‘ชาญวิทย์’ เผยพระเจ้าตากซื้อกระทะเพียบ เชื่อเอาไว้หลอมปืนใหญ่ แจงนัยยะ 3 พระนามจากเอกสารจีน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 ในหัวข้อ ‘250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานคึกคักอย่างมาก โดยมีคนในแวดวงวิชาการทยอยเดินทางมาถึงสถานที่จัดงานตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาเริ่มงาน ทั้งนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคคลทั่วไป รวมถึงนางแมรี โจ. แบร์นาร์โด-อารากน เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย

ในการอภิปรายหัวข้อ “เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี” ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงประเด็นคำว่า “เมืองตาก” ของพระเจ้าตาก ว่าไม่ใช่ตัวเมืองตาก หรือเทศบาลเมืองตากอย่างที่มักเข้าใจผิดกัน แต่คือ “บ้านตาก” โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากใน พ.ศ. 2317 กลับจากเชียงใหม่ ลำพูก แม่ทา แม่สัน ห้างฉัตร พระบรมธาตุลำปาง นายาง ท่าเรือ เมืองเถิน ใช้เวลา 2 วันถึงพระตำหนักเมืองตาก วันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ย่ำฆ้องค่ำ เสด็จมาประทับ ณ หาดทรายบ้านตาก พระยาเชียงทองทูลว่าพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา พระเจ้าตากสั่งให้ส่งคนลงไปบ้านระแหง บอกให้กองทัพหนึ่งยกไปตีสกัด

ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ ยังระบุว่า แม้ไทยจะตำหนิพม่ามากมาย แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เราได้รู้เรื่องราวของอยุธยาจากฝั่งพม่าเป็นจำนวนมาก รวมถึงแผนที่พระนครหลวงกรุงธนบุรี ซึ่งเขียนขึ้นโดยสายลับพม่า

Advertisement

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยุธยาก่อนล่มสลายถือว่าร่ำรวยอย่างมาก แต่ไม่รู้จักการจัดการความมั่งคั่งของตน เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสิน ทรงถูกจีนซึ่งเป็นชาติที่ต้องการให้ผู้อื่นพินอบพิเทาทางการเมืองเรียกในนามต่างๆกัน ได้แก่ ‘กันเอินชื่อ’ (พ.ศ.2311) ซึ่งมีความหมายในเชิงที่ยังไม่ยอมรับ และตำหนิ ต่อมา ถูกเรียกว่า ‘พีหย่าสิน’ (พญาสิน ? พ.ศ. 2313) ซึ่งยังมีความก้ำกึ่ง ครั้นต่อมาจึงค่อยเป็นที่ยอมรับชื่อแซ่จากจีน โดยเรียกว่า ‘เจิ้งเจา’ หรือแต้เจียว จากหลักฐานเอกสารชี้ให้เห็นว่า จีนได้รับสาส์นการติดต่อจากพระเจ้าตากอยู่ตลอด แต่แรกๆยังไม่ได้รับการยอรับจากจีน ต่อมาจึงได้รับการยอมรับในภายหลังเมื่อถูกเรียกว่า เจิ้งเจา ‘น้ำเสียง’ ในเอกสารจีนเริ่มเปลี่ยน ไปในทางบวก ต่อมา เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีการชื่นชมว่าสยามไม่ว่างเว้นการถวายบรรณาการ

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ ยังทิ้งท้ายว่า พระเจ้าตากสินซื้อกระทะจากจีนเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าอาจใช้ในการนำมาหลอมปืนใหญ่ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สนุกมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image