครงการลงทุนศูนย์ฝึกบุคลากรด้านการบินและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานร่วมกับไทย คาดจะมีการลงนามสัญญาร่วมทุนในเดือนมีนาคม2561 ส่วนการประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการชักชวนให้เกิดการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (ดิจิทัลพาร์ค) ในอีอีซี คาดจะมีทั้งบริษัทไมโครซอฟท์ อเมซอนดอทคอม ไอบีเอ็ม คาเลสติก้า ร่วมลงนามความร่วมมือกันภายในเดือนกันยายนนี้

Advertisement

“ช่วง5เดือนแรกของการจัดตั้งอีอีซี คือมีนาคม-กรกฎาคม2560 พบว่ามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 23,400 ล้านบาท คาดว่าช่วง5เดือนที่เหลือไปจนถึงสิ้นปี คือ สิงหาคม-ธันวาคม2560จะมีคำขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่า5เดือนแรก ทำให้ทั้งปีน่าจะมีคำขอรวม 60,000-70,000ล้านบาท”นายคณิศกล่าว

รายงานข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ผลการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ได้ประมาณ 3,000 คู่ จำนวนนี้คาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงอย่างน้อย 10%หรือประมาณ 300 คู่ โดยจากการสอบถามนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ หรือ เมดิคัลฮับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image