‘มัลลิกา’ จี้คลัง ติดตามเงินคดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดาฯพร้อมค่าเสียหาย 3.7 หมื่นล้าน

“มัลลิกา” ขอเรียกร้องกระทรวงการคลังออกมาตรการติดตามค่าเสียหาย รวมเงินกู้ตามคำสั่งศาลในท้ายคำพิพากษาคืนรวมกว่า 3.7 หมื่นล้าน

วันที่ 15 กันยายน 2560 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอด และเมื่อได้กู้แล้วบริษัทในเครือฯนี้กลับนำเงินไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพบริษัทกฤษดามหานครคืนจากสถาบันการเงินต่างๆ และโอนให้บุคคลในกลุ่มกับโอนให้บุคคลภายนอกอีกหลายคน ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำเลยคดีนี้ 27 คนในคดีแบ่งหน้าที่กันทุจริตทำให้ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารของรัฐเสียหายกว่าหมื่นล้าน โดยพบว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้บริหารธนาคารอนุมัติสินเชื่อตามที่เอกชนเสนอ โดยมีการเบียดบังยักยอกเงินให้แก่เอกชนโดยทุจริตละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ เมื่อเอกชนได้สินเชื่อก็ไม่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินของธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย จึงลงโทษจำเลย 27 คน (ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา) นอกจากนี้ยังขอให้ร่วมกันคืน หรือใช้เงินคืน คือ 10,054.46 ล้านบาทแก่ธนาคารกรุงไทยผู้เสียหาย

ศาลพิพากษาจำคุกผู้บริหารธนาคารกรุงไทยและผู้บริหารฝ่ายสินเชื่อคนละ 18 ปี พิพากษาจำคุกอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อธนาคาร 10 ราย คนละ 12 ปี พิพากษาจำคุกพนักงานธนาคารและนิติบุคคล-เอกชนอีก 10 ราย คนละ 12 ปี พร้อมให้จ่ายค่าปรับ ที่สำคัญคือ ท้ายคำพิพากษาศาลให้จำเลยซึ่งถูกพิพากษาจำคุกนั้นคือบริษัทกฤษดามหานคร โดยนางประนอม แสงสุวรรณเมฆ นายธเนศวร สิงคาลวณิช นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ร่วมกันคืนเงิน 10,004.46 ล้านบาทให้แก่ธนาคาร

และสั่งให้นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 3 บริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 22 นายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ จำเลยที่ 27 ร่วมรับผิดชอบ 9,554.46 ล้านบาท นายไพโรจน์ รัตนโสภา นายประพันธ์พงษ์ ปราโมทย์กุล นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ นายประวิทย์ อดีตโต นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ จำเลยที่ 12-17 และบริษัท โบนัสบอร์น จำกัด โดยนายชุมพร เกิดไพบูลย์รัตน์ จำเลยที่ 21 นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 23 และนายบัญชา ยินดี จำเลยที่ 24 ร่วมกันรับผิดชอบ 8,818.73 ล้านบาท

Advertisement

บริษัทอาร์เคฯ โดยนายบัญชา ยินดี และนายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 รับผิดชอบ 450 ล้านบาท ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย จำเลยที่ 2 นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา นายพงศธร สิริโยธิน จำเลยที่ 4-5 และนายโสมนัส ชุติมา นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ นายบุญเลิศ ศรีเจริญ จำเลยที่ 8-11 นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิดชอบ 8,368.73 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะสังเกตว่าต้องแบ่งการติดตามคืนเงินเป็น 2 ก้อนคือ ก้อนที่จำเลยกู้เงินธนาคารรัฐไปรวม 10,054.46 ล้านบาท กับก้อนที่จำเลยแต่ละส่วนมีความผิดได้สร้างความเสียหายรวมตามที่ศาลสั่งนั้น 27,191 ล้านบาท ศาลระบุว่าเป็นความรับผิดชอบจำเลย ในการประเมินความเสียหายน่าจะเป็นการประเมินจากค่าเสียโอกาสดอกเบี้ย-กำไร และถ้าหากเงินกู้นับหมื่นล้านนั้นนำไปปล่อยกู้ให้กับประชาชนรายอื่นจนถึงบริษัทอื่นที่มีศักยภาพทางธุรกิจแล้วธนาคารของรัฐก็จะไม่เสียหาย แต่จะได้ดอกเบี้ยกำไรกลับคืนมาหมุนเวียน

ดังนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยคนปัจจุบัน-กรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยชุดหลังคำพิพากษาศาล ต้องดำเนินการออกคำสั่ง ออกมาตรการการไปนำเงินมาคืน และธนาคารกระทรวงการคลังต้องชี้แจงความคืบหน้า ถ้าย้อนกลับไปเงินกู้รายเดียวของกลุ่มทักษิณเอื้อ (กฤษดามหานคร) นี้ 10,000 ล้านบาท ถ้าธนาคารใช้ปล่อยกู้ให้ประชาชนทั่วไปรายละ 50,000 บาทไปสร้างอาชีพ จะสามารถช่วยประชาชนได้ถึง 200,000 รายทีเดียว

Advertisement

แต่ถ้าหลังจากนี้กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทยสามารถนำค่าเสียหายกับเงินกู้กลับคืนมาได้รวม 37,195 ล้านบาท ก็จะสามารถนำมาปล่อยกู้ให้ประชาชนทั่วไปสร้างอาชีพรายละ 50,000 บาท ได้จำนวนถึง 743,900 รายเลยทีเดียว จึงขอกราบเรียนนายกรัฐมนตรีว่าอย่าให้ใครละเว้น หรือปล่อยปละละเลยตามมาตรา 157 ต้องติดตามทวงทั้งสองก้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image