รพ.ราชวิถี ชวนคนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพข้อเข่า ลดอัตราผู้ป่วย “โรคข้อเข่าเสื่อม” ก่อนสายเกินแก้

“โรคข้อเข่าเสื่อม” เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่างโครงสร้างการทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อที่ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีการเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการเจ็บหรือปวด ข้อเข่าผิดรูป ข้อฝืด หรือข้อติด เดินได้ไม่ปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากการชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ได้รับความทุกข์ทั้งด้านกาย และจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี เผยว่า โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยมากกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่บั่นทอนสุขภาพและจิตใจของผู้ป่วย ที่ผ่านมาศูนย์โรคข้อฯ รพ.ราชวิถี ได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มาแล้วกว่า 30 ปี โดยเฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย นับเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการเปลี่ยนข้อเข่าโรงพยาบาลราชวิถีผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี มากที่สุดของประเทศ ทำมากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้มีความแม่นยำเที่ยงตรงในการผ่าตัดสูง รวมทั้งเริ่มนำการผ่าตัดแบบแผลเล็กและพื้นตัวเร็ว จาก 10-14 วัน ลดลงเหลือ 3-4 วัน นอกจากนี้เรามีการผ่าตัด revision แก้ไขข้อที่เคยผ่าแล้วแต่เริ่มมีการหลวมใหม่มากเป็นลำดับต้นๆของประเทศ ซึ่งการแก้ไขนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการผ่าเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก อย่างไรก็ตามการรักษาโดยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม บางสิทธิของการรักษาพยาบาลไม่สามารถเบิกได้ จึงเป็นภาระที่ผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนเกินนี้เอง กองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวได้ และล่าสุด รพ.ราชวิถีได้ร่วมกับ ชมรมวิ่ง โรงพยาบาลราชวิถี และสมาคมนิสิตเก่าแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล “รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย” เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยตระหนักถึงความอันตรายของโรคข้อเข่าเสื่อม และหันมาดูแลใส่ใจดูแลสุขภาพของข้อเข่าให้แข็งแรง และหารายได้สมทบทุนกองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษา เพื่อสร้างโอกาสในการรักษา ให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ”

Advertisement

ผศ.นพ.พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานศัลยกรรมเปลี่ยนข้อ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์  โรงพยาบาลราชวิถี  เผยว่า ปัญหา “โรคข้อเข่าเสื่อม” คนส่วนใหญ่วิตกกังวลอย่างมาก เพราะโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดจากการไม่ใสใจดูแลข้อเข่าตอนที่อายุยังน้อย เมื่ออายุมากขึ้นทำให้มีโอกาสเป็น “โรคข้อเข่าเสื่อม” ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น เสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเกาต์ โรครูมาตอย รวมทั้งเกิดจากการทำงานที่ออกแรงใช้เข่ามาก หรือมีการกระแทกหรืองอเข่าบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น การยกของหนักขึ้นบันได เดินไกล หรือลุกนั่งบ่อย เป็นต้น แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้ถึงร้อยละ 50 เกิดมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง ง่ายและสะดวกสำหรับการใช้ชีวิตคือ ควบคุมน้ำหนัก ต้องควบคุมอาหารโดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคู่กับการออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ว่าจะชอบนั่งเก้าอี้นานๆ นั่งกับพื้น ขัดสมาธิ หรือพับเพียบนานๆ เหล่านี้ก็ทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ควรหาโอกาสขยับตัว ยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั่น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่ามากๆ เช่น การวิ่งบนพื้นผิวขรุขระ หรือกระโดดเชือก เป็นต้น ควรใช้การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาและรอบเข่า เช่น การเดินช้าๆ การใช้เครื่องปั่นจักรยาน ไม่แนะนำให้ปั่นจักรยานจริงๆ ซึ่งเสี่ยงกับการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ หรือการออกกำลังกายในน้ำ เพื่อช่วยให้มีแรงในการขยับข้อเข่าและพยุงให้ข้อเข่ามั่นคงขึ้น

นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น อาการปวดบริเวณข้อเข่า ลุกขึ้นจากท่านั่งลำบาก ข้อขัด ฝืด ตึง มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า งอเข่าได้น้อยลง หรือเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด ในระยะแรกการปวดเข่ามักสัมพันธ์กับการลงน้ำหนัก การเดิน การขยับ ยกเว้นข้อเข่าเสื่อมจากโรคข้ออักเสบอาจมีอาการปวด บวม ร้อน ตลอดเวลาที่มีการอักเสบ ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรงในระยะท้ายๆ อาการปวดเข่าอาจเกิดได้ตลอดเวลาหรือปวดตอนกลางคืนแม้ไม่ได้มีการใช้งาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image