ทฤษฎีแห่งความ‘ร่ำรวย’ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“เงินตรา นารี อำนาจ” เป็นคำที่ทรงอิทธิพลในหมู่ฝูงชน ชุมชน สังคม วงการเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี มีให้เราๆ ท่านๆ เห็นอยู่ทั้งในระดับภาคเล็กๆ ตั้งแต่ ครอบครัว ถึงระดับชาติและทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือ หรือตัวกิเลสอย่างหนึ่งที่ปุถุชนคนทุกคน อยากได้อยากมี และยังบ่งบอกถึงเศรษฐกิจและอิทธิพล ของวงจรชีวิตที่ปรากฏ ให้เห็นตามสื่อสารมวลชนต่างๆ แม้ในโซเชียลมีเดีย ถ้าหากใครได้เสพติดจนหลงและเกิดหน้ามืดตามัว ผลลัพธ์ที่ได้เห็นเริ่มประจักษ์ เพราะสามสิ่งนี้มีคุณก็มีโทษในตัวผลของมันทำให้บางคน เสียผู้เสียคน ขาดซึ่งศีลธรรม หากใช้ไปในทางไม่ชอบหรือขาดสติ เพราะทุกอย่างจะเริ่มต้นด้วย “เงิน” ตามมาคือ นารี และอำนาจ หรือ อำนาจและนารี ซึ่งเหมือนจะทำให้คนคนนั้นขึ้นสวรรค์ เป็นผู้วิเศษ มีอิทธิพลสูง มีความเด็ดขาดอย่างน่าอิจฉา แต่ท้ายสุดตามกฎแห่งกรรมนั้นมักจะจบด้วย “ทุกขลาภ”

ใครๆ ก็อยากได้ “เงิน” อยากมีเงินใช้มากๆ กันทั้งนั้น แต่จะมีกี่คนที่ทำได้สมใจ น่าแปลกใจที่เราต่างมีสติปัญญา มีการศึกษา มีความฉลาด มีมันสมอง มีสองมือเท่าๆ กัน แต่ทำไมบางคนเท่านั้นมีเงินมีทองเหลือเก็บเหลือใช้ในขณะที่หลายๆ คนกลับชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนี้สินพะรุงพะรัง และที่น่าประหลาดใจที่คนส่วนมากมี “หนี้สิน” คือ เหล่าบรรดา “มนุษย์เงินเดือน” ที่แสนจะเก่งกาจในหน้าที่การงาน แต่กลับด้อยความสามารถในการบริหารเงิน หากได้มีการสอบทานชีวิตทั่วทุกตัวตนว่า “เราพลาดตรงไหน” ทำไมยังไม่รวยสักทีและทำไมจึงมีแต่หนี้ ในขณะเงินเก็บเท่ากับศูนย์ ลองสำรวจกระเป๋าของเราดูสิ “บัตรเครดิตเพียบ” รายจ่ายบิลเป็นหางว่าว ในขณะที่สมุดบัญชีเงินฝากแทบไม่มีเงินเหลืออย่าว่าแต่เงินออมเลย จะใช้ให้ชนเดือน แทบจะไม่พอ

ทุกคนประสบปัญหาพวกนี้ ไม่ใช่คนที่หาเงินไม่เก่ง แต่เป็นคนที่ใช้เงินไม่เป็น และไม่มีวินัยทางการเงิน หรือบางคนเคยประสบภาวะหนี้สิน ไม่มีเงินเก็บ ใช้เงินไม่ชนเดือน กระทั่งก้าวข้ามมันมาได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ “อุปสรรค” แห่งความรวยของเรานั้นไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร หรือ “ดวง” หากแต่คือ “ตัวเราเอง!” เพราะเราบังคับตัวเองไม่ได้ รู้นะว่าฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย ใจใหญ่ ไม่มีเงิน จนจะตายอยู่แล้ว แต่ก็จะซื้อ รู้นะว่าขยันอีกนิด ออมอีกหน่อย ก็จะได้เงินมากขึ้น แต่ก็อ่อนข้อยอมแพ้ใจให้แก่ตัวเอง ความขี้เกียจ ขาดสติ คือ อวิชชา
ทุกอย่างยังไม่สายที่จะเริ่มต้น ประมาณว่าคนล้มอย่าข้าม ลุกขึ้นได้เสมอ ถ้าต้องการหรือยากจะลุก ด้วยแรงบันดาลใจ เจ็บแล้วต้องสู้ เพราะเป็นเรื่องของตัวเราแท้ๆ และเป็นเรื่องที่เราแก้ได้ ด้วย “ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา” จะช่วยฉุดคุณให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์แห่งความยากไร้ และจะผลักดันให้ก้าวสู่เส้นทางการมีเงินใช้ไม่ขัดสน และประสบความสำเร็จทางการเงินได้ในที่สุด

Advertisement

โดยเริ่มต้นที่… “ตัวคุณเอง : เริ่มตั้งแต่วันนี้ เวลา วารี ไม่เคยรอใครเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคงว่า เรารวยแน่ๆ ในอนาคตไม่เกินความสามารถ…เพื่อตัวเราและครอบครัว”

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนย่อมมีความฝันและความต้องการมากมายในชีวิต เช่น อยากซื้อบ้าน อยากซื้อรถ และยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนก็คนหนึ่งที่คิดผิดมีกิเลสเช่นเดียวกันทุกๆ คน ฉะนั้น เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ คนส่วนใหญ่จึงต้องทำงานแปดโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็น บางที่ต้องทำหามรุ่งหามค่ำกันเลยทีเดียว

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่คุณต้องการมาพร้อมกับภาระหนี้จนหนักอึ้ง ภาพที่เคยวาดฝันไว้กลับกลายมลายหายไป เราที่เคยมีเงินเก็บทุกเดือน ก็ต้องเอามาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการมีบ้านมีรถทำให้คุณดูดีขึ้นมาได้จริงๆ แต่มันก็แค่ภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคุณนี่สิของแท้จริง เพราะมันคือ “หนี้สินก้อนโต” ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเหลือเกินในการรอใช้หนี้สินให้หมดไป เงินที่ได้มาก็ใช้แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ไหนลูกที่ต้องใช้เงิน ไหนปู่ ย่า ตา ยาย เจ็บๆ ป่วยๆ ต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วจะเอาเงินส่วนไหนมาเก็บ ดูเหมือนอนาคตจะริบหรี่เต็มทน

Advertisement

คนที่ยังคิดถึงหน้าตาของตนเองมากกว่าเงินในกระเป๋า ไม่คำนึงถึงผลระยะยาว ตนเองจะมีเงินผ่อนไหมจึงทำให้ประสบปัญหาด้วยการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ บางที่อาจต้องนอนเอามือก่ายหน้าผาก กินยานอนหลับ คิดไปว่าจะโดนยึดรถ ยึดบ้านวันไหน หรือถ้าหากร้ายแรงกว่านั้น คุณอาจจะเป็นบุคคลล้มละลายเลยก็เป็นได้

เพียงเพราะความคิดที่ผิดๆ โดยขาดวิจารณญาณว่าจะ “ใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด”..

คิดใหม่ทำใหม่ คนที่ร่ำรวยมั่งมี ต้องเป็นคนฉลาด มีการศึกษาสูงๆ เท่านั้น ส่วนคนยากจนจะหมดสิทธิรวยเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ ผู้เขียนกล้าพูดได้ว่าคนทุกคนสามารถร่ำรวยได้ถึงแม้จะต้องเริ่มต้นที่ “ศูนย์” แต่ต้องขยันหมั่นเพียรเก็บเล็กผสมน้อย มีวินัยการใช้เงิน มั่นคงในเป้าหมายของตัวเองว่า…สักวันเราต้องมีเงินล้านไว้ใช้ตลอดชีวิตให้ได้
คนที่จะเดินทางสู่ “เป้าหมาย” ชีวิตที่ตั้งไว้ให้ได้ต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่พอดีต้องรู้จักสำรองเงินไว้สำหรับยามฉุกเฉิน ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเงินสำรองไปเป็นเงินเก็บ อย่าเก็บอย่างเดียวโดยไม่มีการวางแผน เวลาที่มีเหตุผลฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงิน เงินเก็บของคุณก็มีอันต้องนำออกมาใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้

การวางแผนใช้เงินนั้นไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะการวางแผนเรื่อง “รายจ่าย” เพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมไปถึงการหาหนทางที่จะทำให้เงินที่มีเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด การคิดช่องทางที่จะทำให้เสียเงินโดยใช้เหตุแต่ถ้าสิ่งใดที่จ่ายไปแล้วนำมาซึ่งผลประโยชน์ อย่าเสียดายเลย เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ หรือลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากมีไว้ก็เป็นการดีต่ออนาคตของเรา

การวางระบบการใช้จ่ายเงินแบบง่ายๆ ยืดหยุ่นตามสภาพการณ์แม้จะเป็นวิธีง่ายๆ แค่ทุกๆ อย่างต้องค่อยทำอย่างเป็นระบบเสนอนี้เป็นเพียงตุ๊กตาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ถ้ามีโอกาสเพื่อที่เราจะได้รู้ว่ารายรับที่เราได้มาจะใช้ต่ออะไรบ้าง เรื่องใดบ้างโดยให้แบ่งออกส่วนหนึ่งกลุ่มที่จะต้องรับจ่าย 3 กลุ่ม : กลุ่ม 1 ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 40% กลุ่ม 2 ค่าใช้จ่ายหนี้สิน 40% กลุ่ม 3 เงินสำรองในยามฉุกเฉิน 20%

ในเบื้องต้นแบ่งเป็นรายจ่ายหลักๆ ก่อน เราอาจจะสงสัยว่าส่วนไหนจะเป็นเงินเก็บหรือเงินออม ตอนนี้อย่าเพิ่งมองว่าจะเก็บเงินเพียงแต่ให้สามารถใช้รายรับที่มีอยู่ หรือได้มาอยู่อย่างจำกัดพอ สำหรับหนึ่งเดือนโดยที่ไม่เกิดหนี้สิน เมื่อเราวางแผนสามารถใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบแล้ว เราจะเริ่มมองเห็นเองว่าเราควรจะตัดส่วนไหนออกเป็น “เงินออม” ได้บ้าง

ค่าใช้จ่ายส่วนตัว : สมมุติเรียนจบปริญญาตรีเงินเดือนได้ 15,000 บาท เงิน 40% จำนวนประมาณ 6,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายใน 1 เดือน 30 วัน เราก็ต้องจัดการตัวเองให้ใช้เงินไม่เกินวันละ 200 บาท และหากเหลือก็เก็บออมไว้ ไปบวกกันวันถัดไป

เราต้องบังคับตัวเองฝึกให้มีวินัยในการใช้เงินเช่นนี้ทุกวัน เงินส่วนนี้หรือจะถูกกันไว้ไปรวมกับเงินฉุกเฉินในเดือนถัดไป..

การฝึกทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการสร้าง “เงินเก็บ” โดยทำบันทึก ทำรายรับรายจ่ายแบบง่ายๆ ก็พอ เงินที่ตั้งกรอบไว้ใช่ว่าเราจะต้องใช้จนหมดใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ทุกเดือนที่จ่ายหมั่นจดไว้เพื่อจะได้ทราบเงินแต่ละบาทที่หามาได้นั้นไปใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง มีเงินเข้าจากแหล่งไหนก็จดไว้ จดทุกบาทสุกสตางค์อย่าให้ตกหล่น เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยทำให้เราเห็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อว่าในครั้งหน้าจะได้ตัดรายจ่ายออกไป

ค่าใช้จ่ายส่วนหนี้ : หนี้สินในส่วนนี้ หมายรวมถึงรายจ่ายที่เราต้องจ่ายในเดือนหนึ่งๆ เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าผ่อนสินค้า ค่าผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ค่าบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น ในส่วนมัน คือ “หนี้สิน”

ต้องให้ความสำคัญเรื่องหนี้สินก่อนเป็นอันดับแรกๆ นั่นเป็นเพราะว่าถ้าไม่จ่ายแล้ว ดอกเบี้ยจะงอกเงยขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นดินพอกหางหมูอย่างหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น ค่าโทรศัพท์เดือนไหนไม่จ่ายจะถูกทวงเช้าทวงเย็น ค่าเช่าห้องก็เช่นกัน เราต้องอย่าเป็นคนเหนียวหนี้เด็ดขาด เมื่อรวมหนี้สินที่ต้องจ่ายทั้งหมดได้แล้ว ให้ทำหนี้สินมาเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยดูจากผลกระทบที่เกิดขึ้น รายการใดที่ก่อให้เกิดหนี้มูลค่าเพิ่มมากที่สุด อย่างเช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ ให้รีบเคลียร์หนี้รายการนั้นให้เร็วที่สุด

เงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน : หลายคนสงสัยว่าไม่มีส่วนของเงินเก็บแล้วจะสร้างเงินเก็บอย่างไร ในส่วนของที่สำรองเอาไว้ในยามฉุกเฉินนี้แหละ คือ ส่วนที่เป็นเงินเก็บ แต่ทว่าไม่แยกเป็นเงินเก็บสำรองเงินส่วนนี้เอาไว้ หากเกิดอะไรขึ้นกะทันหัน เราไม่มีเงินสดที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างทันท่วงทีโดยที่ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับส่วนของเงินเก็บ ซึ่งมักจะทำให้ “เงินเก็บ” กลายเป็น “เงินออม” ได้อย่างแท้จริง และก็ใช่ว่าเราจะมีเหตุฉุกเฉินกันทุกเดือน ซึ่งเมื่อจบแต่ละเดือน เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายส่วนตัว จะถูกยกไปรวมกับเงินสำรองที่ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินในเดือนต่อไป

ส่วนเงินที่สำรองเอาไว้ยามฉุกเฉินของเดือนนี้ก็จะถูกโอนเข้าเป็นเงินเก็บโดยอัตโนมัติ ทำให้เงินเก็บพอกพูนขึ้นในแต่ละเดือน..

เราจงภูมิใจเถอะว่า การที่เรามีแผนมีระบบมีวินัยการใช้เงินเก็บเล็กผสมน้อย เพื่อสร้างต้นทุนของตัวเอง มันย่อมดีกว่าคนอื่นๆ ที่ต้องไปกู้เงินเขามาเพื่อเป็นต้นทุนธุรกิจ เพราะไม่ต้องมาแบกรับภาระดอกเบี้ย ทำธุรกิจได้กำไรเป็นของเราทั้งหมด ไม่ต้องห่วงว่าเดือนนี้กิจการจะทำกำไรมากน้อยแค่ไหน จะพอใช้หนี้ที่กู้มาไหม เอาว่าแค่เราไม่ขาดทุนก็พอแล้ว แล้วเงินทุนที่ลงทุนไปเป็นเงินของเราที่เก็บออมมาทั้งสิ้น

การเริ่มลงทุนครั้งแรกควรเริ่มต้นด้วยเงินทุนของตนเอง จะเป็นการดีที่สุด เพราะพลาดพลั้ง เราจะได้บทเรียนไปใช้ในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และสิ่งที่จะทำให้เราเป็น “เศรษฐี” ได้เร็วกว่าคนอื่นนั้นมันขึ้นอยู่กับ เราจะหาช่องทางหารายได้มาน้อยแค่ไหน เพราะอาชีพเสริมไม่จำเป็นว่าจะต้องน้อยกว่ารายได้หลักเสมอไป อาจจะมีรายได้มากกว่าเงินเดือนหลักก็เป็นได้ หรือน้อยกว่าไม่เป็นไร เพราะประโยชน์หลักๆ ไม่ใช่สำหรับเพิ่มรายได้ แต่ใช้สำหรับฝึกการเป็นนักบริหารเงินที่ดีก่อนเท่านั้นเอง สอดคล้องกับทฤษฎีแห่งความร่ำรวย คือ รายรับมากกว่ารายจ่าย มีกำไรอีกด้วยเป็นใช้ได้ แม้กำไร 1 บาท ก็มีความสำคัญยิ่ง

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนว่าขอให้พวกเราเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า คนทุกคนสามารถร่ำรวยได้แม้จะต้องเริ่มต้นจาก “ศูนย์” จงให้กำลังใจตัวเอง ขอให้ขยันหมั่นเพียร เก็บเล็กผสมน้อย มีวินัยการใช้เงิน จงเชื่อมั่นในตัวเอง มั่นคงในเป้าหมาย แม้เราจะไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีสิทธิเป็นเศรษฐีสักหน่อย มันขึ้นอยู่กับ “ตัวเราเอง” ต่างหากนะครับ..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image