ตระการตา ‘ฉากบังเพลิง ร.9’ สุดยอด ‘จิตรกรรม’ แดนสยาม (ประมวลภาพ)

21 กันยายน 2560 คือ เดดไลน์ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะต้องติดตั้งภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงที่ใช้สำหรับกั้นลมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้แล้วเสร็จ

ภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง ออกแบบโดย นายมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เขียนสีโดยจิตรกรสำนักช่างสิบหมู่และจิตอาสา โดยด้านหน้าประกอบด้วย เรื่องราวพระนารายณ์อวตาร 8 ปางฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กลุ่มเทวดาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ส่วนด้านหลังของฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน มีลวดลายเหมือนกัน คือ มีพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” พุ่มดอกมณฑาทิพย์ และดอกไม้มงคล อาทิ ดอกบัวเงิน ดอกบัวทอง ดอกบัวสวรรค์ เป็นต้น

ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม 2559 หลังได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้รับผิดชอบภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง นายมณเฑียร ก็เริ่มศึกษารูปแบบและเนื้อหาภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงจากพระเมรุชั้นเจ้าฟ้าในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 จากนั้นเริ่มสเก็ตช์ภาพลายเส้นในเดือนธันวาคม 2559-มกราคม 2560 ตามมาด้วยการสเก็ตช์สีต้นแบบเมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 และเริ่มลงสีบนผ้าใบแคนวาสขนาดเท่าจริงเมื่อกลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนกันยายน 2560 โดยขั้นตอนการลงสีจะใช้วิธีการเดียวกับที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมที่วัด คือ ใช้ยางมะเดื่อปิดทองคำเปลวเพื่อสืบทอดโบราณราชประเพณี โดยในส่วนของฉากบังเพลิง จะปิดทองคำเปลวเฉพาะจุดที่ต้องการเน้น เช่น เครื่องทรงเครื่องประดับของกลุ่มเทวดาและของพระนารายณ์ เป็นต้น

ฉากบังเพลิงจะติดตั้งรอบพระจิตกาธานบนชั้นชาลาที่ 4 ของพระเมรุมาศ โดยจะมี 4 ด้าน ประกอบด้วย ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้และทิศตะวันตก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

Advertisement

ฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ปางที่ 1 มัสยาอวตาร (อวตารเป็นปลากรายทอง) ปางที่ 2 กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า) กลุ่มเทวดาแสดงความสักการะแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดน้ำ จำนวน 6 โครงการ ดังนี้ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ภาคอีสานโดยเลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ บำบัดน้ำเสีย

ฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ

Advertisement

โครงการอันมาจากพระราชดำริในหมวดน้ำ

 

ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันออก แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ปางที่ 3 วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นนรสิงห์) กลุ่มเทวดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน จำนวน 6 โครงการ ดังนี้ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันออก

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน

 

ฉากบังเพลิงด้านทิศใต้ แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์ปรศุราม ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) ปางที่ 7 รามาวตาร (อวตารเป็นพระรามในรามเกียรติ์) กลุ่มเทวดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดไฟ จำนวน 6 โครงการ ดังนี้ สบู่ดำเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ฉากบังเพลิงทิศใต้

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดไฟ

 

ฉากบังเพลิงทิศตะวันตก แสดงเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ปางที่ 8 กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ) ปางที่ 10 กัลกยาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ขี่ม้าขาว) กลุ่มเทวดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดลม จำนวน 6 โครงการ ดังนี้ กังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และบางกระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพฯ เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์ที่ผลิตจากพื้นที่แห่งนี้เข้าฟอกอากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน

ฉากบังเพลิงทิศทิศตะวันตก

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดลม

ด้านหลังฉากบังเพลิงเหมือนกันทุกด้าน

ด้านหลังทิศใต้

ขณะนี้การเขียนสีบนผ้าใบแคนวาสขนาดเท่าจริงเสร็จสมบูรณ์แล้ว สำนักช่างสิบหมู่อยู่ระหว่างทยอยนำผ้าใบแคนวาสแต่ละชิ้นผนึกลงบนกรอบไม้กระดานอัดซึ่งสำนักสถาปัตยกรรมได้จัดส่งกรอบไม้กระดานอัด คุณภาพอย่างดี ความลึก 20 มิลลิเมตร จำนวน 48 ชิ้นมาให้สำนักช่างสิบหมู่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากผนึกลงในกรอบไม้กระดานอัดเรียบร้อย ก็จะเคลื่อนย้ายไปยังสนามหลวงต่อไป…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image