วงวิชาการคึกคัก! โครงการตำราฯจับมือโตโยต้า จัด “250 ปี เสียอยุธยา สถาปนาธนบุรี” หวังขยายพรมแดนความรู้

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 กันยายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 ในหัวข้อ ‘250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานคึกคักอย่างมาก โดยมีคนในแวดวงวิชาการทยอยเดินทางมาถึงสถานที่จัดงานตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาเริ่มงาน ทั้งนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคคลทั่วไป รวมถึงนางแมรี โจ. แบร์นาร์โด-อารากน เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมิตร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมานานถึง 417 ปี สร้างความเจริญรุ่งเรือง เป็นอาณาจักรสำคัญ ส่วนกรุงธนบุรี แม้มีช่วงเวลาเพียง 15 ปี แต่เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพในการกู้ชาติจากพม่า การศึกษาประวัติศาสตร์ให้รอบด้าน ต้องอาศัยการค้นคว้าเพิ่มเติมด้านวิชาการให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ ในการนี้มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส จำกัด ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราฯ จึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้น สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการค้นคว้า วิจัย หาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวิชาการต่อไป

Advertisement

“งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 แล้วโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 ราย ได้รับความร่วมมือจากแวดวงวิชาการในภาครัฐและเอกชน ทางโตโยต้าได้สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับอยุธยาและธนบุรี เพื่อสร้างทัศนคติทางการศึกษา ขยายพรมแดนความรู้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมิตรกล่าว

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย กล่าวว่า หัวข้อในการสัมมนาในนี้น่าสนใจอย่างมาก นี่คือกิจกรรมที่มูลนิธิโตโยต้ามีโอกาสร่วมอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้ครอบคลุมสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงอาเซียน โดยหวังว่าจะทำให้มีความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ

จากนั้น ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อ่านคำปาฐกถานำ ของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ

ต่อมา เป็นการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่แต่งกายมาร่วมงานในเสื้อผ้าและเครื่องประดับในวัฒนธรรมอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล 4 ราย สร้างสีสันให้พิธีเปิดงานในช่วงเช้า
ทั้งนี้ การสัมมนาจะจัดขึ้นตลอดทั้งวัน โดยในเวลา 10.00-12.30 น. เป็นการอภิปรายหัวข้อ ‘เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี’ จากนั้นในภาคบ่าย เป็นการแบ่งห้องสัมมนาหัวข้อเฉพาะ ได้แก่ ‘เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา : ว่าด้วยวรรณกรรมคำทำนาย กับการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัย’ , ‘พระเจ้าอุทุมพร กับชาวอโยธยาในพม่า’ , ‘อวสานพระเจ้าตาก’ และ ‘เศรษฐกิจและสังคมสยามจากอยุธยาถึงกรุงธนบุรี’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image