นปช.แถลงทวงความยุติธรรมสลายชุมนุมตาย 99 ศพ ลั่นทำทุกทางให้เรื่องถึงศาลให้ได้

แฟ้มภาพ

นปช. แถลงทวงความยุติธรรม 99 ศพ ชี้ จะทำทุกทางให้เรื่องไปถึงชั้นศาลให้ได้ ยัน ไม่ใช่การเมือง-ไม่มีการเดินขบวน-ไม่ใช่ศัตรูกับพันธมิตร

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 กันยายน ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว แกนนำ นปช. นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. แถลงข่าวติดตามคดีทวงความยุติธรรม 99 ศพ โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 เป็นจำเลยฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น แกนนำ นปช.ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและผู้รู้หลายท่านซึ่งเห็นตรงกันว่า คดีนี้ศาลฎีกามิได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพพ้นผิด จากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553จนมีผู้เสียชีวิตรวม 99 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน เป็นแต่เพียงการวินิจฉัยว่ากรณีอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ เป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83,84 และ 288 ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันคู่ความ คือ โจทก์ ซึ่งได้แก่พนักงานอัยการ และจำเลยทั้งสอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกา คือ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานทั้ง 2 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อไป

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แกนนำนปช.จึงมีแนวทางดำเนินการทั้งทางกฎหมาย และด้านอื่นๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ประชาชนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บดังนี้ 1.ผู้เสียหายในคดีนี้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในสัปดาห์หน้า ให้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนความผิดของจำเลยทั้ง 2 ว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา หาก ป.ป.ช.อ้างว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ก็ต้องรับฟังว่าขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งชี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายและมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งทั้ง 2 กรณียังไม่เคยมีในการไต่สวนครั้งก่อน ประกอบกับหลักฐานอื่นตามอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ยังเห็นว่า ป.ป.ช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไต่สวนจำเลยทั้ง 2 ตามมาตรา 157 ตามที่ศาลฎีกาตัดสินทันที แม้จะยังไม่มีผู้ร้องหรือยังไม่ได้รับเรื่องจากอัยการสูงสุดก็ตาม เพราะเป็นหน้าที่รับรู้จากผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว หากป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 อัยการสูงสุดต้องนำคำสั่งฟ้องเดิมซึ่งมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ไว้แล้วฐานเจตนาฆ่าร่วมสำนวนของป.ป.ช. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ในกรณีที่เห็นว่าอัยการสูงสุดและกรรมการป.ป.ช.มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จะดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับทั้ง 2 ฝ่าย เช่น รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งขอตั้งกรรมการไต่สวนอิสระต่อ ป.ป.ช. จำนวน 2 หมื่นรายชื่อตามกฎหมาย หรือหากเสียงยังน้อยไปอาจจะต้องล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อตามที่ได้ประกาศไว้ 2.หากแนวทางตามข้อ 1 ไม่ปรากฏความยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายจะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเตรียมการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตามคำวินิจฉัยแรกของ ป.ป.ช. โดยจะทยอยดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละกรณี และ 3.รวบรวมข้อเท็จจริงแห่งคดี และข้อเปรียบเทียบการใช้ดุลยพินิจของป.ป.ช. ต่อกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร กับกรณีกลุ่มนปช. นำเสนอต่อสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดเวทีวิชาการเรื่องหลักนิติธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง ตามแนวทางพระราชดำรัสแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องความยุติธรรม อนึ่ง แนวทางการใช้มาตรา 275 รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งจะพิจารณาดำเนินการหากชั้นป.ป.ช.และอัยการไม่ประสบผล

“ผมอยากเรียนไปยังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่า เรื่องนี้เราไม่มีเป้าหมายแอบแฝงทางการเมือง เรืองนี้ เราจะไม่เคลื่อนไหวเดินขบวน จะไม่มีการปลุกปั่น ปลุกระดมใดๆ แต่ถ้าปลุกได้ ผมอยากปลุกสังคมไทยด้วยความจริงของคดีนี้ ให้ตื่นขึ้นมารับรู้ ว่าคนถูกฆ่าตายเป็นร้อยมือเปล่าๆกลางเมืองหลวง ผ่านไป 7 ปี ยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ที่เจ็บปวดไปกว่านั้นคือ ผ่านไป 7 ปี แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความยุติธรรมจะมาถึงเมื่อไหร่ เราเพียงต้องการให้คดีที่คนถูกฆ่าตายเป็นร้อยไปถึงศาล เมื่อไปถึงศาลแล้ว กระบวนการพิจารณาและคำพิพากษาเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พวกตนพร้อมที่จะเคารพ แน่นอนที่สุด เรามีความจำเป็นต้องเปรียบเทียบการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานสำคัญอย่าง ป.ป.ช. 2 กรณี คือ กรณีสั่งฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ แล ะพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร กับกรณีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. แต่การเปรียบเทียบนี้มิได้ประสงค์จะให้เกิดความกระทบกระทั่ง บาดหมาง แตกแยก ระหว่างกลุ่มนปช. กับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด มิได้ต้องการทับถมผู้บสดเจ็บ หรือสูญเสียในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด เพราะผมคิดว่า ถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น นปช. ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร หรือมวลชนเคลื่อนไหวกลุ่มใดก็ตาม สมควรที่จะทบทวนทุกอย่างที่ผ่านมา แล้วมีข้อสรุปร่วมกันหรือไม่ ว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่เราต่างเป็นเหยื่อของความขัดแย้งนี้หรือไม่ ดังนั้น ขอได้โปรดเข้าใจ

Advertisement

ทั้งนี้ เราขอยืนยันว่า การเคลื่อนไหวนี้ มิได้ประสงค์จะเผชิญหน้า หรือท้าทายใดๆต่อผู้มีอำนาจปัจจุบัน ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปผลักดัน โค่นล้มอะไรต่ออำนาจของท่าน ถ้าผมจะท้าทาย ผมจะท้าทายต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยว่าคนตายเป็นร้อยแล้วคดีไม่ถึงศาล ท่านยอมรับได้หรือไม่ว่านี่คือความยุติธรรม ผมพูดมาตลอดว่า นปช.ไม่ได้มีความขัดข้อง หรือเป็นอุปสรรคต่อกาารสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความปรองดองของชาติต้องมีความยุติธรรมเป็นเสาเข็ม หากไร้ความยุติธรรม ไม่มีทางที่จะเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา เราพยายามแบกรับความอยุติธรรมอย่างถึงที่สุด แต่พวกผมก็เป็นมนุษย์ ที่จะก้มหน้าแบกรับความอยุติธรรมได้ตลอดไป ดังนั้น ทุกอย่าง ทุกช่องทาง ทุกขั้นตอนที่กฎหมายเปิดให้ทำได้ พวกผมจะทำ และหากกระบวนการยุติธรรมยื่นมือมารับคดีนี้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล พวกผมก็พร้อมที่จะเป็นประชาชนที่จะติดตามคดีด้วยความสงบเฉกเช่นประชาชนคนไทยทั่วไป” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า กรณีการไต่สวนสาเหตุการตาย ขั้นตอนส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการ เราขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไต่สวน ชันสูตรสาเหตุการตายให้ครบถ้วนทุกราย โดยท่านจะเพิกเฉยเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่

ด้านนางธิดา กล่าวว่า ต้องขอบคุณฝ่ายความมั่นคงที่ให้เรามีพื้นที่ทวงถามความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม มาตรการทางสังคมเราต้องทำเนื้อหาเรื่องราวของคดีในลักษณะเปรียบเทียบเพื่อให้ความจริงปรากฎ โดยเนื้อหาดังกล่าวไม่ใช่วาทะกรรม และเนื้อหาต้องถูกนำเสนอในเวทีสื่อมวลชนไทย และสื่อมวลชนทั่วโลก เพราะเรื่องนี้มีลักษณะที่เป็นสากล นอกจากนี้ เรื่องของความยุติธรรม และหลักนิติธรรม ต้องมีการจัดเวทีทางวิชาการทั่วประเทศ และทุกพื้นที่ ให้นักวิชาการและผู้ที่เข้าใจ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมาขยายให้เกิดความรับรู้ด้านความยุติธรรมไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง และไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งนี้ เราหวังว่า มาตรการทางสังคมจะช่วยผลักดันความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ และตนขอยืนยันอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นกระบวนการทางสังคม

Advertisement

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ กล่าวว่า กระบวนการตลอด 7 ปีที่ผ่านมา วันนี้ต้องกลับมาเริ่มใหม่ แต่ตนก็ยังจะทำหน้าที่ต่อไป เพราะญาติของผู้เสียชีวิต และผู้เสียหายได้ฝากความหวังไว้กับตน

ขณะที่ นพ.เหวง กล่าวว่า ตนอยากเรียนถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานป.ป.ช.ชุดปัจจุบันว่า ขอให้ท่านกรุณานำพยานหลักฐานทั้งหมดสมัยยุคที่นายปานเทพ เป็นประธานป.ป.ช. มาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต หรือที่สาธารณะ เพื่อตนจะได้ศึกษาในทุกตัวอักษร แล้วนำหลักฐานต่างๆไปยื่นอีกครั้งหนึ่ง ประการต่อมา คดีนี้มีเกือบร้อยกรณี ตนสงสัยว่าที่ป.ป.ช.ชุดนายปานเทพรวบเอาทุกรณีไปในเข่งเดียวนั้นถูกต้องหรือไม่ ขอท่านตอบในข้อกฎหมาย และสุดท้าย ที่ระบุว่ามีกองกำลังติดอาวุธทำให้รัฐบาลต้องส่งกองกำลังเข้าไปปราบปรามนั้น ตนไม่ทราบว่ามีหรือไม่ แต่ตนเห็นว่า มี 2 กรณีที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ กรณีนายเกรียงไกร คำน้อย และกรณี 6 ศพวัดปธุม ขัดกับข้อสรุปของป.ป.ช. เหตุใดท่านจึงไม่แยกสองกรณีนี้ออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image