รองโฆษก ตร. แจงขั้นตอนคนไทย เข้า-ออก ประเทศ หลังยกเลิกแบบฟอร์ม ตม.6

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. ขอเรียนทำความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนทราบกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีมติเห็นชอบออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มใบ ตม.6 สำหรับการเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร ขณะที่บุคคลต่างด้าวยังต้องกรอกเหมือนเดิมนั้นดังนี้

1.แบบฟอร์มใบหรือบัตร ตม.6 คืออะไร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อการนี้ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น และกฎกระทรวงกำหนดแบบเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และวิธีการขอหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้ามาอีก และการขอกลับเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามเดิม พ.ศ. 2559 ข้อ 7 ระบุว่า การยื่นรายการบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 18 ให้บุคคลนั้นยื่นรายการตามแบบ ตม.6 ท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังนั้น บัตร ตม.6 คือ รายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.เหตุใดจึงต้องมีการยกเลิก บัตร ตม.6 จะส่งผลกระทบอย่างไรกับคนไทย ปกติบัตร ตม.6 จะมีรายการในบัตรที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ 1.ชื่อ นามสกุล 2.สัญชาติ 3.วัน-เดือน-ปี-เกิด 4.เลขที่หนังสือเดินทาง 5.เลขที่การตรวจลงตรา (วีซ่า) 6. เพศ 7.ที่อยู่ 8.เที่ยวบิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สำหรับคนไทยสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ส่วนเที่ยวบินสามารถดูจากบัตรที่นั่งของผู้ที่เดินทางอยู่แล้ว การตรวจหนังสือเดินทางเมื่อผู้โดยสารคนไทยเดินทางมาถึงช่องตรวจ ตามมาตรา 18 ต้องยื่นหนังสือเดินทางและยื่นแบบรายการ (บัตร ตม.6) เจ้าหน้าที่ ตม.จะดูข้อมูลในบัตร ตม.6 ที่ยื่นมาเพื่อทำการบันทึก ในระบบตรวจหนังสือเดินทางคือ หมายเลขเที่ยวบิน และหมายเลขบัตร ตม.6 เท่านั้น

3. ตม. จะมีขั้นตอนการปฏิบัติต่อไปสำหรับคนไทยที่ไม่มี บัตร ตม.6 อย่างไร และจะส่งผลกระทบด้านอาชญากรรมหรือไม่การปฏิบัติหลังยกเลิกบัตร ตม.6 ในส่วนฝ่าย ตม.ขาเข้าฯ ผู้โดยสารคนไทยก็จะต้องยื่นหนังสือเดินทางพร้อมกับบัตรที่นั่ง ให้แก่เจ้าหน้าที่ ตม. เพื่อจะได้ทราบถึงเที่ยวบินที่เดินทางเข้ามา หากไม่มีหรือทำหายก็จะสอบถามกับตัวผู้โดยสารเองว่าเดินทางมาด้วยเที่ยวบินใด และในส่วนช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automatic Channel) ผู้โดยสารคนไทยจะนำหนังสือเดินทางเข้าเครื่องอ่านและจะใช้บัตรที่นั่งที่มีรหัส บาร์โค๊ดสแกนที่เครื่อง หากไม่มีก็จะใช้วิธีกดหมายเลขเที่ยวบินเอง ส่วนบัตร ตม.6 ก็จะวางใส่ตะกร้า หลังจากที่ผ่านช่องตรวจแล้ว จึงไม่มีมีความจำเป็นใดๆ กับบัตร ตม.6 หากผู้โดยสารดังกล่าวมีประวัติอยู่ในฐานข้อมูลระบบบัญชีเฝ้าดูหรือบัญชีต้องห้าม เครื่องตรวจหนังสือเดินทางทั้งช่องปกติและช่องตรวจอัตโนมัติก็จะไม่ให้ผ่านจนกว่าเจ้าหน้าที่จะทำปลดล๊อคในระบบ ส่วนการใช้ข้อมูลในบัตรเพื่อติดตามตัวนั้น ส่วนใหญ่ต้องการทราบที่พักว่าพักที่ใด ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะเขียนที่พักตามสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้พักอยู่บ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น

Advertisement

โดยจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 15 กันยายน 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของนักเดินทางจำนวนมากที่ต้องไปรอหน้าเคาน์เตอร์เข้าเมือง ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้เน้นมาตรการการคัดกรองบุคคลเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image