ทช. กับภารกิจลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อปราบปรามการประมงผิดกฎหมาย

การทำประมงผิดกฎหมาย! กำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย เพราะเกี่ยวเนื่องกับ “มาตรการการจัดระเบียบด้านประมง”

โดยสหภาพยุโรป (Europe Union) ที่มองว่า การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ Illegal, Unregulated and Unreported (IUU) Fishing  จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ นั่นก็คือ สัตว์น้ำ

ที่สำคัญ หากไม่มีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและควบคุมดูแลการจับสัตว์น้ำ อย่างยั่งยืนในมหาสมุทรแล้ว ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าทรัพยากรสัตว์น้ำจะไม่หมดไป สหภาพยุโรปมองว่าการทำประมง IUU เป็นการลดทอนและทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของ ทรัพยากรทางทะเล จนเราอาจไม่มีเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

ขณะที่ประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบ โดยเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2558 ที่ผ่านมาสหภาพยุโรป โดยกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทยเกี่ยวกับการทำประมง IUU ระบุว่า เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

Advertisement

คำเตือนดังกล่าวยังแนะนำให้ไทยเร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทยให้เป็นไปตามหลักสากล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและจะต้องเป็นการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและมีจรรยาบรรณ แม้ว่าจะเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำของเราก็ตาม ถ้าไทยไม่ทำการประมงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลก็มีสิทธิโดนใบแดง ไทยจะถูกระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งต่างๆ ที่เข้าสู่กลุ่มสหภาพยุโรปทันที ซึ่งตะเป็นหายนะขั้นวิกฤตอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของชาติ เพราะแต่ละปี ไทยส่งสินค้าสัตว์น้ำเข้าสู่สหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศอื่นๆ ถึงปีละหนึ่งแสนล้านบาท

จากแนวโน้มวิกฤตครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมประมงของไทยในครั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้มีคำสั่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมามีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการศูนย์และมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทะเล ประมงเข้าร่วมแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้

Advertisement

“สถานการณ์และปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยกลไกของการบังคับใช้กฎหมายอย่างครอบคลุมและเคร่งครัด เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คงไว้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ต่อไปและไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น โดยตนได้รับมอบหมายจาก น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดี ทช.ให้เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการ นำเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อควบคุมป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายและบุกรุกทำลายแหล่งทรัพยากรทางทะเล ไม่ให้เรือประมงเข้ามาลักลอบทำการประมงและทำลายทรัพยากรทางทะเลที่กฎหมายกำหนดทั้ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีการลาดตระเวนประสานการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ” นายโสภณ ทองดี รองอธิบดี ทช.ในฐานะผู้รับผิดชอบระบุ

ผลจากการปฏิบัติการของ ทช.ที่ได้ส่งเรือตรวจการออกปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 จนถึงเดือน ก.ย.2560 โดยได้ออกปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 56 ลำลาดตระเวนจำนวน 109 ครั้ง ได้ตรวจสอบเรือกว่า 551 ลำ ดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 83 คดี ได้ผู้ต้องหา 75 คน เครื่องมือในการทำความผิด มีทั้งการใช้อวนรุน อวนลาก อวนล้อม คราดหอยและอื่นๆ เช่น โพงพาง ลอบพับได้ อวนติดตา เป็นต้น

“ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ ตนจะลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ จ.สงขลา ชุมพรและระยอง โดยได้มอบหมายให้นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่ 1 เฝ้าระวังกลุ่มเรือสุ่มเสี่ยงที่ได้รับแจ้ง ศปมผ.เป็นพิเศษ ก่อนที่สหภาพยุโรปจะทำการประเมินไทยใหม่อีกครั้งหนึ่งการทำประมงเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพราะขณะนี้จากผลการแจ้งเตือนยังไม่มีผลต่อการระงับการนำเข้าสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำของไทยเพื่อส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแต่อย่างใด” นายโสภณกล่าว

ขณะที่ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดี ทช.กล่าวว่า ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เป็นปัญหาที่ ไทยมิอาจเมินเฉยได้เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้บริโภคและผู้ซื้อโดยเฉพาะผู้บริโภคยุโรปไม่ได้สนใจเฉพาะเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย และราคาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการผลิต สินค้าเหล่านั้นอย่างมาก ประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองมากจากนานาชาติอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประเด็นด้านสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมี 2 ประเด็นได้แก่ 1)การทำประมง IUU ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ 2)การใช้แรงงานงานและสวัสดิการของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะบนเรือประมงซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นการค้ามนุษย์ และแรงงานต่างด้าว เห็นด้วยกับการทำงานของ ทช.ในการแก้ปัญหาและมองว่าการที่จะป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมง IUU ให้หมดสิ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งของชาติจะได้มีความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งและสามารถใช้ได้อย่างยั่งยืนและเชื่อว่าการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายจะประสบความสำเร็จ

ไทยจะได้รับการปลดสถานะใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image