ข้อคิดเรื่องอุททิสมังสะ (3) ข้อคิดสำหรับศีลข้อหนึ่ง : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ข้อคิดเรื่องอุททิสมังสะ (3)
ข้อคิดสำหรับศีลข้อหนึ่ง : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ศีลข้อหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อมิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเจตนา มีแง่คิดบางประการที่ยังเป็นปัญหาโต้เถียงกันอยู่ คือควรกินเนื้อหรือกินผัก ท่านโลกนาถภิกขุชาวอิตาเลียนมีหลักประจำตัวว่า ภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาไม่ควรกินเนื้อสัตว์เลย โดยอ้างว่าเป็นการล่วงศีลข้อหนึ่ง โดยทางอ้อมและเป็นการเสียเมตตาไป เหมือนผู้ที่กินเจหรือกินมังสวิรัติ แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เคยรู้สึกหรือจะรู้สึก เพราะเราเชื่อด้วยเหตุผลตามพระโอวาทว่า ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นกรรมอันจะให้ผล ซึ่งเป็นหลักอันใครจะค้านมิได้ ผมยังมีความเห็นตรงในหลักนี้ทุกประการ แต่มีข้อคิดบางอย่าง ซึ่งเห็นว่าเราไม่ควรนิ่งกันอยู่ ควรเผยแพร่ให้รู้สึกไว้ทั่วกันเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรู้สึก

การทำให้สัตว์ตายโดยไม่มีเจตนานั้นไม่บาป เราเคยรังเกียจไหม ในความจริงประจำวันหนึ่งๆ คือ ทุกๆ ครั้งที่เราหายใจวิทยาศาสตร์บอกแก่เราว่า จุลินทรีย์อาจติดลมหายใจเข้าไปด้วยหลายพันตัวต่อหนึ่งครั้ง มันมีชีวิตอยู่ในอากาศ และมันเข้าไปตายในปอดของเรา โดยเราหายใจเข้าไป นี่บาปไหม? ถ้าบาป ก็อย่าหายใจเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ จำนวนหลาย-หลาย-ล้านล้านๆ ไว้ในชั่วชีวิตเราคนหนึ่งๆ ถ้ามิฉะนั้น จะเศร้าหมองใจคือบาป

เราเห็นว่าไม่บาป เพราะเราหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่หายใจเพื่อฆ่าตัวจุลินทรีย์เหล่านั้น หากเช่นนี้เป็นบาปแล้ว เราจะเคลื่อนไหวตัวมิได้เลย ใครจะนับได้ว่าเนื้อที่ที่ฝ่าเท้าเหยียบลงไป จะมีชีวิตซึ่งเรามองไม่เห็นอยู่กี่ชีวิต และมันก็เป็นความจริงว่ามี แต่ไม่ทราบว่ากี่ชีวิต เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าไม่บาปเพราะไม่มีเจตนา มิฉะนั้นแล้วเราไปไหนไม่ได้เลย จะทำงานเช่น ไถนา เผาไร่ ขุดสวน ก็ไม่ได้หมด เพราะรู้อยู่ชัดว่าสัตว์จะต้องตาย แต่เราทำได้โดยไม่บาปก็เพราะเราไม่มีเจตนามิใช่หรือ

Advertisement

ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ = “ข้าพเจ้าสมาทานบทแห่งสิกขา คือเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการทำสัตว์มี ปาณะ ให้ตกล่วง” นี่เป็นการแปลตรงตัวสิกขาบททุกตัวอักษร สัตว์มีปาณะคืออะไร? อะไรคือปาณะ?

ปาณะเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเรียกว่า ปราณ, ปราณคืออะไร ข้อนี้มีคำอธิบายมากเกินกว่าที่จะถกกันให้ละเอียดในที่นี้ จะกล่าวตามความเห็นของคนทั่วไปอย่างย่อๆ ตามหลักที่รับรองกัน ปราณคือชีวิตที่ละเอียดผสมอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นอยู่หมดปราณหรือวายปราณก็ตาย อรรถกถาแก้คำนี้ไว้ว่า ปาณํ ปรมตฺถโต ชีวิตินฺทริยํ = “กล่าวโดยปรมัตถ์ ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าปราณ” หรือจะกลับกันว่า ปราณคือชีวิตินทรีย์ก็ได้ ชีวิติ
นทรีย์ก็คือชีวิตหรือความเป็นอยู่ ในตัวสิกขาบท ก็ห้ามสิ่งที่มีปราณ (ไม่ได้บ่งว่าต้องมีวิญญาณด้วย), เพราะฉะนั้น การฆ่าสัตว์ที่มีปราณก็คือปาณาติบาต

ต้นไม้มีปราณไหม? ตัวจุลินทรีย์มีปราณไหม? ข้อนี้ออกจะพิสูจน์ยาก ถ้าต้นไม้มีปราณ การฆ่าต้นไม้ด้วยเจตนาก็บาปแน่ ภิกษุฆ่าต้นไม้ทรงปรับอาบัติเท่ากับฆ่าสัตว์ ถ้าทำลายพืชของต้นไม้ เช่น เมล็ดพันธุ์ผักที่ยังเพาะงอก ก็เป็นอาบัติรองลงมา นี่เพราะมันมีปราณหรือ?

Advertisement

กล่าวกันว่า ทรงบัญญัติข้อนี้เพราะเพื่ออนุโลมตามธรรมเนียมยุคพุทธกาล ส่วนผมยังไม่เคยพบพุทธาธิบายในเรื่องนี้ มีแต่มติส่วนตนว่า พระองค์ทรงเห็นว่า ต้นไม้มีชีวิต เมล็ดพืชก็มีชีวิต แต่ว่าเป็นชีวิตที่ต่ำเตี้ยลงมา ยังน้อยจนไม่ควรจะห้ามสำหรับฆราวาสผู้ยัง “หนา” อยู่ แต่มากพอที่จะบัญญัติห้ามสำหรับพวกที่ออกบวช หรือผู้ที่ “บาง” แล้ว จึงทรงบัญญัติว่า บาปเฉพาะภิกษุ ภิกษุใช้เขาถอนต้นไม้ หรือ “ฆ่า” ต้นไม้ บาปเท่ากับใช้ให้ฆ่าสัตว์ ภิกษุกินผักโดยเจตนา ก็ควรบาปหรือไม่บาปเท่ากับกินเนื้อสัตว์โดยเจตนา เพราะของสองสิ่งนี้ ทรงวางไว้สำหรับภิกษุโดยเสมอกัน การที่ภิกษุประกาศให้เขาฆ่าต้นไม้-ผัก เจาะจงตน ก็ควรเหมือนหรือเท่ากับการบอกให้เขาฆ่าสัตว์เจาะจงตน ชาวบ้านฆ่าผักหรือต้นไม้เจาะจงพระ ก็ต้องเท่ากับฆ่าสัตว์เจาะจงพระ สำหรับส่วนตัวพระ คือพระคงฉันไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ขอให้เข้าใจว่า พระยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่บาป ก็คือรับอาหารจากชาวบ้านมาตามแต่เขาจะให้อะไร และเป็นอาหารที่เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่าเจาะจงพระ เป็นอาหารบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น พระจึงไม่มีทางเลือก หรือจำกัดอาหารได้เลยเป็นอันขาด มันจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เมื่อเป็นอาหารที่กินได้สำหรับมนุษย์และไม่ผิดวินัย ก็รับมาฉันก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะเกิดบาปขึ้นโดยส่วนใดส่วนหนึ่งแน่นอน ในเมื่อบอกว่าต้องการผักหรือเนื้อ แล้วระบุให้เขาไปฆ่ามาให้ แต่อาจมีโอกาสในเมื่อมีผู้ฆ่าขายอยู่ตามธรรมดาทั้งผักและเนื้อ โดยไม่บาปหรืออาจบาปได้เท่ากัน โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเนื้อกับผักสำหรับพระ สำหรับกรณีที่บาป

ส่วนสำหรับชาวบ้านโดยเฉพาะนั้น ผิดกัน เพราะมีข้อยกเว้นเช่นเดียวกับสิกขาบทอื่นๆ เป็นอันมาก เนื่องจากอยู่ในชั้นที่ยัง “หนา” ดังว่ามาแล้ว เขาฆ่าต้นไม้ได้โดยไม่บาป เพราะศีลของเขาจำกัดความแค่นั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงฆ่าผักกินเองก็ได้ถวายพระด้วยก็ได้ แต่เขาจะฆ่าสัตว์กินเองไม่ได้ แม้จะถวายพระด้วยก็ตาม นี่เพราะสิกขาบทผิดกันในชื่อที่เรียกเหมือนกัน

นอกจากสิกขาบทปาณาติบาตนี่แล้ว ยังมีอีกหลายสิกขาบทที่จำกัดความสูงต่ำกว่ากัน เช่น น้ำเมา เป็นอจิตตกอาบัติสำหรับภิกษุดื่มทั้งไม่รู้ว่าเป็นน้ำเมา ก็เป็นอาบัติ, แต่อุบาสกไม่มีโทษ อุบาสกทำเมถุนกรรมได้โดยให้ถูกต้องตามประเพณี แต่ภิกษุเป็นทำไม่ได้เลยทุกประการ อุบาสกลักทรัพย์แล้วสมาทานศีลได้อีก, อวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ต่อศีลข้อสี่อีกได้ แต่ภิกษุลักทรัพย์เข้าขีด 5 มาสก หรืออวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ “ตาย” จากภิกษุเอาทีเดียว, เหล่านี้พอเป็นตัวอย่าง

รวมความว่า ภิกษุกับฆราวาสมีความหมายแห่งศีลต่างกันคนละขั้น โดยเฉพาะสำหรับสิกขาบทที่ 1 นี้ สรุปได้เป็นใจความว่า ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งสัตว์เป็นบาปเช่นเดียวกับฆราวาส ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งต้นไม้เป็นบาป แต่ไม่เช่นเดียวกับฆราวาสคือฆราวาสไม่บาป นี้หมายเฉพาะที่มีเจตนารู้อยู่ ถ้าไม่มีเจตนาแล้ว ไม่มีใครบาปเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image