สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกฯแจงเปลี่ยนฉลากนมผงใช้เวลา17เดือน จี้รัฐเร่งออกกม.ลูก

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อวันที่ 15 กันยายน พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก กล่าวถึงข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกเพื่อการปฎิบัติที่สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการส่งเสริมการตลาดสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.บ.นมผง ว่า สมาคมฯ ประกอบด้วยสมาชิก 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด บริษัท มี้ด แอนด์ จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด แผนกธุรกิจไวเอท นิวทริชัน และบริษัท แปซิฟิก เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ทั้งนี้สมาชิกพร้อมทำธุรกิจภายใต้กฎหมายและปฎิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ตกลงร่วมกันอย่างเคร่งครัด

พญ.กิติมา กล่าวว่า พ.ร.บ.นมผง ทำให้การดำเนินธุรกิจของสมาชิกต้องปรับตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศกฎหมายรองที่มีความชัดเจน เช่น กฎหมายลูกและระเบียบบังคับ โดยเฉพาะการระบุผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม นอกเหนือผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมภายใต้นิยามของ พ.ร.บ.นมผง ประกอบด้วย อาหารทารก คือ นมสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิด-1 ปี แบ่งเป็น นมผงสูตร 1 ตั้งแต่ 0-6 เดือน สูตร 2 ตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี สูตร 3 นมสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และสูตร 4 สำหรับอายุ 3 ปีขึ้นไป

“นมสูตร 4 ไม่ได้จัดเป็นอาหารทารกและอาหารเด็กเล็ก แต่ประเด็นที่กฎหมายยังไม่ชัดเจนคือ สูตร 3 ยังไม่ได้ระบุใน พ.ร.บ.นมผงว่าเป็นประเภทใด และส่วนอาหารเด็กเล็ก ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ออกประกาศตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำหรับประเด็นการห้ามโฆษณา โดยเฉพาะอาหารสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากเป็นอาหารที่ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ผู้ผลิตไม่สามารถทำสื่อสารการตลาดได้อยู่แล้ว ประกอบกับสมาคมฯ ได้มีระเบียบปฎิบัติให้ดูแลกันเองในกลุ่มสมาชิกไม่ให้ละเมิดระเบียบ” พญ.กิติมา กล่าวและว่า ระหว่างนี้ สมาคมฯ จึงได้มีกำหนดแนวทางสำหรับการปฎิบัติที่สอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ได้แก่ การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือนมผงสูตร 3 จะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและไม่ให้ประชาชนเกิดเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารทารก ทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการโฆษณา เชื่อมโยงไปยังเรื่องการวางแผนการเรื่องฉลาก

พญ.กิติมา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สมาคมฯ มีข้อกังวลเรื่องการเปลี่ยนฉลากใหม่ เนื่องจากข้อมูลสำรวจจากสมาชิกพบว่า ขั้นตอนและระยะเวลาในการเปลี่ยนฉลากอาหารทารกตามมาตรฐานสากลการผลิตสินค้าจะต้องใช้เวลาถึง 17 เดือน เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ จำเป็นขออนุมัติจัดทำฉลากให้คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงเรื่องนี้แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการระบุชนิดของอาหารเด็กเล็กที่ยังไม่ได้ประกาศ อีกทั้งยังมีข้อกังวลที่ไม่ชัดเจนถึงการทำฉลากที่แตกต่างว่า จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ระบุไว้ว่าต้องเปลี่ยนฉลากในลักษณะใด เช่น สีหรือตัวอักษรของฉลาก เป็นต้น ดังนั้น จึงเสนอให้มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาร่างและออกกฎหมายรอง รวมถึงระเบียบข้อบังคับ เพื่อนำเสนอและวิเคราะห์ผลกระทบจากการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.นมผง อย่างรอบด้านต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image