พระพุทธรูปศิลาขาว (ทวารวดี) จากนครปฐม ถูกขนย้ายไปอยุธยา – สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระพุทธรูปศิลาขาว (องค์หนึ่งในจำนวนทั้งหมด 4 องค์) ประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรม (แบบทวารวดี) ราวหลัง พ.ศ. 1000 เดิมอยู่วัดพระเมรุ เมืองนครปฐม ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา (ภาพเมื่อก่อนเที่ยงวันพุธ 13 กันยายน 2560)

กรุงศรีอยุธยา เป็นแอ่งอารยธรรมหรือเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

มีพัฒนาการความเป็นมาจากวัฒนธรรมของผู้คนและบ้านเมืองแว่นแคว้นหรือรัฐที่มีมาก่อน ซึ่งเรียงรายอยู่โดยรอบ ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะพบ เช่น วัฒนธรรมทวารวดี, สุวรรณภูมิ, โลหะ, หิน

แต่ประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยแบบอาณานิคม มองข้ามหลักฐานโบราณคดี แล้วไม่รับรู้สิ่งที่มีอยู่และมองเห็นแก่ตา จึง “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันเชลียร์” โดยเลือกเฉพาะกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ.1893 ลงไปเท่านั้น แล้วซ้ำซากเฉพาะประวัติศาสตร์ศิลปะของวัดกับวัง จึงไม่มีคนและไม่มีบ้าน

ศิลาขาวห้อยพระบาท

พระพุทธรูปศิลาขาว ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทำปางแสดงธรรม เป็นฝีมือช่างราวหลัง พ.ศ.1000 (เรียกทั่วไปว่าแบบทวารวดี) มีจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา

Advertisement

เป็นพระพุทธรูปถูกเคลื่อนย้ายจากวัดพระเมรุ (ใกล้พระปฐมเจดีย์) เมืองนครปฐมโบราณ จ. นครปฐม

ประวัติความเป็นมายืดยาว ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่มีคำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ แต่ใช้วิธีพิมพ์ซ้ำข้อมูลทั้งหมดไว้ในภาคผนวกของหนังสือ นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2559 หน้า 178-217)

พระพุทธรูปศิลาขาว มีประวัติความเป็นมาอย่างละเอียดอยู่ในหนังสือ พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี โดย ธนิต อยู่โพธิ์ (เรียบเรียง) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2507 (ในนิตยสารศิลปากร) แต่ในภาคผนวก (ของหนังสือนำชมฯ) ใช้ฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2510

มหาเถรฯ สุโขทัย

พระพุทธรูปศิลาขาว เดิมอยู่วัดพระเมรุ (ใกล้พระปฐมเจดีย์ ริมถนนเพชรเกษม) เมืองนครปฐม ราวหลัง พ.ศ. 1000 (นิยมเรียกสมัยทวารวดี) ตั้งประจำทิศ 4 องค์ กับพระประธาน 1 องค์ (รวม 5 องค์)

มหาเถรศรีศรัทธา เจ้านายรัฐสุโขทัย ในจารึกวัดศรีชุม (เป็นหลานพ่อขุนผาเมือง) ออกบวชไปอยู่ลังกา ราว 10 ปี ขากลับถึงเมืองนครปฐม แวะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ที่ปรักหักพังขึ้นเป็นยอดปรางค์ แล้วค้นหาพระพุทธรูปชำรุดเป็นชิ้นส่วนหลงเหลือตกค้างกลางป่าวัดร้างมารวมกันไว้ ต่อมาจึงขนย้ายบางส่วนไปเก็บที่อยุธยา

เหล่านี้เมื่อ 15 ปีมาแล้ว ผมเคยเขียนบอกเล่าไว้ในหนังสือ พระปฐมเจดีย์ ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรก แต่เป็นมหาธาตุหลวงยุคทวารวดี (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545 หน้า 146-151) ว่าขนย้ายเศษพระพุทธรูปไปเก็บไว้อยุธยาอย่างน้อย 2 แห่ง ดังนี้

1. พระพุทธรูปศิลาเขียว ขนย้ายไปไว้วัดมหาธาตุ พอถึงสมัย ร.3 ขนย้ายอีกทีไปวัดหน้าพระเมรุ จนทุกวันนี้

2. พระพุทธรูปศิลาขาว ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่พระปฐมเจดีย์ อีกส่วนหนึ่งขนย้ายไปวัดพญากง อยุธยา (นอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้ ย่านปทาคูจาม) ต่อมามีผู้แยกไปวัดขุนพรหม (ย่านสำเภาล่ม ไม่ไกลจากวัดพญากง)

หลัง พ.ศ. 2501 คนร้ายลักลอบขนเศียรพระพุทธรูปศิลาขาวไปขายร้านค้าของเก่าแถบเวิ้งนาครเขษม (กรุงเทพฯ) กรมศิลปากรยึดคืน แล้วมอบหมาย อ.มานิต วัลลิโภดม (ขณะนั้นเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร) ติดตามได้คืนจนครบ 4 องค์ แล้วเชิญประดิษฐานที่ต่างๆ ดังนี้

1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (อยุธยา)
2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (กรุงเทพฯ)
3. ลานชั้นลดด้านทิศใต้องค์พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม)
4. พระประธานในโบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) องค์นี้อยู่ที่นี่มาแต่เดิม

ภาคผนวกหนังสือนำชม

ภาคผนวกเป็นเรื่องพระพุทธรูปศิลาขาว โดย ธนิต อยู่โพธิ์ ล้วนดีมีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่มีปัญหาควรพิจารณา ดังนี้

1.ควรมีคำนำเสนอบอกความเป็นมา ว่าพิมพ์ไว้ทำไม? จะบอกอะไร?

(เคยแนะนำก่อนแล้วคราวที่กรมศิลปากรพิมพ์ซ้ำหนังสือพระปรางค์วัดราชบูรณะ คงลืมหมดแล้ว ต่อไปจะพิมพ์แบบนี้อีกก็คงลืมอีกซ้ำซาก)

2. ดีที่สุด คือ พิมพ์แยกต่างหากเป็นอีกเล่มหนึ่ง พร้อมภาพถ่ายใหม่อย่างดี แล้วเพิ่มเติมอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะของพระพุทธรูปศิลาขาว

3.หนังสือนำชมควรมีข้อความสั้นๆ ง่ายๆ รูปมากๆ เล่มบางๆ ไม่ใช่คัดมาทั้งหมดอย่างภาคผนวกเล่มนี้ คนทั่วไปเข้าใจลำบากมาก

มิวเซียมสากล

ทักท้วงถกเถียงได้อีกมากและอีกนาน กรณีพระพุทธรูปศิลาขาวกับมหาเถรศรีศรัทธาและการขนย้ายไปวัดพญากง ย่านปทาคูจาม (ใกล้บ้านโปรตุเกส) และมีวัดพญาพานอยู่ถัดไปไม่ไกล

ชื่อ พญากง พญาพาน อยู่ในตำนานนิทานพระปฐมเจดีย์ ผมเขียนไว้ในหนังสือพระปฐมเจดีย์ว่ามหาเถรศรีศรัทธาผูกขึ้นจากนิทานสันสกฤต เพื่อเล่าเรื่องพระปฐมเจดีย์
ครูอาจารย์ผู้ใหญ่ระบุว่าบริเวณนี้เป็นย่านของกลุ่มคนจากรัฐสุพรรณภูมิ สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ ว่าตรงนี้เป็นหลักแหล่งของตระกูลไต-ไท ผู้มีตำนานท้าวอู่ทอง จากลุ่มน้ำโขง ลงฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เพื่อเข้าสู่แนวทางมิวเซียมสากลอย่างสมภาคภูมิ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และจังหวัด ควรสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา กระตือรือร้นเคลื่อนไหวมีกิจกรรมแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องราวเหล่านี้

ด้วยเหตุผลสำคัญว่ามิวเซียมระดับสากล เป็นแหล่งพลังสร้างสรรค์ทั้งด้านวิชาความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ความเป็นสมัยใหม่

ภัณฑารักษ์กับนักโบราณคดีไทย มักแก้ตัวเป็นปกติว่าขาดงบ หรืองบมีน้อย เลยทำ ไม่ได้ให้มีกิจกรรมแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้

ขออธิบายว่าความเป็นสมัยใหม่ของมิวเซียมในสากลทางวิชาความรู้ อยู่ที่กึ๋น (หมายถึง สติปัญญา) มากกว่าอย่างอื่น

แม้งบจะมีส่วนสำคัญอยู่บ้าง แต่ไม่มาก ที่มากคือกึ๋น

มีงบ แต่ไม่มีกึ๋น ก็ไปถึงไม่ได้ในความเป็นสมัยใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image