จิตวิวัฒน์ : ความรู้ที่ใช้จริงไม่ได้ไม่ใช่ความรู้ : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ความรู้ที่ใช้จริงไม่ได้ไม่ใช่ความรู้

วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังทำการอบรมทักษะกระบวนกรให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น เทพกีตาร์บอกกับผมว่า พี่ชายจะมาเยี่ยม เขาเข้ามาร่วมที่โต๊ะอาหารแต่ไม่ได้แตะต้องอะไรเลยเพราะทานมาแล้ว เราสนทนาแลกเปลี่ยนกันและเขาเล่าเรื่องให้ฟังว่า อยากให้เทพกีตาร์ไปช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งในตอนนี้กำลังแย่ ปัญหาครอบครัวและการเงินรุมเร้าจนนอนไม่หลับ และต้องหลบไปพำนักอยู่กับเขา วันๆ ไม่ยอมพูดจากับใคร พูดอะไรก็ไม่ฟัง ในที่สุดเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยโยนหนังสือเล่มหนึ่งให้เขา หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ตกตั้งใหม่*

จากวันที่ได้หนังสือ พี่ชายเล่าว่า เขาถือหนังสือเล่มนี้ติดตัวและหยิบไปอ่านแทบทุกที่ไม่เว้นแม้เข้าห้องน้ำ หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาสงบลง นอนหลับได้ และเริ่มพูดจากับคนอื่น เมื่อพี่ชายถามว่าเขาอยากได้อะไร เขาบอกว่า รู้ว่าหนังสือนี้มีสามเล่ม และต้องการสองเล่มที่เหลือ และบอกว่าหนังสือนี้ทำให้เขาได้สติ และสามารถผ่านเรื่องราวร้ายๆ มาได้ ผมได้ยินแล้วรู้สึกดีใจ เพราะหลังจากผมเป็นบรรณาธิการหนังสือ ตกตั้งใหม่ อยู่สองเล่ม ก็ไม่ค่อยได้รับคำวิจารณ์ติชมใดๆ จากผู้อ่านเลย จนรู้สึกท้อถอย และรู้สึกว่าหนังสือที่ผมตั้งใจทำจนสุดฝีมือและแจกฟรีให้เป็นวิทยาทาน โดยการบริจาคจากกัลยาณมิตร กลับไม่มีใครสนใจอ่านสักเท่าไร ต่างจากหนังสือแนะนำช่องทางรวยที่มีกี่เล่มก็ขายได้หมด

ผมรู้สึกดีใจที่ในที่สุดก็มีคนอย่างน้อย หนึ่งคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ดีใจที่มันเป็นปัจจัยให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา นั่นคือข้อพิสูจน์ว่าแนวทางของการกลับมารู้สึกตัว ที่เรียกว่า “รีเซต” นั้นใช้ได้ผล และสามารถเยียวยาผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะคับขันของชีวิตได้เป็นอย่างดี

Advertisement

พี่ชายยังได้เล่าว่า ก่อนที่จะมารู้จักกับวิชารีเซต ตัวเขาเองก็หนักหนาสาหัสกับชีวิตไม่น้อย เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่เกือบสิบล้านบาท สืบเนื่องจากการเปิดบัตรเครดิตใบแล้วใบเล่ามาหมุนเงิน ซึ่งในที่สุดเขามีบัตรเครดิตรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 20-30 ใบ ซึ่งเขาไม่เคยเล่าให้ที่บ้านฟัง และเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาก็เกินจะแก้ไข ในที่สุดครอบครัวต้องแตกแยก เขาต้องหลบไปทบทวนชีวิต ซึ่งเขายอมรับว่าช่วงนั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับ และคิดเรื่องการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา แล้วอะไรเล่าที่จะเข้ามาช่วยเขาได้

ช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของชีวิต พี่ชายได้มาเจอกับกลุ่มของพวกเรา “จีมานอม” และได้สัมผัสกับปัญญาปฏิบัติที่พวกเราฝึกฝนกัน มันเป็นเรื่องง่ายๆ จนคนละเลยไปหมด คือการกลับมาสังเกตความรู้สึกตัวเป็นระยะเพื่อ “ออกจากความคิด” มีคำกล่าวของเทพกีตาร์ที่บอกว่า “ความรู้ที่เอามาใช้จริงไม่ได้ ย่อมไม่ถือเป็นความรู้” ในตอนนั้นไม่ว่าความรู้จิตวิทยาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถใช้กับพี่ชายได้เลย ในที่สุดเขาก็ต้องกลับมาหาความรู้ที่ใช้จริงได้ คือ “ความรู้สึกตัว” และความรู้ชนิดนี้ทำให้เขาได้หลุดออกจากช่วงวิกฤตที่สุดของชีวิต

ความรู้นี้จึงเป็นความรู้ที่ศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ต้องเอาทองเปลวไปแปะ

Advertisement

ทุกวันนี้ นักจิตวิวัฒน์ทั้งหลายพยายามที่จะค้นคว้าทุกแหล่งความรู้ในโลกที่จะตอบคำถามว่า
ทำอย่างไรมนุษย์เราจึงจะคลายความทุกข์ลง มีความสุข และสามารถใช้ชีวิตของตนให้เต็มศักยภาพเท่าที่มี ผมไม่เคลมว่าตัวเองมีคำตอบ แต่อย่างน้อยผมได้ค้นพบแนวทางหนึ่งที่ได้ฝึกฝนกับตนเองและแบ่งปันให้กับผู้คนไปนับพัน และได้พบว่ามันได้ผลกับคนที่ฝึกฝนจริง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่มีก็คือชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือที่จะทำให้ความรู้นี้แพร่หลายออกไปมากกว่านี้

ย้อนกลับมาที่การอบรม มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งถามผมว่า “เป็นคนชอบคิดน้อยใจ เห็นเพื่อนร่วมงานไม่ช่วยงาน ก็ได้แต่เก็บมาคิดน้อยใจว่าทำไมเขาไม่ช่วย ทำไมต้องทำอยู่เพียงคนเดียว” เธอมีภาวะของความเครียดสะสม คนแบบนี้มีความละเอียดอ่อนในความรู้สึก นั่นเป็นข้อดี ข้อผิดพลาดของ “โค้ชชีวิต” ที่มักจะทำกันก็คือ การแนะนำให้ “คิดบวก” หรือไปบอกกับเธอว่า เธอไม่ควรจะคิดแบบนั้น เพราะมันเป็นการคิดลบ หรือบางทีต้องไปย้อนหารากเหง้าของสาเหตุแห่งปมทางจิตของเธอที่ทำให้เป็นอย่างนั้น สำหรับผม วิธีแบบนั้นใช้ไม่ได้ สาเหตุก็เพราะเราไม่อาจจะใช้ไม้ขีดไปดับกองไฟที่กำลังลุกโหมได้

วิธีการใดๆ ที่ทำให้ผู้มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกต้องสูญเสียความสามารถเช่นนั้น ก็ยิ่งเป็นวิธีที่แย่พอกัน เรามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องเปลี่ยนผ้าไหมละเอียดอ่อนนุ่มให้กลายเป็นเหล็กเยียบเย็นไร้ความรู้สึก ถ้าโลกนี้ยังต้องการความอบอุ่นของแสงแดดยามเช้า ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่เราจะบูชาแสงจันทร์นวลตาว่าเป็นเลิศเหนือแสง อื่นๆ กระบวนการส่วนใหญ่ทำไปโดยไม่ใส่ใจต่อความรู้สึก ซึ่งเอาเข้าจริงผมเรียกมันเป็นเพียงกิจกรรมเท่านั้น กิจกรรมคือสิ่งที่ตระเตรียมมาโดยวาระของวิทยากร แต่กระบวนการคือความเข้าใจลึกซึ้งถึงเหตุและผลในทุกๆ กิจกรรมที่ทำ อันไปตอบสนองต่อวาระของผู้เข้าร่วม

มิตรสหายบางท่านพูดคุยกับผมเรื่องการจัดกระบวนการ ที่มาถึงวิทยากรก็ให้เล่นเกม ปรบมือ ร้องเพลงโหวกเหวกเสียงดัง เขาบอกว่าไม่ชอบการอบรมแบบนี้เลย และอยากจะกลับบ้านเสียให้ได้ตั้งแต่วันแรก สิ่งหนึ่งที่เขาคุยกับผมก็คือ ถ้าหากผู้นำกระบวนการไม่ให้ความ “เคารพ” ต่อผู้ร่วม อยากจะทำอะไรก็ทำ เริ่มกิจกรรมก็จะให้ส่งเสียง ปรบมือ เต้น หรือร้องเพลง แต่พอกลับมาทำกิจกรรม ก็ปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมเหมือนเป็นเด็กและตนเองเป็นครูบาอาจารย์ สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อก็คือ ผู้จัดกระบวนการไม่เห็น “หัว” ของผู้เข้าร่วม เรื่องนี้เป็นเพราะผู้จัดไม่ทราบจริงๆ ว่า “กระบวนกร” นั้นคือใคร? เขาไม่เข้าใจเรื่อง “วาระ” และขาดสายตาที่จะมองเห็นภาพรวมของสภาวะอารมณ์ของทุกคนในที่นั้น ผมเองเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้ แต่ต้องผ่านการฝึกฝน เหมือนกับที่ผมฝึกฝนโดยการลงสนามจริงมากับเทพกีตาร์ซึ่งเป็นเสมือนเมนเทอร์ของผม

บางคนอาจจะอยากรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับพี่ชายของเทพกีตาร์ ในท้ายที่สุดแล้วเขาสามารถปลดหนี้ได้หมดโดยการค่อยๆ ผ่อนชำระ และถึงแม้ว่าชีวิตครอบครัวของเขาจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยเขาได้ค้นพบความรู้ใหม่ที่ทำให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข ดูจากอะไรหรือครับ ก็คนที่มีความสุขและมีพอในตัวเอง จะเริ่มคิดถึงเรื่องการช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
กลุ่มจีมานอม
www.facebook.com/resetpractice
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image